"สุริยะ" ดึงความร่วมมือญี่ปุ่น ฟื้นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมด้วยบีซีจีโมเดล
กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม หรือ METI ประเทศญี่ปุ่น หารือแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยและญี่ปุ่น ภายใต้บีซีจีโมเดล มุ่งสู่ carbon neutral ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากร ยกระดับเอสเอ็มอี และสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแนวทางในการฟื้นฟู รวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้หารือแนวทางเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม กับ นายฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสมาเยือนประเทศไทย
ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ร่วมกับนโยบายการลงทุนเอเชีย-ญี่ปุ่นเพื่ออนาคต (ASIA-Japan Investing for the Future Initiative : AJIF)
โดยมีการกำหนดกรอบความร่วมมือชื่อ Framework Document on Co-Creation for Innovative and Sustainable Growth มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี การสร้างขีดความสามารถในทุนมนุษย์ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการกระตุ้นการเติบโตให้กับ SME และการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง โดยมีแนวทาง 3 ด้าน ดังนี้
1. ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนและการสร้างขีดความสามารถในทุนมนุษย์ เป็นการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ โลจิสติกส์ ดิจิทัล ศูนย์กลางด้านสุขภาพ อุตสาหกรรมชีวภาพ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว
รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อส่งเสริมการร่วมกันสร้างเพื่อการพัฒนาเชิงนวัตกรรมอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้สำหรับวิศวกรในโรงงานอัจฉริยะ
2. ด้านการเร่งพัฒนา SME เป็นการร่วมมือกับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคตสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย ในการแนะนำการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ เชื่อมโยงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมระหว่างไทยและญี่ปุ่นผ่านความร่วมมือต่าง ๆ เช่น การจับคู่ธุรกิจ และแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นต้น
3. ด้านการร่วมกันสร้างห่วงโซ่อุปทาน เป็นการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่นและมีความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปรับปรุงคุณภาพและมูลค่าของห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการสร้างห่วงโซ่อุปทานหมุนเวียนและสีเขียว
"ประเด็นความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ ในกรอบบีซีจีโมเดล ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกันนี้ได้ชักชวนนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น โดยการผลักดันให้เอกชนของทั้งสองประเทศร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนญี่ปุ่นเองเข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด และเป็นรากฐานสำคัญในอุตสาหกรรมส่งออกในไทย อาทิ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์"