"ประยุทธ์" เรียกอธิบดีกรมปศุสัตว์ เข้าพบที่ทำเนียบฯ แจงแผนป้องกัน ASF ในหมู

"ประยุทธ์" เรียกอธิบดีกรมปศุสัตว์ เข้าพบที่ทำเนียบฯ แจงแผนป้องกัน ASF ในหมู

นายกรัฐมนตรีเรียกอธิบดีกรมปศุสัตว์เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล จับตาคำสั่งแก้ปัญหาหมูแพง หลังมีปัญหาตามที่สื่อรายงานหลายพื้นที่

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ (14 ม.ค.65) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เรียกนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล คาดว่าจะเป็นการหารือถึงโรคอหิวาต์หมูหรือโรคอหิวาต์แอฟริกา​ใน​สุกร (AFS) ที่ได้มีการพบการระบาดแล้วในประเทศไทย 

ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวอยู่ในความสนใจของสังคมโดยสื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวนี้จากพื้นที่การเลี้ยงของเกษตรกร ซึ่งประเด็นที่จะต้องจับตาดูคือ นอกจากเรื่องของการแก้ปัญหาราคาหมูแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องของการกำจัดซากสัตว์เนื่องจากพบว่ามีการฝังเก็บไม่ได้ตามมาตรฐาน 

 

ก่อนหน้านี้ ครม.ได้เห็นชอบอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 574.11 ล้านบาท เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) และโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า ซึ่งเป็นโรคติดต่อในสุกรที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่รุนแรง

โดยจะจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.64 -15 ต.ค.64 ตาม ม.13(4) แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.58 ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประเมินตามกฎกระทรวงกำหนดค่าชดใช้ราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องจากโรคระบาดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคระบาดหรือสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหนะของโรคระบาด พ.ศ.2560 แล้ว

การอนุมัติงบกลางในครั้งนี้ เป็นการของบประมาณเพื่อจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ในระหว่างวันที่ 23 มี.ค.64 -15 ต.ค.64 ในพื้นที่ 56 จังหวัด ดังนี้ ภาคกลาง 10 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อยุธยา สระบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ และ สุพรรณบุรี 

ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว /ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เลย หนองบัวลำภู มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อำนาจเจริญ หนองคาย บึงกาฬ ร้อยเอ็ด นครพนม อุดรธานี มุกดาหาร สกลนคร และยโสธร ภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ 

ภาคใต้ 10 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ตรัง กระบี่ ระนอง นครศรีธรรมราช ชุมพร พัทลุง พังงา และสงขลา ทั้งนี้ มีเกษตรกรที่กรมปศุสัตว์ได้ทำลายสุกรไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงินค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย คิดเป็นเงิน จำนวน 574.11 ล้านบาท จำแนกเป็น เกษตรกร 4,941 ราย สุกร 159,453 ตัว

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาลเปิดเผยว่า ในการป้องกันโรค ASF  ครม. ยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติตั้งปี 2562 รวมทั้งได้มีการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อการวิจัยพัฒนาวัคซีน รวมทั้งชดเชย เยียวยาเกษตรกรรายย่อย เจ้าของฟาร์ม ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ ดำเนินระบบการเฝ้าระวัง และประเมินความเสี่ยง กำกับดูแล ให้เกษตรกร ตลอดจนการป้องกันและควบคุมโรค อาทิ ให้มีรั้วรอบฟาร์ม ให้มีจุดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น

“นายกรัฐมนตรีย้ำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการตรวจสอบ สำรวจโรคตามหลักวิชาการ และมาตรฐานสากล พร้อมชี้แจงให้ประชาชนอย่างโปร่งใส ที่สำคัญต้องลดความเดือดร้อนของเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม ผู้ค้ารายย่อย โดยเฉพาะผู้บริโภค ในขณะนี้ให้มากที่สุด ” นายธนกร กล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังตอบคำถามสื่อมวลชนตามที่นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มอบหมายกรณีการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงว่า นายกฯ ชี้แจงว่าได้สั่งการให้แก้ปัญหาราคาสินค้าแพงทุกชนิดอย่างเป็นระบบครบวงจร ทั้งกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาต้นทุนที่แท้จริง และขอความร่วมมือภาคเอกชนด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์