่ส่งออกปี 64 ทะลุเป้า ขยายตัว 17% มูลค่า 2.7 แสนล้านดอลลาร์
พาณิชย์เผยส่งออกปี 64 พุ่ง 17 % มูลค่า 271,173 ล้านดอลลาร์ ผลจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว คาดปี 65 ส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ 3-4 % เดินหน้าปี 65 ชูนโยบาย"ซอฟต์ พาวเวอร์" จับตา โอมิครอ-เงินเฟ้อ-ปัญหาขาดแรงงาน กระทบส่งออก ส่วนเดือนธ.ค.สูงเป็นประวัติการณ์ส่งท้ายปีโต 24.2%
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยปี 64 ขยายตัว 17 % มูลค่า 271,173 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเกินเป้าหมายเดิมที่วางไว้ที่ 3-4 %
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนทำให้การส่งออกปี 2564 ประสบความสำเร็จคือ 1.การทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนในรูป กรอ.พาณิชย์ที่ลงไปแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที และทีมเซลล์แมนจังหวัด ทีมเซลล์แมนประเทศ จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการขายของกระทรวงพาณิชย์ในรูป OBM (Online Business Matching)รวมทั้งการเร่งรัดการเจาะตลาดเมืองรองในรูป Mini-FTA และมาตรการทางการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกที่แก้ปัญหากำหนดมาตรการตั้งแต่เริ่มต้น ขณะที่ผลไม้ยังไม่ออกทำให้ปัญหาอุปสรรคในการส่งออกสามารถลดน้อยและเดินหน้าได้
2.จากการที่ประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
3.ภาคการผลิตทั่วโลกขยายตัวใน ปี 64 ดูได้จากบัญชี PMI (Global Manufacturing PMI หรือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก) ที่เกินกว่า 50 ถึง 18 เดือนต่อเนื่อง
4.ค่าเงินบาทยังไม่แข็งค่า ทำให้เราสามารถแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งในตลาดต่างประเทศได้ และ5.ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งมี 2 ด้าน คือ จะทำให้ต้นทุนเราเพิ่ม แต่ก็เป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ตัวเลขการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมันมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
ส่วนปี 2565 ประเมินว่า การส่งออกของไทยจะขยายตัว 3-4 % มูลค้า 2.79-2.82 ล้านดอลลาร์ ปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกในปี 65 ประกอบด้วย1.การขยายตัวของเศรษฐกิจ และการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญขยายตัว
2.ค่าเงินบาทยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการส่งออก3.คาดว่าปริมาณตู้คอนเทนเนอร์จะเพิ่มขึ้นและเข้าสู่ความสมดุลได้ในช่วงกลางปีนี้ถึงปลายปี 4.การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้ตลาดโลกมีความต้องการสินค้าไอที อุปกรณ์อัจฉริยะ ที่เราเป็นผู้ส่งออกด้วย5.คาดว่าความรุนแรงของโควิดจะลดน้อยลงทำให้การเจรจาการค้าอุปสรรคลดลง
6.การมีผลบังคับใช้ของ RCEP ที่เริ่มต้น 1 ม.ค. 2565 นี้ จะมีส่วนช่วยส่งเสริมตัวเลขการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 14 ประเทศได้มากขึ้นคล่องตัวและสะดวกขึ้น เพราะหลายตัวภาษีเป็นศูนย์ และกระทรวงพาณิชย์เตรียมการล่วงหน้าพร้อมให้บริการใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเอกสารสำคัญต่างๆที่จะนำประโยชน์จากข้อตกลง RCEP มาใช้กับผู้ส่งออกของไทย
ทั้งนี้ปี 65 จะเน้นในการทำรายได้เข้าประเทศจาก ซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ด้วยซึ่งได้สั่งการเป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ไปแล้วเพราะเราเริ่มต้นดำเนินการมาระยะหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องดิจิทัลคอนเทนท์ อนิเมชั่น ภาพยนตร์และอื่นๆ ซึ่งทำรายได้เข้าประเทศในระดับหนึ่ง แต่ในปี 65 จะสนับสนุนเข้มข้นจากกระทรวงพาณิชย์
ส่วนการส่งออกเดือน ธ.ค.64 พบว่า ขยายตัว 24.2% คิดเป็นมูลค่า 24,930.3 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าสำคัญ 3 หมวด ได้แก่ สินค้าเกษตรขยายตัว21.1% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 เช่น มังคุดสด ขยายตัว 871.4% ทุเรียนสดขยายตัว 254.9% มะม่วงสดขยายตัว 70.6% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 48.1% ยางพาราขยายตัว 22.7%
หมวดที่สอง สินค้าเกษตรอุตสาหกรรม ขยายตัว 24.1% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 สินค้าที่สำคัญเช่น น้ำตาลทราย 123.9%ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง ผลไม้แห้ง กระป๋องและแปรรูป 24.5% และอาหารสัตว์เลี้ยง 35.4%
และหมวดที่สาม สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 24.0% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 สินค้าสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่อง 45.0% สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน 34% อัญมณีและเครื่องประดับ 29.3% คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 28.6% เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 28.4% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 25.8%
สำหรับตลาดสำคัญที่ขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย 54.4% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS 45.8% สหรัฐฯ 36.5% ลาตินอเมริกา 36.5% อาเซียน 35% และทวีปแอฟริกา 34.1% ตะวันออกกลางที่เป็นเป้าหมายต่อไปในอนาคต +29.5% เป็นต้น
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กล่าวว่า สินค้าดาวรุ่งเป็นสินค้าตัวเดิมเพราะในปี 65 จะยังมีการส่งออกต่อเนื่องในสินค้าเกษตร ผลไม้สด ผลไม้แช่แข็ง และสินค้ากลุ่มยาและเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะที่ไทยส่งออกถุงมือยาง โตต่อเนื่อง สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เช่น น้ำตาลทราย อาหารเลี้ยงสัตว์ สินค้าอุตสาหกรรม รถยนต์สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อัญมณี คอมพิวเตอร์ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น อย่างไรก็ตามคงต้องจับตาการแพร่ระบาดของโอมิครอน ปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงทั่วโลก การขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สินค้าในกลุ่ม BCG ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะพยายามขับเคลื่อนในส่วนนี้ ทั้งอาหารแห่งอนาคต อาหารสัตว์เลี้ยง บรรจุภัณฑ์ ไลฟสไตล์หรือเครื่องสำอางสมุนไพรน่าจะเป็นสินค้าที่มีโอกาสขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับแผนการส่งออกของปี 65 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีกิจกรรมหลากหลาย ประมาณ 152 กิจกรรม จะบุกไปที่ตลาดที่มีศักยภาพเดิมและเปิดเพิ่มตลาดใหม่ ขยายสัดส่วนของการส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดโลกไปตลาดที่เป็นเมืองรอง