ซีพี-สกพอ.ถกแก้สัญญาไฮสปีด เร่งส่งมอบพื้นที่ 100% มี.ค.นี้
สกพอ.เตรียมประชุมบอร์ดบริหารไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน19 ม.ค.นี้ เคาะแก้สัญญา หลัง “ซีพี” เลื่อนจ่ายค่าบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 10,671 ล้านบาท ขณะที่ความคืบหน้าส่งมอบพื้นที่ยัน 100% ภายใน มี.ค.นี้
คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2564 เพื่อเยียวยาผลกระทบให้กับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยระบุว่า วันนี้ (19 ม.ค.2565) จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารสัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจาก สกพอ. การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่มีกลุ่มซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในฐานะผู้รับสัมปทาน
สำหรับประเด็นการหารือนั้น คือ การพิจารณาสาเหตุ ผลกระทบ และเหตุผลที่เอกชนต้องการปรับแก้เงื่อนไขในการจ่ายค่าโอนสิทธิบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จากเดิมที่มีการกำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน เอกชนคู่สัญญาจะต้องจ่ายค่าสิทธิร่วมทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท แต่ก่อนหน้านี้เอกชนชี้แจงถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ปริมาณผู้โดยสารลดลง ทำให้เอกชนทำหนังสือถึงภาครัฐเพื่อขอเยียวยา
“แม้ว่าเอกชนจะขอเยียวยาในเรื่องของการจ่ายเงินก้อนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เป็นการชะลอจ่ายออกไปก่อน ได้รับการเห็นชอบจากภาครัฐไปแล้ว แต่เนื่องจากไม่เป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุน ดังนั้นต้องมีการหารือรายละเอียดเพื่อแก้ไขสัญญาให้ถูกต้อง และนำเสนอการแก้ไขสัญญาเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้ง”
แหล่งข่าว ระบุด้วยว่า การหารือครั้งนี้เอกชนจะต้องชี้แจงถึงปัญหาผลกระทบ และความจำเป็นที่จำต้องขอเปลี่ยนแปลงการจ่ายค่าสิทธิร่วมทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ส่วนกรณีที่เอกชนเสนอแบ่งชำระค่าสิทธิร่วมทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์เป็น 10 งวด รวม 10 ปี เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด ต้องหารือในรายละเอียดคความเหมาะสมก่อน แต่ยืนยันว่าหากจะมีการผ่อนจ่ายภภาครัฐจะต้องไม่เสียประโยชน์ และต้องได้ดอกเบี้ยด้วย
ทั้งนี้ กรณีการผ่อนชำระที่มีการศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ จะเป็นการชำระค่าสิทธิร่วมทุนพร้อมดอกเบี้ยและมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) อยู่ที่ 11,705.463 ล้านบาท เพิ่มจากวงเงินเดิม 10,671.090 ล้านบาท ประมาณ 1,034.373 ล้านบาท โดยแบ่งชำระออกเป็น 6 งวด รวม 6 ปี
โดยปีแรกจ่ายในสัดส่วน 5% ปีที่ 2 จ่าย 7% ปีที่ 3 จ่าย 10% ปีที่ 4 จ่าย 10% ปีที่ 5 จ่าย 10% และปีที่ 6 จ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมดประมาณ 67.7% ซึ่งจะเริ่มจ่ายเมื่อไหร่ต้องหารือในรายละเอียดของผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อให้ปริมาณผู้โดยสารเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
ส่วนของความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่ ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีความพร้อมส่งมอบพื้นที่รวม 98% ส่วนพื้นที่ที่เหลือ 2% คาดว่าจะดำเนินการส่งมอบแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ โดยพื้นที่ส่วนที่เหลือนั้น ส่วนใหญ่เป็นการรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ รวมไปถึงบางพื้นที่ยังอยู่ในขั้นตอนกฎหมายที่มีความจำเป็นต้องฟ้องร้องขอคืนพื้นที่
ทั้งนี้ ครม.ให้ สกพอ.และ ร.ฟ.ท.ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและมติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง และให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวควรคำนึงถึงหลักการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน คือ การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและการจัดสรรผลประโยชน์ตอบแทนให้กับเอกชนอย่างเป็นธรรม
สศช. เห็นว่า สกพอ. , ร.ฟ.ท. และคณะกรรมการกำกับและติดตามโครงการ เพื่อให้เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญาร่วมทุน และกรณีที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขสัญญาต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยการดำเนินการดังกล่าวจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้และคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน การจัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชนตามหลักการที่กำหนดไว้ในสัญญา รวมทั้งควรมอบให้ ร.ฟ.ท.ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เร่งเตรียมความพร้อมดำเนินโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ในกรณีที่เอกชนคู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาได้ เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง
กระทรวงการคลัง เห็นว่าเนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ ภาระผูกพันอละสิทธิหน้าที่ของรัฐตามสัญญาร่วมลงทุน ดังนั้น ร.ฟ.ท.ควรพิจารณาถึงผลกระทบของการแก้ไขปัญหาโครงการต่อภาระหน้าที่ทางการเงินของ ร.ฟ.ท.ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างรอบคอบ รวมถึงผลกระทบที่อาจมีต่อภาระทางการคลัง ไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ และจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการให้บริการ
สำนักงบประมาณ เห็นว่าเกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือแก่เอกชนคู่สัญญาว่า ร.ฟ.ท.และ สกพอ.ควรพิจารณาสาระสำคัญตามสัญญาร่วมลงทุนที่จะต้องชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ 10,671 ล้านบาท และกรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเป็นเหตุในการผ่อนผันที่จะต้องดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินหรือไม่นั้น ควรพิจารณาเท่าที่จำเป็นอย่างรอบคอบและโปร่งใส โดยคำนึงถึงต้นทุนค่าเสียโอกาส ภาระทางการคลัง ความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทุกมิติ และจะต้องพิจารณาผลประโยชน์ที่รัฐและประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ
รวมถึงพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานเดียวกันในการเยียวยาให้แก่ผู้ประกอบการภาครัฐ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการทุกราย