ส่องพฤติกรรมผู้บริโภค "คนรุ่นใหม่" ปี 65 ควรหันมาจับการค้า-ธุรกิจ แบบไหน?

ส่องพฤติกรรมผู้บริโภค "คนรุ่นใหม่" ปี 65 ควรหันมาจับการค้า-ธุรกิจ แบบไหน?

ชวนหาคำตอบไปกับ เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ ปี65 นี้ มีลักษณะเป็นแบบไหน แล้วธุรกิจควรหันมาจับสิ่งใดถึงจะไปรอด?

เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคโดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” นับวันยิ่งมีความแปลกใหม่และเฉพาะทางมากขึ้น แบบที่ไม่เหมือนวิถีเก่าๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจวัตรหลายสิ่งต้องเปลี่ยนไป ทั้งการบริโภค จับจ่ายใช้สอย หรือใช้บริการต่างๆ 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้ ปี 65 นี้ พฤติกรรมผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ มีลักษณะเป็นแบบไหน แล้วไอเดียธุรกิจแบบใดที่จะเข้ามาตอบโจทย์ปัญหาในปีนี้? ตามไปดูกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

4 ลักษณะพฤติกรรมผู้บริโภค ปี 65 ที่น่าจับตา

จากที่ทุกคนต้องทำงานแบบ Work From Home เปลี่ยนมาเป็นแบบไฮบริด หรือช้อปปิ้งบนแพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากขึ้น และอยากมีตัวตนบนโลกเสมือนจริง มีรายงานที่น่าสนใจเรื่องเทรนด์โลก 2022: Ready Set Go จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ได้พูดถึง “ลักษณะพฤติกรรมผู้บริโภค ปี 2565” ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

  • ยังคงใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัว

ปีนี้ผู้บริโภคยังคงใช้ชีวิตท่ามกลางความหวาดกลัว หวาดระแวง และไม่พึงพอใจจากโรคระบาดที่ควบคุมไม่ได้เหมือนเดิม ทำให้ผู้คนอยากระเบิดอารมณ์เชิงลบลงโซเชียลมีเดียและชีวิตจริงโดยอัตโนมัติ  

โดยเหตุผลหลักมาจากการรับข้อมูลที่มีมากเกินไปและมีหลายช่องทาง จึงทำให้ผู้บริโภครู้สึกอ่อนไหว ไม่มั่นใจ รู้สึกไม่มั่นคงอยู่ตลอดเวลา ทั้งเรื่องการงาน การใช้ชีวิต และสุขภาพจิต ที่เห็นได้ชัดเจนสุดอาจเป็นอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นทั่วโลก

  • อยากมีตัวตนบนโลกเสมือน

พูดถึง “โลกเสมือนจริง” สิ่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับ “การสร้างตัวตน” อีกคนโดยในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา อัตราการการสร้างตัวตนใหม่อีกคนหนึ่งในโลกออนไลน์ได้เพิ่มขึ้นด้วย แต่ก็นับเป็นเรื่องดีเพราะช่วยสร้างมูลค่าการตลาดในหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น ทั้งแอพพลิเคชั่น ธุรกิจบันเทิง อีคอมเมิร์ซ เกม และแฟชั่น

โดยผู้บริโภคที่มีความต้องการเช่นนี้ หวังจะเห็นการควบรวมหลายๆ อย่างที่มาจากคนละระบบให้เป็นหนึ่งเดียว สามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ ทุกแพล็ตฟอร์ม และสามารถติดตามผลได้อย่างเรียลไทม์ด้วย

  • ต้องการปรับตัวเพื่อความสุข

เมื่อหลายสิ่งอย่างในสังคมควบคุมไม่ได้จนทำให้หลายคนสติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว สิ่งที่ต้องการนั่นก็คือ “ความมั่นคงทางอารมณ์” โดยพยายามปรับแนวคิดให้รู้ทันโลก  ไม่มองโลกในแง่ดีเกินไปจนเป็นพิษ และยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล

อีกทั้งสิ่งที่ผู้บริโภคมองหาเป็นปัจจัยหลักคือ “การยอมรับอัตลักษณ์อย่างที่เป็น” รวมถึงทัศนคติ ความคิด พื้นฐานต่างๆ ตามรูปแบบความจริงที่ไม่เหมือนกัน และหากว่าสามารถทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ และไม่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจด้วย จะยิ่งส่งผลบวกต่อการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในสังคมด้วย

  • ทำเพื่อส่วนรวมต้องมาก่อนส่วนตัว 

แม้ว่าความไม่แน่นอนในชีวิตจะเกิดขึ้นทุกวัน แต่การขับเคลื่อนหรือการพัฒนาเพื่อสังคม การริเริ่มโครงการเพื่อชุมชน หรือการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้ความเกิดยั่งยืนในพื้นที่นั้นๆ ในระยะยาว โดยการขับเคลื่อนสังคมต้องเป็นไปอย่างสนุกสนาน มีชีวิตชีวา คล่องแคล่ว และมีความสร้างสรรค์ควบคู่ไปด้วย 

 3 แนวการค้า-ธุรกิจ ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ปี 65

แม้การระบาดของโควิด-19 จะทำให้คนอยากหลีกหนีไปอยู่ในโลกเสมือน แต่บางคนก็พยายามจะบาลานซ์ตัวเองให้มีความสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ แล้วรูปแบบธุรกิจ การค้า โปรดักส์แบบไหนที่จะมาตอบโจทย์ผู้บริโภคกันแน่? ตามไปดูกัน

  • นวัตกรรมที่รู้เท่าทันอารมณ์ผู้ใช้งาน

สถานการณ์โควิดทำให้ผู้คนตึงเครียดมากขึ้นจากข่าวสารที่หลั่งไหลมาเต็มไปหมด  อารมณ์ของผู้คนจึงควบคุมได้ยาก การสร้างนวัตกรรมที่มีความฉลาดรู้ทางอารมณ์” จึงเป็นสิ่งที่น่าจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ดี

เช่น อุปกรณ์ที่มีการใช้ AI เพื่อวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ดังเช่น อารมณ์, ความรู้สึก, ความเข้าใจ, น้ำเสียง, การใช้ภาษาอีโมจิ, รวมไปถึงการโพสต์ภาพ-วิดีโอของผู้ใช้งาน ณ ขณะนั้นด้วย เพื่อปรับมู้ดของผู้บริโภคให้ดีขึ้น สามารถสื่อสารกลับได้อย่างเข้าอกเข้าใจ ไม่เกิดข้อขัดแย้ง และช่วยบรรเทาความตึงเครียดของผู้ใช้งานได้ด้วย

  • ธุรกิจที่ให้ประสบการณ์บนพื้นที่โลกเสมือนได้ดี

ถ้าเป็นช่วง 3-5 ปีก่อน บริการส่งอาหาร-เครื่องดื่มอาจเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมาก แต่ตอนนี้เราอาจต้องให้ความสำคัญกับ “พื้นที่โลกเสมือน” มากขึ้น เพราะผู้บริโภคหวังจะเห็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่ให้ประสบการณ์แบบที่สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทางด้านกายภาพได้ โดยเหตุผลสำคัญมาจากการที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม 

การได้รับประสบการณ์ที่พึงพอใจในโลกเสมือนที่ครอบคลุมหลายอย่างมากขึ้น เช่น ด้านการชิมอาหาร เครื่องดื่ม การตัดเย็บเสื้อผ้า ประสบการณ์การแข่งกีฬา ซึ่ง AI จะเป็นผู้ช่วยในการตัดสินใจเลือกให้ตรงกับรสนิยมหรือจริตของผู้บริโภค 

  • ธุรกิจที่สามารถช่วยทำหน้าที่แทนได้

แม้งานหรือธุระหลายอย่างในทุกวันนี้อาจจะทำบนออนไลน์ คลาวด์ เกม หรือโลกเสมือนจริงได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ายังมีโลกแห่งความจริงหลงเหลืออยู่ ซึ่งสิ่งที่ต้องทำอาจเป็น การทำความสะอาดที่อยู่อาศัย การพบปะกับคนตัวจริง การก่อสร้าง-ปรับปรุงสถานที่ เป็นต้น

อ้างอิง: CEA