อาร์เอส ปั้นป็อปคอยน์ ลุยเกมใหญ่ต่อยอดเอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ
“อาร์เอส” ยังคงเดินหน้าต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ “เอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ” เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเมื่อใดที่เห็นโมเดลธุรกิจยังมี “ช่องโหว่” หรือจุดอ่อน ต้องหาทางกำจัด แปรเปลี่ยนให้เป็น “จุดแข็ง”
ต้นปี 2564 อาร์เอส ควักเงิน 13 ล้านบาท ซื้อหุ้น 70% ของโฟร์ท แอปเปิ้ล สานภารกิจการเป็นแพลตฟอร์มการตลาดสำหรับทุกคน และมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการทำธุรกิจของเครือและพันธมิตร คู่แข่งที่แปลงเป็นคู่ค้าด้วย ซึ่งหนึ่งในไฮไลท์สำคัญคือการออกโทเคน “ป็อปคอยน์”(Popcoin)เพื่อเป็นแพลตฟอร์มคอมมูนิตี้ช่วย “ลดรอยต่อ” ทางธุรกิจ รวมถึงเก็บเกี่ยวและใช้บิ๊กดาต้าร่วมกับทุกพาร์ทเนอร์ในอีโคซิสเทม
เหรียญป็อปคอยน์เปิดตัวไปเดือนพฤศจิกายน มีผู้สนใจลงทะเบียนเป็นป็อปสเตอร์แล้ว 500,000 ราย สิ้นเดือนกุมภาพันธ์คาดแตะ 1,000,000 ราย
“ป็อปคอยน์ คือย่างก้าวสำคัญของอาร์เอสในการยกระดับธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมิร์ซให้มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เป็นเพียงดิจิทัลโทเคน แต่คือสมาร์ทมาร์เก็ตติ้ง แพลตฟอร์ม” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)ย้ำเป้าหมายของป็อปคอยน์
สำหรับบทบาทสำคัญของป็อปคอยน์ จะนำไปเอื้อธุรกิจ 2 ด้าน ได้แก่ 1.การทำให้ลดรอยต่อ(Seamless)ของบิ๊กดาต้า ที่อาร์เอสมีฐานข้อมูลลูกค้าอยู่มหาศาลจากแต่ละธุรกิจทั้งอารืเอสมอลล์ ไลฟ์สตาร์ ทีวีดิจิทัล ช่อง 8 ธุรกิจวิทยุ ฯ และ2.จะต่อยอดในการลดรอยต่อการสร้างประสบการณ์ของลูกค้าในกรซื้อสินค้าและบริการ เพื่อทำให้เกิดความประทับใจ ส่งผลที่ดีต่อแบรนด์ ทำให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโมเดลเอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ หากแกร่งขึ้น มีศักยภาพมากขึ้น จะพร้อมแบ่งปันโมเดลดังกล่าวให้กับพันธมิตรได้มาร่วมทำการตลาดผ่านป๊อปคอยน์มากขึ้นด้วย
“เกมนี้เป็นเกมใหญ่ เพราะเราทุ่มสุดตัวให้ธุรกิจแจ้งเกิด เราวางแผน กำหนดกลยุทธ์ให้ทุกส่วนทำงานเต็มที่ ดีไซน์รูปแบบโมเดลธุรกิจเพื่อเปิดกว้างให้พันธมิตรเข้าร่วมเอ็นจอยกับป็อปคอยน์ เตรียมคอนเทนท์ กิจกรรมให้ผู้บริโภคหรือป็อปสเตอร์ที่ถือเหรียญป๊อปคอยน์ให้เข้ามาสนใจ ทั้งหมดเพื่อผลักดันสู่เป้าหมายทางธุรกิจให้ประสบความสำเร็จง่ายขึ้น ดีขึ้นและเร็วขึ้น”
ฐณณ ธนกรประภา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ บริษัท โฟร์ท แอปเปิ้ล จำกัด ย้ำว่า กิจกรรมที่เป็นกระแส ความนิยม ไลฟ์สไตล์ที่ผู้บริโภคชื่นชอบต่างๆ จะถูกนำมาอยู่ในอีโคซิสเทมของป็อปคอยน์ เพื่อทำให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ทุกเพศ ทุกวัยสามารถเป็นเจ้าของได้
ทั้งนี้ ผู้ที่ครอบครองป็อปคอยน์โทเคนสามารถนำไปใช้ในแพลตฟอร์มได้ 3 อย่าง ได้แก่ 1.นำไปแลกสินค้าและบริการหรือ Redeem ซึ่งของเหล่านั้นจะเป็นของหายาก มีมูลค่า หรือบาางครั้งประเมินมูลค่าไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคอยากเป็นเจ้าของแน่นอน 2.นำป็อปคอยน์ไปฝากเพื่อรับผลตอบแทน ซึ่งมาจากเหรียญดังกล่าวที่ถูกนำไปแลกสินค้าและบริการ จะถูกหักค่าธรรมเนียม 5% เพื่อคืนให้กับผู้ฝากเหรียญนั่นเอง และ3.การแลกเปลี่ยนเป็นเงินตามมูลค่าที่เกิดขึ้นตามกลไกความต้องการซื้อขายในตลาดหรือดีมานด์-ซัพพลาย
โจทย์ใหญ่ของการปลดล็อคคุณค่าธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมิร์ซครั้งนี้ คือการขจัดตัวกลางในการทำสื่อสารตลาด ซึ่งหากนับเม็ดเงินโฆษณาที่เกิดบนสื่อทีวี ออนไลน์ แพลตฟอร์มต่างๆ สะพัดถึงหลัก “แสนล้านบาท” อาร์เอส จึงอ้าแขนรับทุกพันธมิตรให้เข้ามาใช้ป็อปคอยน์เป็นแพลตฟอร์มการทำตลาดเพื่อเข้าถึงลูกค้าโดยตรงมากขึ้น
ป็อปคอยน์ ตั้งราคาไว้ที่ 15-20 สตางค์ต่อโทเคน หากเทียบกับการซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊คจะมีต้นทุนต่ำกว่า 50% โดยป็อปคอยน์ที่จะออกมีจำนวน 10,000 ล้านโทเคน ภายใน 4 ปี หรือทยอยออกปีละ 2,5000 โทเคน
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ที่จะทำให้ป๊อปคอยน์ได้รับความนิยมในวงกว้างเร็ว อาร์เอส จัดอาวุธครบมือ ระดมคอนเทนท์มากมายดึงดูดสาวกนักลงทุน แบรนด์ และผู้บริโภค เช่น การจัดแข่งขันขายอาหารผ่านรายการ Food Truck Battle ทุ่มทุนดึงศิลปินเกาหลี เช่น มาร์ก ต้วน(Mark Tuan)แห่งวง GOT7 มาร่วมกิจกรรม และยังผนึก “แบมแบม GOT7” มาทำเซ็ทอัลบั้มรูปภาพสุดเอ็กซ์คลูสีฟ และแฟนมีทเพื่อเอาใจสาวก K-pop รวมถึงการเตรียมผนึกกับไลฟ์ เนชั่น บีอีซี- เทโร ที่จัดคอนเสิร์ตระดับโลก เขย่าตลาดด้วย
นอกจากนี้ จะทำกิจกรรมร่วมกับคณะหมอลำเสียงอิสาน ร้านคานิวัล แบรนด์สตรีทแฟชั่น Bhouse Studio ที่บริหารจัดการศิลปินเกาหลีใต้ สบาย เทคโนโลยี และบริษัทในเครืออาร์เอส ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ป็อปคอยน์วงกว้าง สร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆให้แบรนด์สินค้าและบริการต่างๆมากขึ้นด้วย
“ต่อไปการโฆษณาจะไม่ใช่การยัดเยียดแบบเดิมๆ หรือเป็นกลยุทธ์ที่ Push มาตลอด แต่จะเป็นการ Pull มากขึ้น และเราจะเปลี่ยนการใช้งบตรงนั้นเป็นรางวัลเพื่อสร้างประสบการณ์ตอบโจทย์ความต้องกาารของผู้บริโภคโดยตรง ทำให้การใช้เงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น”