“พาณิชย์”คุม55โรงงานอาหารสัตว์ รายงานสต๊อก-ต้นทุนราคาทุกเดือน

“พาณิชย์”คุม55โรงงานอาหารสัตว์ รายงานสต๊อก-ต้นทุนราคาทุกเดือน

กกร.เคาะ “ไก่-เนื้อไก่” เป็นสินค้าควบคุม สั่งผู้เลี้ยง โรงชำแหละ โรงงานอาหารสัตว์ รายงานสต๊อก-ต้นทุนทุกเดือน สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ พร้อมให้ตรวจ ชงลดภาษีนำเข้า หนุนลดต้นทุน 1.2 พันล้าน “พาณิชย์” เผยยังไม่พิจารณา 3 ข้อเสนอลดภาษีนำเข้าลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์

คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ประชุมเพื่อบริหารสถานการณ์ราคาสินค้าแพงในปัจจุบัน โดยเพิ่มรายการสินค้าควบคุมราคา 1 รายการ คือ ไก่และเนื้อไก่ 

รวมทั้งต่ออายุสินค้าควบคุม 4 รายการ คือ หน้ากากอนามัย, ใยสังเคราะห์ เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย, ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอลส์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัย, เศษกระดาษ และกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีก โดยต่ออายุ 1 ปี หลังจากจะหมดอายุในวันที่ 3 ก.พ.2565 และพิจารณาแนวทางดูแลราคาอาหารสัตว์ที่เป็นต้นหลักของการผลิตสินค้าอาหาร ซึ่งที่ผ่านมาราคาได้สูงขึ้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กกร.มีมติให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่มีอยู่ทั้งหมด 55 โรง แจ้งต้นทุนราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิต และสต๊อก รวมทั้งกำหนดมาตรการให้ การปรับราคาต้องได้รับอนุญาตจากกรมการค้าภายใน

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ผู้ผลิตอาหารสัตว์ทุกบริษัทพร้อมให้กระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบสต็อก เพราะยืนยันได้ว่าไม่มีการกักตุนสินค้า โดยส่วนหนึ่งสถานการณ์อาหารสัตว์ของไทยอยู่ในภาวะขาดแคลน และผลผลิตที่ได้ไม่พอจำหน่าย อีกทั้งผู้ผลิตอาหารสัตว์ไม่เคยฉวยโอกาสปรับราคา เพราะหัวอาหารและอาหารสัตว์เป็นสินค้าควบคุม

รวมทั้งทุกครั้งที่เกิดปัญหาราคาสินค้าแพงขึ้นหรือมีผู้ร้องเรียนให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้นนั้น กระทรวงพาณิชย์จะขอความร่วมมือให้รายงานสต็อกและการขนส่งเพื่อดูความเคลื่อนไหวที่ถือเป็นเรื่องปกติ รวมทั้งขอให้ผู้ประกอบการลดราคา ซึ่งเป็นไม่ได้และทำได้เพียงการตัดงบโปรโมชั่น

แนะตรวจสต๊อกผู้ค้าข้าวโพด

การเช็คสต็อกของกระทรวงพาณิชย์ครั้งนี้ควรทำตลอดห่วงโซ่ เพราะต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น เป็นผลมาจากวัตถุดิบแพง ดังนั้นต้องเช็คสต็อกวัตถุดิบด้วย โดยเฉพาะข้าวโพดที่อยู่ในมือของพ่อค้าหรือผู้รวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเกษตรกร“

สำหรับความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ปีละ 8 ล้านตัน ไทยผลิตได้เอง 5 ล้านตัน และนำเข้า 3 ล้านตัน ซึ่งในขณะนี้ราคาข้าวโพดต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น ใกล้เคียงกับราคาข้าวสาลีที่ผู้ประกอบการเลือกเป็นวัตถุดิบทดแทน เช่นเดียวกับกากถั่วเหลืองต้องนำเข้ารวมเม็ดถั่วเหลืองทั้งสิ้นปีละ 6 ล้านตัน โดยกากถั่วเหลืองรัฐบาลยังเก็บภาษี 2% คิดเป็นวงเงิน 1,300 ล้านบาท ซึ่งสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยขอให้ยกเลิกภาษีดังกล่าวมาตลอด

“ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นมาจากภัยแล้งที่บราซิลเป็นปัจจัยที่ไทยคุมไม่ได้ และไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก แม้ว่าไทยจะมีศักยภาพเลี้ยงสัตว์ แต่ยังไม่มีความมั่นคงด้านอาหารโปรตีน เพราะผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ไม่เพียงพอกับความต้องการ"

ทั้งนี้ ปี 2565 คาดว่าความต้องการอาหารสัตว์ของไทยจะมีประมาณ 19 ตัน ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา 1 ล้านตัน เพราะปริมาณสุกรหายไป 3 ล้านตัว โดยอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เป็นหลัก

ขอข้อมูลลดภาษีวัตถุดิบ

ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยขอให้พิจารณาแนวทางลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาปรับสูงมาก 3 ข้อ คือ 1.การนำเสนอลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจาก 2% ให้เหลือศูนย์ 2.การผ่อนปรนหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการอนุญาตให้นำเข้าข้าวสาลีเข้ามาในราชอาณาจักร สัดส่วน 3:1

3.ข้อเสนอผ่อนปรนเรื่องระยะเวลานำภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปัจจุบันกำหนดนำเข้า 1 ก.พ.ถึง 31 ส.ค.ทุกปีเป็นให้นำเข้าตลอดทั้งปี ซึ่งกรมการค้าภายในขอให้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์เพิ่มข้อมูลที่ชัดเจนว่าหากดำเนินการแล้วจะลดต้นทุนอาหารสัตว์ได้เท่าใด รวมทั้งต้องรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องที่อาจได้รับผลกระทบจากข้อเสนอของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยหรือไม่ทั้งผู้แทนเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง

“ให้สมาคมฯรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจนขึ้นว่าหากทำตามเงื่อนไขแล้วจะลดต้นทุนได้เท่าไร ซึ่งหากได้ข้อมูลแล้วต้องมาพิจารณาอีกครั้ง”

อนุมัติไก่เป็นสินค้าควบคุม

นายจุรินทร์ กล่าวว่า กกร.ยังมีมติให้ไก่และเนื้อไก่เป็นสินค้าควบคุม และให้กำหนดมาตรการให้ผู้เลี้ยงไก่ที่มีปริมาณการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป และโรงชำแหละไก่ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 4,000 ตัวต่อวัน แจ้งปริมาณ สต๊อก และต้นทุนราคาจำหน่ายทุกเดือน และจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบสัปดาห์หน้า 

สำหรับการกำกับราคาไก่ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเกษตรกรและผู้ประกอบการ ซึ่งได้ประชุมร่วมกันมา 2 ครั้ง และกำหนดราคาหน้าฟาร์มและราคาจำหน่ายไก่ในราคาที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค โดยตรึงราคาไก่ไว้ได้และให้กรมการค้าภายในประชุมร่วมกับเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านไก่ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ราคาไก่สดทั้งตัวไม่รวมเครื่องเฉลี่ยรายปีในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ปรับขึ้นลงอยู่ตลอด โดยปี 2555 กิโลกรัมละ 58-75 บาท ปี 2556 กิโลกรัมละ 68-70 บาท ปี 2557 กิโลกรัมละ 70-80 บาท ปี 2558 กิโลกรัมละ 65-80 บาท ปี 2559 กิโลกรัมละ 65-80 บาท ปี 2560 กิโลกรัมละ 65-80 บาท ปี 2561 กิโลกรัมละ 65-75 บาท ปี 2562 กิโลกรัมละ 65-70 บาท ปี 2563 กิโลกรัมละ 65-75 บาท ปี 2564 กิโลกรัมละ 70-75 บาท และปี 2565 (ม.ค.) กิโลกรัมละ 70-80 บาท

ดำเนินคดีไม่แจ้งปริมาณสุกร

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กกร.กำหนดมาตรการดูแลราคาสุกร โดยห้ามส่งออกชั่วคราว 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 และให้ผู้เลี้ยง ผู้จำหน่าย ผู้ส่งออก ที่ครอบครองหมูมีชีวิตตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป ต้องแจ้งปริมาณการเลี้ยง การซื้อ การจำหน่าย การส่งออก ปริมาณคงเหลือ ราคาจำหน่าย สถานที่เก็บและสถานที่เลี้ยง ภายในวันที่ 10 ม.ค.2565 

รวมถึงผู้ครอบครองหมูชำแหละผ่าซีก เนื้อหมูชำแหละแยกชิ้นส่วน ที่มีปริมาณตั้งแต่ 5,000 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องแจ้งปริมาณการซื้อ จำหน่าย ใช้ ส่งออก รับฝาก ปริมาณคงเหลือ ราคาจำหน่าย และสถานที่เก็บภายในวันที่ 10 ม.ค.2565 โดยขณะนี้ผู้ประกอบการแจ้งเข้ามาแล้ว แต่บางรายยังไม่แจ้ง ซึ่งผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งกรมการค้าภายในดำเนินคดีแล้ว

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรค้านนำเข้า

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติคัดค้านการนำเข้าเนื้อสุกรเพื่อเพิ่มปริมาณในประเทศ โดยเฉพาะจากยุโรปเพราะมีความเสี่ยงโรคต่างถิ่นที่อาจปนเปื้อนมากระทบสุกรไทย และเสี่ยงเปิดรับเนื้อสุกรจากยุโรปตลอดไป รวมทั้งมีโอกาสส่งเข้ามาไม่จำกัดแม้กำหนดปริมาณไว้ชัดเจน 

ทั้งนี้เวียดนามแก้ปัญหาขาดแคลนสุกรด้วยการนำเข้าเพื่อได้เนื้อสุกรราคาถูกช่วงแรก แต่กลับได้บริโภคราคาแพงและปัจจุบันเกษตรกรเวียดนนามรับภาระขาดทุนจากภาวะสุกรล้นตลาด

นายชัยภูมิ บัญชาศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การนำเข้าสุกรอาจทำให้ราคาในประเทศถูกลง แต่ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่รอดจะขายสุกรไม่ได้ และไม่มีเงินมากพอปรับปรุงระบบการเลี้ยง และอาจยุติอาชีพเพราะก่อนหน้านี้ขาดทุนสะสมจากราคาหมูตกต่ำมาตลอด

ทั้งนี้ ภาครัฐต้องช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยด้วยเทคโนโลยี วิชาการที่ทันสมัย การเงิน และต้องปกป้องเกษตรกรที่เหลือให้เลี้ยงหมูต่อได้ด้วยระบบการเลี้ยงที่ทันสมัย