เปิดเส้นทาง "ไบแนนซ์" สู่ "เบอร์ 1" ตลาดเทรดคริปโทเคอร์เรนซีโลก
ชื่อของ “ไบแนนซ์” เว็บกระดานซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีใหญ่ที่สุดในโลก กลายเป็นที่สนใจในสังคมอีกครั้ง หลังมีข่าวใหญ่ว่าจับมือกับ “กัลฟ์” ลุยตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย “กรุงเทพธุรกิจ” พาย้อนดูเส้นทางการเติบโตและสถิติที่น่าสนใจของไบแนนซ์ หลังก่อตั้งเพียงไม่ถึง 5 ปี
ไบแนนซ์ (Binance) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2560 โดย “ฉางเผิง จ้าว” นักธุรกิจชาวแคนาดาเชื้อสายจีน เป็นแพลตฟอร์มที่มีเหรียญดิจิทัลให้ซื้อขายอยู่ราว 337 สกุล (ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2564) และมีมูลค่าการซื้อขายบนแพลตฟอร์มสูงถึง 7.7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2564 หรือกว่า 7 เท่าเทียบกับมูลค่าการซื้อขาย 1.07 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2563
นอกจากนี้ ไบแนนซ์ยังเปิดขายเหรียญเป็นของตัวเองชื่อ “ไบแนนซ์ คอยน์” (BNB) จนกลายเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดอันดับ 5 ของโลก (ณ สิ้นปี 2564) เป็นรองเพียงอันดับ 1 อย่าง บิตคอยน์ (BTC) อันดับ 2 อีเธอเรียม (ETH) อันดับ 3 เทเทอร์ (USDT) และอันดับ 4 คาร์ดาโน (ADA)
แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทฯ ของไบแนนซ์ มีเครื่องมือรักษาความปลอดภัยที่แตกต่างกันไปสำหรับสร้างเชื่อมั่นโดยรวมให้กับนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล
หนึ่งในเครื่องมือสำคัญคือ “ไบแนนซ์ สมาร์ท เชน” (Binance Smart Chain) และใช้ประโยชน์จากการได้รับอนุญาตจากทางการแต่ละประเทศในการรับรองว่าการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มนั้น “ถูกต้องตามกฎหมาย”
สถิติอันน่าทึ่ง
ข้อมูลจากเว็บไซต์ไบแนนซ์ ระบุว่า จำนวนผู้ใช้ของตนเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรกที่เปิดให้บริการ แพลตฟอร์มมีฐานผู้ใช้งานเพียง 1.5 ล้านราย และเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดเป็นกว่า 13 ล้านรายในปีถัดมา จนกระทั่งพุ่งพรวดมาอยู่ที่ 28.6 ล้านรายในปี 2564
นอกจากนี้ กว่า 48% ของผู้ใช้ไบแนนซ์ล้วนเป็นนักลงทุนขาจร หรือลงทุนเป็นงานอดิเรก ขณะที่กว่า 15% เป็นนักลงทุนที่สร้างรายได้หลักจากแพลตฟอร์มนี้
ขณะเดียวกัน ผลกำไรของไบแนนซ์ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีก่อตั้ง บริษัทรายงานว่า มีกำไร 900 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 570 ล้านดอลลาร์ในปี 2562 ถือว่าเติบโตขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับกำไร 7.5 ล้านดอลลาร์ในปีแรก
ส่วนสกุลเงินดิจิทัลที่ผู้ใช้ไบแนนซ์นิยมถือครองมากที่สุดคือ บิตคอยน์ ซึ่งมีผู้ใช้กว่า 65% ถืออยู่ ส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ถือบิตคอยน์ 1-20% ของพอร์ตลงทุน
ถูกแบนในหลายประเทศ
ถึงแม้จะได้รับความนิยมและการยอมรับจากหลายประเทศ แต่ไบแนนซ์ต้องเผชิญกับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดในสหรัฐและสหราชอาณาจักร
ข้อกังวลในประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการละเมิดกฎหมายภาษีและการฟอกเงิน ขณะที่ธนาคารหลายแห่งได้สั่งห้ามลูกค้าใช้งานไบแนนซ์และใช้จ่ายเงินบนแพลตฟอร์มนี้
นอกจากนี้ ไบแนนซ์ยังประสบชะตากรรมคล้ายกันในประเทศไทย ญี่ปุ่น และจีนด้วย
จับตา “อุปสรรค” ในตลาดไทย
เมื่อเดือน ก.ค. 2564 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษไบแนนซ์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
ก.ล.ต. ระบุด้วยว่า ได้มีหนังสือไปยังไบแนนซ์ให้ชี้แจงข้อมูลแล้ว แต่บริษัทกลับไม่ชี้แจงภายในระยะเวลาที่กำหนด การกระทำของไบแนนซ์ จึงเข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
ต่อมา ไบแนนซ์ประกาศเลิกซัพพอร์ตภาษาไทยบนแพลตฟอร์ม เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบในประเทศ มีผลเมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม แม้เผชิญกับอุปสรรคในหลายตลาดทั่วโลก แต่ปัจจุบัน ไบแนนซ์ยังคงครองอันดับ 1 เว็บกระดานซื้อขายคริปโทฯ ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.07 ล้านล้านดอลลาร์ แซงหน้าคู่แข่งอย่าง เอฟทีเอ็กซ์ (FTX) ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขาย 385,000 ล้านดอลลาร์ และ คอยน์เบส (Coinbase) ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขาย 95,000 ล้านดอลลาร์ในปีเดียวกัน