สายการบินวอนรัฐปรับ "Test & Go" ลุ้นโอมิครอนเสี่ยงต่ำเร่งฟื้นเชื่อมั่น
“สมาคมสายการบินประเทศไทย” อ้อนรัฐทบทวนปรับมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยว Test & Go บนพื้นฐานความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ลุ้น “โอมิครอน” เปลี่ยนสถานะเป็น “โรคประจำถิ่น” ฟื้นเชื่อมั่น ขณะ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ยังต้องหารือขั้นตอน วิธีจัดเก็บ ยึดหลักเดียวกันทั้งแอร์ไลน์ไทย-เทศ
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า หลังโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย ภาครัฐต้องปรับมาตรการ โดยระงับการลงทะเบียนเข้าประเทศไทยของนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go รายใหม่ชั่วคราวอย่างต่อเนื่อง ในมุมผู้ประกอบการสายการบินอยากให้รัฐทบทวนการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go บนพื้นฐานว่ายอมรับความเสี่ยงเรื่องผู้ติดเชื้อโอมิครอนได้มากน้อยแค่ไหน
“ตั้งแต่ไทยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบ Test & Go เมื่อ 1 พ.ย.2564 มีผลตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แตกต่างจากช่วงก่อนหน้าที่มีการเปิดรับเฉพาะแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) และประเภทกักตัว (Quarantine) เมื่อมีมาตรการที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น ย่อมมีความเสี่ยงพบผู้ติดเชื้อตามมา อยู่ที่ว่าประเทศไทยจะยอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน”
ทั้งนี้การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนแม้จะแพร่เชื้อได้เร็วและง่าย แต่มีอาการไม่รุนแรง ทำให้สายการบินต้องติดตามว่าจะมีการเปลี่ยนสถานะเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อไร ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้คนไม่กลัวการเดินทางท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามสายการบินยังต้องมีมาตรการให้คนมั่นใจออกเดินทางด้วยการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างใกล้ชิด
ด้านตลาดการบินภายในประเทศหลังโควิด-19 ระบาดระลอก 5 ในประเทศไทย ยอมรับว่าเป็นสถานการณ์ที่ประเมินค่อนข้างยาก เพราะยังมีความไม่แน่นอนสูง เบื้องต้นยังไม่เห็นว่ากระทบต่อตลาดเดินทางในประเทศด้วยเครื่องบินอย่างชัดเจน อาจมีเลื่อนวันเดินทางบ้าง แต่เป็นสัดส่วนน้อย ไม่ถึงกับยกเลิกการเดินทางเหมือนระลอกก่อนหน้า
“ตลาดการบินในประเทศมีโมเมนตัมที่ดีจากเดือน ธ.ค. ทุกสายการบินมีปริมาณเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารฟื้นตัวดีมาก ถือเป็นเดือนที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดในรอบปี 2564 แม้ปัจจุบันโอมิครอนจะทำให้ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยกระดับเตือนภัยโควิด-19 เป็นระดับ 4 จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการเดินทาง แต่เมื่อดูจากกระแสการเดินทางจริงพบยังว่ากระทบน้อยมาก มีคนเลื่อนเดินทางบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นยกเลิก หรือผู้โดยสารหายไปอย่างชัดเจนเหมือนการระบาดระลอกก่อนๆ”
นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า กรณีที่รัฐบาลเตรียมจัดเก็บเงิน “ค่าเหยียบแผ่นดิน” จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยคนละ 300 บาท ซึ่งเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ค่าธรรมเนียมท่องเที่ยว” ตั้งแต่ 1 เม.ย.2565 เป็นต้นไป วานนี้ (14 ม.ค.) สมาคมฯ หารือเบื้องต้นกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และจะหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีจัดเก็บเงินค่าเหยียบแผ่นดิน เพราะขณะนี้ระบบของสายการบินที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ ยังไม่รองรับ ประกอบกับตามกฎหมายต้องจัดเก็บเงินส่วนนี้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น ไม่มีการจัดเก็บจากคนไทย
“สมาคมฯ ยังต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องรายละเอียด ขั้นตอนการจัดเก็บ การส่งเงินค่าเหยียบแผ่นดินให้แก่ภาครัฐ การสื่อสารให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าใจ ความร่วมมือกับสายการบินต่างชาติซึ่งขนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยมากกว่าสายการบินสัญชาติไทย เพื่อดำเนินการบนหลักการเดียวกันกับสายการบินในไทย รวมทั้งพิจารณาเพิ่มเติมว่ามีหน่วยงานหรือช่องทางอื่นที่จะช่วยให้การจัดเก็บเงินเป็นไปอย่างสะดวกกว่าสายการบินเป็นผู้จัดเก็บหรือไม่
ส่วนจะดำเนินการจัดเก็บเงินค่าเหยียบแผ่นดินได้ทันตามกำหนดใหม่ วันที่ 1 เม.ย. หรือไม่นั้น ยังต้องดูองค์ประกอบหลายอย่างว่าลงตัวหรือไม่ โดยนายพิพัฒน์ รมว.การท่องเที่ยวฯ ได้แจ้งกับสมาคมฯ ว่าเป็นกรอบเวลาคร่าวๆ ยืดหยุ่นได้หากไม่สามารถดำเนินการได้ทัน