SAPPE จ่อตั้งโรงงานแห่งใหม่ พร้อมเปิดตัว “เครื่องดิมกัญชง”
"เซ็ปเป้" ลั่นปี 2565 รุกผุดสินค้าใหม่ตัวใหม่ ตามเทรนด์สุขภาพแรง "เครื่องดื่มกัญชง" คาดเปิดตัวปลายไตรมาส 1 หรือ 2 ปีนี้ แย้มจ่อศึกษาลงทุนโรงงานแห่งใหม่ 3แนวทาง "สร้างเอง -ซื้อกิจการ -ร่วมทุน” ดันกำลังการผลิตเติบโต
ในปี 2564 “ธุรกิจเครื่องดื่ม !” ตลาดโดนล็อกดาวน์นานกว่า 6 เดือน หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) รุนแรง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มปี 64 คาดว่าตลาดจะ “ติดลบ 5-6%” และหนึ่งในผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่ม อย่าง บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE ของ “ตระกูลรักอริยะพงศ์” ถือหุ้นใหญ่ 68.50% จำต้องเร่งปรับตัวรับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน...
“ปิยจิต รักอริยะพงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE ให้สัมภาษณ์พิเศษ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สำหรับ “โจทย์ธุรกิจ” ในการขับเคลื่อนอาณาจักรเครื่องดื่มปี 2565 ที่แนวโน้มจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังรัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว โดยบริษัทจะมุ่งเน้นพัฒนาโปรดักท์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 20 ผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งการเปิดเกมรุกทั้ง “การทำการตลาดรูปแบบเก่า” (Offline Marketing) และ “การทำการตลาดใช้สื่อใหม่” (Online Marketing)
โดยเฉพาะการโฟกัสใน “ตลาดออนไลน์” เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป สะท้อนผ่านตัวเลขการเติบโตตลาดออนไลน์ของบริษัทปีก่อนขยายตัวราว 600% ด้วยฐานยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตมาก ยิ่งเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดออนไลน์เติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งบริษัทมีการปรับตัวรับเทรนด์ออนไลน์ โดยในปีนี้บริษัทจะเน้นในตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วย อย่างในประเทศใหญ่ๆ เช่น เกาหลีใต้ , ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
นอกจากการมุ่งเน้นการทำตลาดในส่วนของผลิตภัณฑ์นั้น ในปี 2565 บริษัทจะมี “ผลิตภัณฑ์กัญชง” คาดว่าจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์กัญชงตัวแรกในช่วงปลายไตรมาส 1 หรือ 2 ของปีนี้ เนื่องจากบริษัทกำลังรอวัตถุดิบเพื่อมาสกัดก่อนจะนำมาพัฒนาเป็นสินค้าตัวใหม่
“ในอนาคตเรามีแผนที่จะคิดค้นผลิตภัณฑ์จากสาร CBD ของกัญชงในหลากหลายรูปแบบ ทั้งเครื่องดื่มและอาหาร ฉะนั้น ในฐานที่เราเป็นผู้พัฒนาสินค้าดังนั้นจะต้องมีโปรดักท์ใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง”
เธอ บอกต่อว่า จากแผนธุรกิจบริษัทจะต้องมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ในช่วง 1-2 ปี (2565-2566) บริษัทอยู่ระหว่างการกำลังศึกษา “ขยายกำลังการผลิต” ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ราว 330,000 ตันต่อปี โดยบริษัทกำลังศึกษาลงทุนสร้าง “โรงงานแห่งใหม่” ระหว่างในไทยและต่างประเทศ ใน “3 แนวทาง” ประกอบด้วย 1. ลงทุนก่อสร้างเองทั้งหมด 2.การซื้อกิจการ (M&A) และ 3.การจอยเวนเจอร์พาร์ทเนอร์ (ร่วมถือหุ้น) คาดว่าในปี 2566 จะได้ข้อสรุปความชัดเจนดังกล่าวจะเลือกรูปแบบการลงทุนแบบไหน
“เรากำลังดูว่าจะเลือกแนวทางลงทุนแบบไหนดี หากลงทุนสร้างใหม่ก็สามารถตัดสินใจคนเดียว แต่หากเลือกแนวทาง M&A หรือ จับมือพาร์ทเนอร์ ก็จะต้องมีคนอื่นรวมตัดสินใจด้วย แต่อย่างไรก็ตามภายใน 1-2 ปี ต้องมีความชัดเจนแล้ว เนื่องจากเราต้องขยายฐานการเติบโตก็ต้องลงทุนเพิ่ม คาดวงเงินลงทุนคงไม่ต่ำกว่าระดับ 100 ล้านบาทขึ้นไป”
สำหรับ เป้าหมายผลประกอบการปี 2565 คาดเติบโตเป็นตัวเลข “สองหลัก” เนื่องจากมองว่าการจับจ่ายใช้สอยและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศน่าจะปรับตัวดีขึ้น และตลาดต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน ดังนั้น ในปีนี้ผลการดำเนินงานจะมาจากการเติบโตทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการมีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่อย่างกัญชงอีกด้วย รวมทั้งในปีนี้บริษัทจะใช้เงินลงทุนสร้างคลังสินค้าเพิ่มจำนวน 300-400 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตในช่วง 5-7 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ปี 2564 ที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเมืองไทยรุนแรงมากกว่าปี 2563 ส่งผลให้ยอดขายในประเทศ “หดตัว” แต่สวนทางตลาดต่างประเทศที่มีทิศทางการขยายตัวค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในตลาด “สหรัฐฯ-ยุโรป (EU)” ที่มีอัตราการขยายตัวถึง 40% หลังกลุ่มประเทศในยุโรปมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมการเศรษฐกิจฟื้นตัวและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเริ่มทยอยฟื้นตัวมากขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2563
ณ ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ต่างประเทศประมาณ 60% ในประเทศ 40% ซึ่งในอนาคตสัดส่วนรายได้น่าจะอยู่ระดับดังกล่าว เพราะตลาดต่างประเทศใหญ่กว่าในประเทศมาก ซึ่งอนาคตบริษัทไม่เน้นที่จำนวนประเทศมากขึ้น แต่โฟกัสที่ประเทศขนาดใหญ่ และมีศักยภาพการเติบโต เช่นในเกาหลีใต้ และ ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
รวมทั้งการวางกลยุทธ์ไว้ต่างกันตามกลุ่มลูกค้า โดยบริษัทจะพยายามเพิ่มพอร์ตลูกค้ารายใหญ่ให้มากขึ้น เช่น การเสนอสินค้าใหม่เข้าไปสร้างตลาด เพื่อเพิ่มยอดขายให้เติบโต ส่วนลูกค้าขนาดกลางก็พยายามในเรื่องกระจายสินค้าให้เป็นวงกว้าง และสร้างแบรนด์มากขึ้น เพื่อยกระดับลูกค้าขนาดกลางให้เป็นขนาดใหญ่ในอนาคต
“เราเดินหน้าเพื่อสร้างการเติบโตในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่องมากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก ขณะที่การวางกลยุทธ์รุกสร้างการเติบโตในต่างประเทศจะมุ่งเน้นที่การสร้างแบรนด์ให้สอดคล้องกับการแข่งขันในตลาด และความต้องการของผู้บริโภค”
ด้านแผนการดำเนินงานสร้างการเติบโตในประเทศ บริษัทยังคงเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย รวมทั้งการกระจายช่องทางการขาย และความได้เปรียบในการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิคและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนกระบวนการลดต้นทุนจาก Danone Group ด้วยแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลเป็นปัจจัยบวกต่อแบรนด์อื่นของบริษัทอีกด้วย
สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการบริษัทมีจำนวนแบรนด์สินค้าในเครือรวม 21 แบรนด์ เพื่อรองรับตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ 5 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม (Functional Beverage Segment) 2. กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มน้ำผลไม้ (มีและไม่มีชิ้นเนื้อ) (Fruit Juice/Juice Drink Segment)
3.กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทผงพร้อมชง เพื่อสุขภาพและความสวยงาม (Functional Powder Segment) 4.กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่มเพื่อควบคุมน้ำหนัก (Other RTD Segment) และ 5.กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมเพื่อสุขภาพ (Healthier snack)
ท้ายสุด “ปิยจิต” บอกไว้ว่า ปีก่อนแม้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ค่อนข้างหนัก แต่คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทยังเติบโตต่อเนื่อง หลังมีการออกสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่องรวมทั้งการมุ่งเน้นทำตลาดออนไลน์มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกมาต่อเนื่องในปีนี้อีกด้วย