ตลท.กางแผน 3 ปี เชื่อมโยงตลาดทุนต่างประเทศ-โลกดิจิทัล
ตลาดหลักทรัพย์ฯ กางแผน 3 ปี (65-67) เดินหน้าด้วย 3 กลยุทธ์ “เชื่อมโยงโอกาส-พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-ส่งเสริมความยั่งยืน” ปักหมุดให้บริการ LiVE Exchange เปิดช่องเอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพระดมทุนไตรมาส 1 ปี 65 พร้อมออกโปรดักท์ใหม่เชื่อมโยงลงทุนต่างประเทศ-เจาะนักลงทุนรุ่นใหม่
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท. วางกลยุทธ์ในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ (2565-2567) ภายใต้แนวคิด “เชื่อมโยงตลาดทุน มุ่งสร้างโอกาสใหม่” โดยมีเป้าหมายเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างโลกปัจจุบันเข้ากับโลกอนาคตเพื่อตอบโจทย์การเป็นแหล่งรวมการลงทุนของประเทศ รวมถึงเป้าหมายด้านสังคมในการส่งเสริมทักษะทางการเงินของคนไทยและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม
โดยแผนการดำเนินงานดังกล่าวจะทำผ่านกลยุทธ์ 3 ด้าน ได้แก่ 1. เชื่อมโยงโอกาสทุกภาคส่วน ในส่วนของผู้ระดมทุน ตลท. ปรับปรุงกฎเกณฑ์การเสนอขายหุ้นจดทะเบียนใหม่แก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น ทั้งการปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนการระดมทุนของบริษัทที่มีศักยภาพและการเติบโตสูง (New Economy)
รวมถึงการพัฒนา “ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กเชนจ์” (LiVE Exchange) เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนแก่ธุรกิจเพื่อสังคม (SE) ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสตาร์ทอัพ ควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสม โดยคาดว่าจะพร้อมเปิดให้ซื้อขายภายในไตรมาส 1 ปี 2565
ในส่วนของผู้ลงทุน ตลท. เดินหน้าพัฒนาตลาดทุนให้เข้าถึงง่ายและเชื่อมโยงโอกาสลงทุนไปยังต่างประเทศผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) กองทุนรวมดัชนี (ETF) และตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR) ล่าสุดในช่วงสัปดาห์หน้า (17-21 ม.ค.) ตลท. เตรียมเสนอขาย IPO กองทุน ETF อ้างอิงหุ้นต่างประเทศที่อยู่ในธีมเมกะเทรนด์โลก (Themetic ETF) ซึ่งจะเป็นกองแรกในตลาดหลักทรัพย์ไทย
นอกจากนี้ ตลท. มีแผนออกผลิตภัณฑ์ซื้อขายเศษส่วน (Fractional Product) ซึ่งผู้ลงทุนสามารถซื้อขายหุ้นที่มีราคาสูงในสัดส่วนและจำนวนเงินที่ต้องการได้ ตอบโจทย์พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่มีมูลค่าการลงทุนครั้งละไม่มาก ในทางกลับกัน ตลท. มีแผนเชื่อมโยงการลงทุนต่างประเทศผ่านการนำหุ้นไทยออกไปเสนอขายเป็นผลิตภัณฑ์ DR ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศด้วย
2. พัฒนานวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกคนไว้วางใจ โดยตั้งเป้าหมายยกระดับการเปิดเผยข้อมูลในตลาดทุนให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปใช้ต่อได้ง่ายขึ้น (Smart Data) โดยเฉพาะข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย” (TDX) เพื่อเชื่อมต่อการซื้อขายจากสินทรัพย์ทรัพย์ปัจจุบันไปยังสินทรัพย์ดิจิทัล
3. ส่งเสริมความยั่งยืนด้านการเงินเพื่อคนไทย โดยมองว่าการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ทวีความสำคัญอย่างมากในช่วงที่ประชาชนเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งความรู้ด้านการออมเงิน หรือความรู้ด้านการจัดการหนี้สิน เป็นต้น นอกจากนี้ ตลท. ยังเดินหน้าสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นด้าน ESG ทั้งแก่ประชาชนในวงกว้างและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)
“เรามีเป้าหมายพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นตลาดทุนที่บริษัทขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคหรือระดับโลก หรือแม้แต่สตาร์ทอัพก็สามารถเข้ามาระดมทุนได้ รวมถึงขยายสินทรัพย์ลงทุนไปยังผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งรวมไปถึงการสนับสนุนการระดมทุนของสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น โทเคนเพื่อการลงทุน เป็นต้น โดยไม่ลืมประเด็นด้านสังคมที่เราทำได้ดีมาตลอดในส่วนของ ESG แต่การจะทำให้ตลาดทุนไทยเดินต่อไปข้างหน้าได้จะต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นด้านความยั่งยืนให้มากขึ้น”
เมื่อสอบถามถึงเป้าหมายด้านการเป็นแหล่งระดมทุนให้แก่ธุรกิจ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2562-2564) การระดมทุน IPO ค่อนข้างคึกคัก โดยข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นปี 2564 มูลค่าระดมทุน IPO อยู่ที่ 4.5 แสนล้านบาท ขณะที่ปี 2565 คาดว่ามูลค่าระดมทุน IPO จะใกล้เคียงกับในอดีตช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับการอนุมัติขาย IPO จาก ก.ล.ต.แล้วจำนวน 7 บริษัท และยังมีราว 20 บริษัทในไปป์ไลน์ที่อยู่ระหว่างรับคำปรึกษา