เปิดโรดแมป "บ้านปู" บนยุทธศาสตร์ Greener & Smarter ตอกย้ำฐานะ "ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ"
"บ้านปู" ประกาศยุทธศาสตร์ Banpu Transformation สำหรับปี 2564 – 2568 พร้อมต่อยอดกลยุทธ์ Greener & Smarter ด้วยการขยายพอร์ตเพิ่มน้ำหนัก “พลังงานสะอาด” และพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานที่สอดรับกับเทรนด์พลังงานโลก เตรียมปักธงในฐานะ “ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายระดับนานาชาติ”
เมื่อเทรนด์โลกนับจากนี้มี “ความยั่งยืน” เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ตั้งแต่รูปแบบการดำเนินชีวิตไปจนถึงเทรนด์การทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ในทุกๆ อุตสาหกรรมทั้งเล็กใหญ่ เช่นเดียวกันกับกลุ่มอุตสาหกรรม “พลังงาน” โดยผู้เล่นรายสำคัญของไทยอย่าง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศยุทธศาสตร์ในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ (Banpu Transformation) ด้วยแผนธุรกิจ 5 ปี ฉบับใหม่ สำหรับปี 2564 – 2568 พร้อมต่อยอดกลยุทธ์ Greener & Smarter ด้วยการขยายพอร์ตเพิ่มน้ำหนัก “พลังงานสะอาด” และพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานที่สอดรับกับเทรนด์พลังงานโลก โดยวางเป้าหมาย EBITDA ที่มีสัดส่วนของธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้นและเทคโนโลยีพลังงานมากกว่า 50% ในปี 2568 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อปักธงในฐานะ “ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายระดับนานาชาติ” (International Versatile Energy Provider) ซึ่งปัจจุบัน บ้านปูมีธุรกิจที่ครอบคลุม 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงสหรัฐอเมริกา
เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย “บ้านปู” จึงเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านซึ่งประกอบด้วย 3 แกนหลัก ได้แก่ 1) การเร่งขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้น (Acceleration) ใน 4 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจเหมือง ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน 2) การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและวงจรเศรษฐกิจโลก (Antifragile) ผ่านพอร์ตโซลูชันด้านพลังงานที่ครบวงจร โดยกระจายความเสี่ยง และคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และ 3) การต่อยอดระบบนิเวศทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปูและความเชี่ยวชาญในด้านพลังงาน (Augmentation) เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ในการสร้างกระแสเงินสด
ในปี 2564 บ้านปูได้กำหนดนโยบายที่จะลงทุนในธุรกิจที่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที โดยที่ผ่านมา บ้านปูได้ประกาศความสำเร็จจากการลงทุนเพื่อขยายสัดส่วนของพลังงานที่สะอาดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso) IGCC
อาทิ การเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เคเซนนูมะ (Kesennuma) กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso) IGCC ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) กำลังการผลิต 543 เมกะวัตต์ ในประเทศญี่ปุ่น , ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่ง ในประเทศออสเตรเลีย มีกำลังการผลิตรวม 166.8 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในออสเตรเลีย
ทั้งยังได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังการผลิต 768 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยผสมผสานกระบวนการทำงานของกังหันก๊าซ (Gas Turbine) กับกังหันไอน้ำ (Steam Turbine) เข้าไว้ด้วยกัน
โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
รวมถึงการเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ฮาติ๋ญ (Ha Tinh) ในเวียดนาม กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ โดยได้ลงนามในสัญญาซื้อขายเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และคาดว่ากระบวนการซื้อขายจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2565
นอกจากนี้ ยังมีกำลังผลิตพลังงานสะอาดภายใต้การดำเนินงานของ บ้านปู เน็กซ์ รวม 1,128 เมกะวัตต์ ทั้งจากโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด (แสงอาทิตย์และลม) 878 เมกะวัตต์ และจากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และโซลาร์ลอยน้ำ 250 เมกะวัตต์
ปัจจุบัน พอร์ตฟอลิโอ "พลังงานสะอาด" ของบ้านปู คิดเป็นสัดส่วน 25.5% ของกำลังผลิตพลังงานรวมที่ 4,423 เมกะวัตต์ และยังคงเดินหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดิมที่จะเพิ่มกำลังผลิตพลังงานสะอาดให้ถึง 1,600 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตพลังงานรวม 6,100 เมกะวัตต์ ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า
การขยายการลงทุนในต่างประเทศของบ้านปูนั้น เดินไปพร้อมๆ กับแผนการสร้าง New S-Curve ให้กลุ่มบริษัทฯ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีความเคลื่อนไหวไปบ้างแล้ว อาทิ การขยาย ecosystem ของบ้านปู เน็กซ์ และการลงทุนในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานอย่าง โครงการภูเก็ตสมาร์ทซิตี้เฟส 1 ที่เข้าไปติดตั้งระบบความปลอดภัยโดยใช้เทคโนโลยี AI ระบบปฎิบัติการแบบ IoT ระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในพื้นที่เป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาความปลอดภัยในพื้นที่และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วยการเชื่อมต่อระบบปฏิบัติการต่างๆ เข้าด้วยกัน
นอกจากนี้ก็ได้ลงทุนใน อีโวลท์ เทคโนโลยี (Evolt Technology) เสริมสร้างการให้บริการแพลตฟอร์ม E-Mobility ที่ครบวงจรและครอบคลุมยิ่งขึ้น ตอบรับเทรนด์ Sharing Economy ทั้งการบริการ Ride Sharing และ Mobility Sharing การบริหารจัดการยานพาหนะไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Fleet & Charger Management) รวมถึงบริการหลังการขาย เพื่อให้องค์กรธุรกิจเข้าถึงการใช้ยานพาหนะไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น
รวมถึงการเข้าซื้อกิจการ บริษัท เอ็นจี เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด (ESTH) เพื่อขยายบริการระบบบริหารจัดการพลังงานของ บ้านปู เน็กซ์ (Energy Management System หรือ EMS) และอีโคซิสเต็มโซลูชันพลังงานฉลาด (Smart Energy Solutions) เต็มรูปแบบ
นอกจากการเร่งขยายพอร์ตธุรกิจให้มีสัดส่วนพลังงานที่สะอาดขึ้นและการสร้างระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีพลังงานแล้ว บ้านปูยังมีการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) โดยปรับวิธีการทำงานให้ตอบรับกับโลกยุคสมัยใหม่ที่รวดเร็วและคล่องตัว (Agile Working) มากขึ้น พร้อมเสริมความแกร่งให้องค์กรมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และแนวคิดแบบดิจิทัล รวมถึงพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่พนักงานทั้งการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็น (Reskill) และการยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น (Upskill) เพื่อนำกระบวนการทางดิจิทัลมาพัฒนาองค์กรให้เติบโตรุดหน้า และตอบสนองต่อทิศทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปูได้ดีที่สุด
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงความสำเร็จส่วนหนึ่งของการสร้างความเติบโตในธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้นตามแผนกลยุทธ์ Greener & Smarter ของกลุ่มบ้านปู และในทุกๆ ย่างก้าวของการขับเคลื่อนธุรกิจ บ้านปูยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจบนหลัก ESG (Environmental, Social and Governance) โดยล่าสุดได้จัดตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ อย่างเป็นทางการ เพื่อกำกับดูแลและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้าน ESG โดยสอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลก 3Ds ประกอบไปด้วยการกระจายตัวของแหล่งผลิตและจำหน่ายพลังงาน การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลบริหารจัดการระบบพลังงาน เพื่อสร้างความสมดุลให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตไปควบคู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ไปพร้อมๆ กับการดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม ให้สามารถเดินไปพร้อมกันได้