ดีเดย์ค่าเหยียบแผ่นดิน 1 เม.ย.65 ท่องเที่ยวฯคาดปีแรกสะพัด 1.5 พันล้าน
ท่องเที่ยวฯ เลื่อนเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” นักท่องเที่ยวต่างชาติ ดีเดย์ 1 เม.ย.นี้ ประเมินปีแรกคาดจัดเก็บได้ 1.5 พันล้าน จากทัวริสต์ 5 ล้านคน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า วันที่ 1 เม.ย.2565 ประเทศไทยจะเริ่มเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยคนละ 300 บาท หรือเรียกกันว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” เบื้องต้นประเมินว่าหากปีนี้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามา 5 ล้านคน จะจัดเก็บเงินได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยจะนำเงินก้อนนี้ไปใส่ในกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2562 ฉบับปรับปรุง และเมื่อได้เก็บมาแล้ว ทางสำนักปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯจะรับผิดชอบดูแลนำไปพัฒนาภารกิจเร่งด่วนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่อไป
“เงินที่เก็บจากนักท่องเที่ยวคนละ 300 บาท จะดึงออกมา 50 บาทเพื่อนำไปซื้อประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยว ในปีแรกอาจจะเหลือเงินใส่เข้ากองทุนนี้ 1,250 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะการสร้างทางขึ้นลงสำหรับคนพิการในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และสร้างห้องน้ำสำหรับนักท่องเที่ยวให้เหมือนห้องน้ำของประเทศญี่ปุ่นที่สะอาดและดีมาก ซึ่งจะต้องให้ท้องถิ่นเข้ามาร่วมลงทุนตรงนี้เพื่อให้บริหารและดูแลต่อเนื่อง”
สำหรับการจัดเก็บเงินเข้าประเทศจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคนละ 300 บาทนั้น เดิมกำหนดไว้ว่าจะเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 แต่ต้องเลื่อนออกไปก่อน หลังได้หารือกับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ถึงปัญหาเรื่องการจัดเก็บเงินที่ทาง IATA ระบุว่าต้องจัดเก็บกับทุกคนทั้งคนไทยและต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย ซึ่งการเก็บเงินคนไทยด้วยนั้นขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทย จึงได้เปลี่ยนมาประสานกับทางสายการบินให้จัดเก็บเงินนี้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้นแทน และจะคิดรวมอยู่กับราคาตั๋วเครื่องบินเลย
โดย กระทรวงคมนาคมกำลังเจรจากับสายการบินเกือบครบทุกสายการบินแล้ว คาดว่าเดือน มี.ค.นี้จะเสร็จสิ้น ขณะที่การเดินทางเข้าประเทศไทยทางบกจะมีการพัฒนาแอพพลิเคชันให้นักท่องเที่ยวจ่ายเงินก่อนเดินทางเข้ามาและให้แสดงหลักฐานก่อนเข้าประเทศว่าได้จ่ายเงินแล้ว
“ปัจจุบันหลายๆ ประเทศได้มีการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินเกือบหมดแล้ว ทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น มาเลเซีย โดยส่วนใหญ่จะรวมอยู่ในราคาตั๋วเครื่องบิน หรือราคาห้องพัก”
ส่วนข้อเสนอของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้จัดเก็บเพิ่มอีก 200 บาท รวมเป็นคนละ 500 บาท เพื่อนำเงินไปดำเนินการปรับโครงสร้างท่องเที่ยวนั้น ได้หารือกับ ททท.แล้วว่าเรื่องนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ให้ดำเนินการเรื่องนี้ ระบุว่าอัตรา 300 บาทต่อคนเป็นอัตราที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ททท.สามารถเสนอโครงการมาขอใช้เงินในกองทุนนี้ได้เช่นกัน