สรรพากรเผยแพลทฟอร์มต่างชาติยื่นจดแวตถึง120ราย
สรรพากรเผยยอดชำระภาษีแวตจากแพลทฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศมีเข้ามาแล้วเกือบ 2 พันล้านบาท คาดทั้งปีจัดเก็บได้ 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ จำนวนผู้สมัครเข้าระบบแวตมีถึง 120 ราย
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า นับตั้งแต่กรมฯประกาศใช้กฎหมายอีเซอร์วิส ซึ่งกำหนดให้ผู้ให้บริการแพลทฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ให้บริการต่างประเทศ(VAT for Electronic Service: VES)ที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการในประเทศไทยต้องจดทะเบียนการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) นับตั้งแต่ต้นเดือนก.ย.2564 จนถึงขณะนี้ มีผู้ให้บริการดังกล่าวเข้ามาจดทะเบียนแวตแล้วถึง 120 ราย
ทั้งนี้ ผู้ให้บริการดังกล่าวได้ชำระภาษีแวตแล้วเกือบ 2 พันล้านบาท
โดยเดือนก.ย.2564 มียอดชำระ 686 ล้านบาท เดือนต.ค.2564 มียอดชำระ 646 ล้านบาท และเดือนพ.ย.2564 มียอดชำระ 590 ล้านบาท ส่วนเดือนธ.ค.2564 อยู่ระหว่างการสรุปยอดการชำระ
เขากล่าวว่า เดิมกรมฯคาดว่า จะมีผู้ให้บริการเข้ามาจดทะเบียนประมาณ 100 ราย และ มียอดการชำระภาษีแวตประมาณ 5 พันล้านบาทต่อปี แต่ขณะนี้ จำนวนผู้ให้บริการที่เข้ามาจดแวตมีถึง 120 แห่ง และยอดการชำระภาษีแวตก็เข้ามาสูง ดังนั้น จึงเชื่อว่า ทั้งปีจะมียอดชำระแวตราว 1 หมื่นล้านบาท”
ทั้งนี้ กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบริการอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีผลบังคับกับแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการที่เป็นต่างชาตินั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการไทย
ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการต่างประเทศที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ บริการโฆษณาออนไลน์ (Online Advertising) บริการขายสินค้าออนไลน์ (E-Commerce) บริการแพลตฟอร์มสมัครสมาชิก เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ (Subscription) บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง เช่น บริการขนส่ง (Peer to Peer) และบริการแพลตฟอร์มจองที่พัก โรงแรม ตั๋วเดินทาง (Online Travel Agency) ที่ให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย (ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในประเทศไทย
สำหรับกฎหมายภาษี e – Service นี้ ได้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564 โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยและมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบ VES (VAT for Electronic Service) บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร
“ภาษีนี้จะช่วยสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจบริการออนไลน์และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติที่ให้บริการออนไลน์เหมือนกันไม่ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม”
นอกจากภาษีนี้จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันแล้ว ภาษีอีเซอร์วิสยังเป็นการเพิ่มรายได้ทางหนึ่งให้กับประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย และช่วยให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลรายได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่จะสามารถนำไปใช้ในการคำนวณเป็นฐานภาษีใหม่ที่จะเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย