"คริปโทเคอร์เรนซี" คืออะไร ทำความเข้าใจคริปโทฯ แบบเร่งด่วนใน 5 ข้อ
สรุป 5 ข้อสำคัญ ช่วยทำความรู้จัก "คริปโทเคอร์เรนซี" หรือที่เรียกกันติดปากว่า "คริปโทฯ" คืออะไร มีแบบไหนบ้าง มีประโยชน์อย่างไร ?
ประเด็นร้อนในแวดวงการเงินการลงทุนคือเรื่อง “เก็บภาษีคริปโทฯ” ที่กรมสรรพากรออกกฎเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีจากนักลงทุน “คริปโทเคอร์เรนซี” ที่หลายส่วนที่เกี่ยวข้องมองว่ายังไม่เหมาะสม ซึ่งบทสรุปของเครื่องนี้ กรมสรรพากรจะหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกเรื่องนี้ร่วมกัน
พอพูดถึงเรื่องภาษี หลายคนที่ยังไม่คุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า “คริปโทฯ” หรือ “คริปโตฯ” อาจจะยังสงสัยว่า ทำไมกรมสรรพากรถึงหันมาสนใจที่จะเก็บภาษีจากสิ่งเหล่านี้ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงพาไปทำความรู้จักคริปโทฯ เบื้องต้น โดยสรุปเป็น 5 ข้อสำคัญ ดังนี้
1. คริปโทฯ คืออะไร ?
"คริปโทเคอร์เรนซี" (Cryptocurrency) คือ หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ หรือแลกเปลี่ยนกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้หากผู้ใช้ยอมรับระหว่างกัน
ปัจจุบัน คริปโทเคอร์เรนซียังไม่ถือว่าเป็น "เงิน" ที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ในโลกรับรองว่าสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (legal tender) มีเพียงเอลซัลวาดอร์ที่ยอมรับบิตคอยน์เป็นสกุลเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย) อย่างไรก็ตามคริปโทฯ หลากหลายสกุลกลับได้รับความนิยมในกลุ่มของผู้ที่เชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของโลกอนาคตหรือมีบทบาทสำคัญในโลกการเงินการลงทุนในอนาคต โดยคริปโทฯ ที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น Bitcoin Ethereum เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
2. คุณสมบัติเบื้องต้นของคริปโทฯ
คริปโทเคอร์เรนซีเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง มีการเข้ารหัสวิ่งอยู่บนระบบที่เรียกว่า “บล็อกเชน” มีราคาในการซื้อขายแปรผันตามกลไกตลาดและความต้องการซื้อขาย
คริปโทฯ จึงสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าแบบดิจิทัลได้ ไม่ได้มีลักษณะทางกายภาพเหมือน สกุลเงินทั่วไป (Fiat Currency) ของแต่ละประเทศที่มีการตีพิมพ์ธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ออกมา
3. บล็อกเชน เกี่ยวอะไรกับ "คริปโทฯ" ?
ทุกครั้งที่พูดถึงคริปโทฯ มักจะมีคำว่า "บล็อกเชน" (Blockchain) ตามมาด้วยแทบทุกคน ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า บล็อกเชนไม่ใช่คริปโทฯ แต่บล็อกเชนเป็นระบบที่คริปโทฯ ทำงานอยู่
บล็อกเชน เป็นเครือข่ายการเก็บข้อมูลแบบหนึ่ง ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลชุดเดียวกัน โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บอยู่ในแต่ละบล็อก (Block) ที่เชื่อมโยงกันบนเครือข่ายเหมือนกับห่วงโซ่ (Chain) นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้เราเรียกรูปแบบการเก็บและแชร์ข้อมูลแบบนี้ว่า Blockchain
จุดเด่นสำคัญของบล็อกเชน คือ ความโปร่งใสและแก้ไขข้อมูลได้ยาก เช่น เมื่อมีธุรกรรมต่างๆ เกิดขึ้นจะถูกบันทึกในบล็อกเหล่านี้แล้ว คนใดคนหนึ่งจะไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ ได้สำเร็จ เพราะทุกคนต่างก็มีสำเนาหรือประวัติการทำธุรกรรมทั้งหมดอยู่กับตัว จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่ใครจะมาปลอมแปลงข้อมูลในบล็อกเชนได้ง่ายๆ โดยปราศจากการรับรู้จากผู้คนส่วนใหญ่ (51% ขึ้นไปของผู้ที่อยู่ในระบบทั้งหมด)
พอพูดถึงคริปโทฯ 2 คำที่ตามมาคือ เหรียญ และ โทเคน ซึ่งความเป็นจริงแล้ว 2 คำแตกต่างกัน เพราะ เหรียญ (Coin) กับ โทเคน (Token) คือคนละส่วน และทำงานต่างกันด้วย
4. คริปโทฯ ที่เป็น "เหรียญ" (Coin) คืออะไร ?
เหรียญ หรือ คอยน์ คือสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเครือข่ายบล็อกเชนของตนเอง มักมีบทบาทเปรียบเสมือนเงินที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน แต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล และมีโปรเจคเพื่อพัฒนาเครือข่ายของในอนาคต
เหรียญแต่ละเหรียญจะแตกต่างกันในแง่ของขนาดเครือข่าย ปริมาณเหรียญ ประสิทธิภาพการทำงาน ยกตัวอย่างเหรียญ เช่น Bitcoin (BTC), Ethereum (ETH), และ Dogecoin (DOGE) ฯลฯ
หน้าที่ของเหรียญ มีวัตถุประสงค์ในการใช้คล้ายกับ เงินจากโลกจริง (Physical coin) ส่วนมากถูกใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่างๆ ขณะที่ราคาของเหรียญมักจะผันผวนตามความต้องการและปริมาณเหรียญในตลาด
5. คริปโทฯ ที่เป็น "โทเคน" (Token) คืออะไร ?
โทเคน คือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่สร้างขึ้นมาบนเครือข่ายบล็อกเชนอื่นๆ อีกทอดหนึ่ง ไม่มีเครือข่ายเป็นของตัวเอง ซึ่งมีฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป โดยโทเคน (Token) ถูกสร้างขึ้นมาโดยการเขียน สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) เพื่สร้าง dApps (Decentralized Application) หรือ DeFi (Dencetralized Finance) ซึ่งผู้สร้างสามารถเลือกเครือข่ายบล็อกเชนในการสร้างได้ด้วยตนเอง อาทิ Ethereum หรือ Binance Smart Chain เป็นต้น
หน้าที่ของโทเคน คือเอาไว้ใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้เหมือนกับเหรียญ แต่จะมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตามที่ถูกสร้างขึ้นมา โดยสามารถแบ่งออกได้หลายรูปแบบ
5.1 Utility token
Utility token คือโทเคนที่ใช้ในลักษณะใช้ในระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ เอาไว้ใช้เฉพาะที่ที่ถูกกำหนด คล้ายกับคูปองอาหาร ที่ต้องแลกใช้ในที่ที่กำหนดเท่านั้น
5.2 Investment Token
Investment Token เป็นโทเคนคล้ายกับหน่วยลงทุนแล้วก็จะมีการแสดงสิทธิ์ที่จะได้รับมาหรือมีกำไรเกิดขึ้น มีผลตอบแทนส่งกลับมาให้กับคนที่ถือเหรียญ ซึ่งรายละเอียดการลงทุนจะต้องศึกษาจาก Whitepaper ให้เข้าใจก่อน ว่าโทเคนนั้นทำหน้าที่อย่างไร
ซึ่งบางเหรียญถูกออกแบบให้เป็นทั้ง Utility token และ Investment Token ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งสองอย่าง
5.3 Security Token
Security Token คือการนำของที่มีอยู่ในโลกความเป็นจริงมาเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบของโทเคน หรือที่เรียกว่าการ Tokenize ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น หรือใช้เงินเริ่มต้นน้อยลง เช่น อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
5.4 NFT (Non-Fungible Token)
"NFT" คือ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง อยู่ในเทคโนโลยีบล็อกเชน จุดเด่นของ NFT คือ ตรงตามชื่อ คือ การเป็น "โทเคน" ที่ไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอกได้ และจะมีชิ้นเดียวในโลกตามของสิ่งนั้นที่มีอยู่จริงๆ
NFT ในช่วงแรก นิยมนำมาใช้ในแวดวงศิลปะ โดยนำภาพวาด งานศิลปะ ประติมากรรม เพลง วิดีโอ เกม การ์ตูน ฯลฯ ที่เป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาของผู้สร้างมาเปลี่ยนเป็น NFT
เมื่อเราได้ครอบครอง NFT ของผลงานนั้นๆ แล้ว เราสามารถซื้อขาย โอนย้ายกรรมสิทธิ์บนระบบ "บล็อกเชน" ระหว่างคนที่ต้องการซื้อและคนที่ต้องการขายแบบไม่มีคนกลาง เปิดโอกาสให้สามารถแลกเปลี่ยนทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ให้คนที่สนใจสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเจ้าของผลงานได้รับประโยชน์จากผลงานของตัวเองด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- 'NFT' คืออะไร? รู้จัก 'สินทรัพย์' แบบใหม่ ให้ผู้ครอบครองเป็น 'เจ้าของทิพย์' บนโลกดิจิทัล
- ผ่า "วิถีคิด” อดีตตำรวจสายคริปโทฯ ลงทุน "บิทคอยน์" เหมือน "ทองคำ-ที่ดิน"
5.5 Stablecoin
"Stablecoin" คือสินทรัพย์ดิจิทัล ที่จะมีการผูกกับค่าเงินของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งสามารถคงมูลค่าไว้คงที่ได้ตลอดเวลา โดยถูกออกแบบมาให้มีมูลค่าอ้างอิงตามสินทรัพย์อื่น เช่น อ้างอิงตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา เงินดิจิทัลสกุลอื่น ๆ หรือตามราคาทอง ต่างจากคริปโทเคอร์เรนซีอย่าง บิทคอยน์ หรือ อีเธอเรียม ที่ราคาและความผันผวนสูงความต้องการของตลาด
ตัวอย่างเหรียญ Stablecoin เช่น Tether (USDT), USD Coin (USDC), Indonesia Rupiah Token (IDRT) โดยผู้ออกเหรียญไม่ว่าจะเป็นบริษัท ธนาคาร หรือรัฐบาล ควรจะถือเงินจำนวนเดียวกันไว้ในธนาคาร หรือบัญชีที่เชื่อถือได้ ซึ่ง Stablecoin สามาถซื้อได้จากแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล โดยสามารถซื้อได้แบบเดียวกับที่คุณซื้อสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ
จะเห็นได้ว่า คริปโทฯ มีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายคุณสมบัติ ซึ่งส่วนใหญ่จะสามารถสร้าง "รายได้" เข้ากระเป๋า และด้วยความนิยมสร้างรายได้จากคริปโทฯ ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในบ้านเรา ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องและมีส่วนในการกำกับดูแลต้องออกโรงทั้งในด้านกฎหมาย ไปจนถึงการจัดเก็บภาษีเข้ารัฐ ซึ่งน่าติดตามต่อไปว่าท้ายที่สุดแล้ว คริปโทฯ จะยังมีบทบาทในฐานะ "ทางเลือก" ของนักลงทุนไทยต่อไปอย่างไร
_____________________________
อ้างอิง: ก.ล.ต., SEC, Bitkub, Zipmex, กรุงเทพธุรกิจ