"กองทุนรวม" ซื้อแล้ว "ติดดอย" ควรทำอย่างไร แก้เกมแบบไหนได้บ้าง ?

"กองทุนรวม" ซื้อแล้ว "ติดดอย" ควรทำอย่างไร แก้เกมแบบไหนได้บ้าง ?

เปิดเทคนิคจัดการกับ "กองทุนรวม" เมื่อ "ติดดอย" พอร์ตแดง หรือไม่เป็นไปตามเป้าหมายการลงทุนระยะกลางและระยะยาว พร้อมทิศทางการลงทุนกองทุนรวมปี 2022

"กองทุนรวม" เป็นอีกทางเลือกลงทุนที่เหมาะกับเป้าหมายสะสมเงินและสร้างผลตอบแทนในระยะกลางถึงระยะยาว ทว่าหลายคนแม้จะลงทุนตามแผนแต่อดร้อนๆ หนาวๆ ไม่ได้ เมื่อมองจากดอยลงมาเห็นราคาหน่วยลงทุนดิ่งลง

ใครที่กำลังเผชิญกับสภาวะนี้ หรือกำลังสับสนว่าควรทำอย่างไรเมื่อราคาหน่วยลงทุนติดลบ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนคุยกับ พีรภัทร ฝอยทอง CFP ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย/นักวางแผนการเงินส่วนบุคคล เพื่อหาทางออกสำหรับคนลงทุนในกองทุนรวม เมื่อพอร์ตแดงแบบไหนควร "ถือต่อ" แบบไหนควร "ขายทิ้ง" ?

พีรภัทร อธิบายเพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า "สำหรับกองทุนจะเรียกว่าติดดอยนั้นพูดยาก เพราะเราไม่รู้ว่าเราลงทุนในสินทรัพย์ไหนบ้างโดยตรง สิ่งที่เราสามารถจัดการได้แต่แรก เป็นคอนเซปท์เบื้องต้นของการลงทุน คือการย้อนกลับมามองในการจัดพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation) เพื่อดูกองทุนที่เราลงทุนมีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสมแล้วหรือยัง

ดังนั้น อันดับแรก เวลาเราซื้อกองทุนเราต้องรู้ว่ากองทุนที่เราซื้อไปลงทุนในสินทรัพย์ไหน หลายกองไม่ได้ลงทุนในสินทรัพย์เดียว เป็นลักษณะการจัดพอร์ตการลงทุนรวมหลายๆ สินทรัพย์ 

อันดับต่อมา การลงทุนในกองทุนไม่ใช่การลงทุนด้วยตัวเอง แต่เราอาศัยผู้เชี่ยวชาญคือผู้บริหารกองทุนไปจัดการ การปรับพอร์ตการลงทุนผู้จัดการกองทุนจะเป็นผู้ปรับให้ได้ดีที่สุดกับกองทุนประเภทนั้นๆ ไม่จำเป็นต้องสับเปลี่ยนตลอดเวลา

ดังนั้นการลงทุนในกองทุน หน้าที่ของผู้ลงทุนคือต้องดูว่าการจัด Asset Allocation ของเราถูกต้องไหม สัดส่วนยังเหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้ แล้วค่อยมาตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนกองทุน"

  •  เมื่อกองทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำอย่างไรดี ? 

พีรภัทร ยกตัวอย่าง กรณีที่พอร์ตติดลบจากการลงทุนกองทุนหุ้นจีน (เป็นเพียงการยกตัวอย่างให้เห็นภาพเท่านั้น) สามารถเริ่มจากการพิจารณาดูก่อนว่าในอีก 3 ปี หรือ 5 ปีข้างหน้า คิดว่าหุ้นจีนจะมีโอกาสกลับมาเติบโตได้หรือไม่ หากคิดว่าจะกลับมาได้เบื้องต้นก็สามารถถือต่อไปได้

แต่สิ่งที่ต้องมาดูต่อคือ กองทุนที่เราถืออยู่นั้นเมื่อมาเทียบศักยภาพกับกองทุนอื่นๆ ดีหรือแย่กว่าอย่างไร ซึ่งประเมินได้จาก Benchmark หรือค่าเฉลี่ยที่ใช้อ้างอิงของกองทุนนั้นๆ 

หากประเมินดูแล้วว่าศักยภาพของกองทุนไปไม่ได้ในอนาคตระยะกลาง ระยะยาว อาจหาวิธีปรับกลยุทธ์ แบ่งออกเป็น 2 ทางเลือก

 ทางเลือกที่ 1: สับเปลี่ยนกองทุน 

เปลี่ยนกองทุนด้วยวิธีสับเปลี่ยน (Switch) ไปกองทุนของ บลจ. อื่น หรือกองทุนอื่นใน บลจ. เดียวกันที่คาดว่าจะเติบโตได้ในอนาคตระยะกลางระยะยาว หรือเป้าหมายการลงทุนของเรา

นอกจากนี้อย่าลืมดูเรื่องค่าธรรมเนียมในการสับเปลี่ยนกองทุนด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ใน บลจ. เดียวกันจะไม่มีค่าธรรรมเนียม แต่หากสับเปลี่ยนข้าม บลจ. อาจมีค่าธรรมเนียม หรือมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ต้องนำมาวิเคราะห์รวมด้วย 

 ทางเลือกที่ 2: ขายออก 

พีรภัทร แนะนำว่าในบางกรณีอาจจะต้องตัดใจ เช่น ในอดีตมีกองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ กลุ่มน้ำมันที่มีการเก็งราคาเกิดขึ้น (เป็นเพียงการยกตัวอย่างให้เห็นภาพเท่านั้น) แต่สมมติว่าตอนนี้กระแสรถยนต์ไฟฟ้ามา อาจประเมินได้ว่าอีก 3-4 ปี ข้างหน้า กองทุนนี้อาจจะไม่สามารถเติบโตได้ดีเพราะที่ผ่านมาราคาปรับตัวขึ้นมาพอสมควรแล้ว

หากเราประเมินว่าน้ำมันจะไปไม่ได้ในอีกหลายปีข้างหน้า เพราะคาดการณ์ว่าคนจะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ก็อาจจะตัดสินใจขายกองทุนน้ำมันออก เพื่อปรับสัดส่วนไปลงในกองทุนอื่นๆ ที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคตแทนกองทุนที่ดูไม่มีอนาคต

"เป็นเรื่องปกติ ถ้าแนวโน้มกองทุนไม่ดีจริงๆ ก็ต้องปรับพอร์ต ไม่ใช่ว่าซื้อแล้วจะอยู่ตลอดไป เราต้องติดตามด้วยว่าสินทรัพย์นั้น แนวโน้มในอีก 3-5 ปีข้างหน้ามันยังดีหรือเปล่า" 

 

\"กองทุนรวม\" ซื้อแล้ว \"ติดดอย\" ควรทำอย่างไร แก้เกมแบบไหนได้บ้าง ?

  •  แนวโน้มลงทุนกองทุนรวม 2022 

พีรภัทร แนะนำว่าในปี 2022 ให้น้ำหนักไปทางกองทุนต่างประเทศค่อนข้างเยอะ เพราะปัจุบันทุกอย่างสามารถก้าวมาแข่งขันกันได้หมดแล้ว แต่ในประเทศไทยบริษัทที่จะไปแข่งขันได้ในระดับโลกค่อนข้างน้อย ฐานการผลิตของไทยเองย้ายไปต่างประเทศค่อนข้างเยอะ ธีมหลักจึงมองไปที่ต่างประเทศ 

โดยก่อนที่จะเลือกลงทุน เราต้องเข้าใจก่อนว่าการเติบโตในประเทศนั้นๆ เกิดจากอะไร สำหรับปีนี้ ประเทศหลักๆ มอง "จีน" กับ "สหรัฐฯ" การเติบโตเกิดจากการที่เขาต้องการปรับกฎเกณฑ์ไม่ให้เกิดการผูกขาดมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าดูแล้วเขาต้องการให้เศรษฐกิจของเขา โตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่โตแบบฟองสบู่ สิ่งที่ปรับลดในปีนี้จึงอาจเป็นผลดีในระยะยาว

ส่วนสหรัฐฯ มองเรื่องของเทคโนโลยี ในอนาคตสหรัฐฯ สามารถแข่งขันได้ทั่วโลก เช่น เทสล่า (Tesla) เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ที่มีผู้ใช้บริการทั่วโลกหลักพันล้านคน ทำให้ในระยะยาวมองว่าถ้าไม่มีหุ้นไทยตัวไหนที่ไปแข่งได้ในระดับนั้นได้ หรือมีน้อยเกินกว่าที่จะแข่งขันการลงทุนในต่างประเทศ สหรัฐฯ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเข้าไปลงทุนมีโอกาสทำกำไรได้เช่นกัน

ไม่แนะนำให้ All in หรือลงทุนในสินทรัพย์อันใดอันหนึ่งทั้งหมด ต้องจัดสัดส่วน และอย่าลืมพิจารณาอายุของเราด้วย

"ไม่แนะนำให้ All in หรือลงทุนในสินทรัพย์อันใดอันหนึ่งทั้งหมด ต้องจัดสัดส่วน และอย่าลืมพิจารณาอายุของเราด้วย เช่น อายุเยอะจะใส่เป็นหุ้นทั้งหมด 100% ก็เสี่ยงเกินไป ยังมองว่าต้องมีตราสารหนี้ติดเอาไว้บ้าง เช่น ตราสารหนี้ไทย ประมาณ 30-40% แต่ถ้าอายุยังน้อยติดไว้แค่ราว 10% น่าจะเพียงพอแล้ว" พีรภัทร กล่าวทิ้งท้าย