ผ่าแผน “อาร์เอส” ลุยซื้อกิจการ ต่อยอด - เสริมแกร่งธุรกิจ
เปิดศักราช 2565 อาร์เอส กำเงินลงทุน 1,000-2,000 ล้านบาท สานกลยุทธ์ซื้อและควบรวมกิจการ ตลอดจนร่วมทุนกับพันธมิตร สร้างมูลค่าเพิ่ม แสวงหาโอกาสใหม่ๆ สานภารกิจเติบโตใน 3 ปี ข้างหน้า
ปี 2565 เป็นปีแห่งความหวังของภาคธุรกิจ ที่จะเห็นกิจการค้าขายฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติ เพื่อหาทางสร้างการเติบโตได้ โดยมีปัจจัยบวกจากวิกฤติโรคโควิด-19 จะคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น
เช่นเดียวกับแม่ทัพคนสำคัญอย่าง สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่คาดการณ์ปีนี้ภาพรวมในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นทั้งฝั่งผู้ประกอบการ ผู้บริโภคที่จะกลับมาจับจ่ายใช้สอยหลังอั้นการซื้อสินค้า และบริการเป็นเวลานาน จากปัจจัยเสี่ยงโรคโควิด ขณะที่ปัญหาสินค้าราคาแพงยังเป็นความเปราะบางที่ต้องเผชิญต่อในปีนี้ก็ตาม
“เราผ่านพ้นวิกฤติมาแล้ว ปีนี้คาดว่าโควิดจะไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ ทำให้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติ และกลไกธุรกิจฟื้นตัวกลับมาได้”
ทั้งนี้ จะมีวิกฤติหรือไม่ ธุรกิจต้องเดินหน้า ซึ่งแผนการจับเคลื่อนอาร์เอส ในปี 2565 บริษัทยังให้ความสำคัญกับการหาพันธมิตรเสริมแกร่ง การสร้างอีโคซิสเทมให้กับธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมิร์ซเพื่อผลักดันการเติบโตแบบก้าวกระโดดและยั่งยืนภายใน 3 ปีข้างหน้า
หนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญของอาร์เอสคือ การใช้ “ทางลัด” ด้วยการซื้อและควบรวมกิจการ(Mergers and Acquisitions:M&A) การร่วมทุน(Joint Venture) และรุกคืบครอบครองกิจการTakeover)โดยปี 2565 วางงบประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนซื้อธุรกิจ หรือเฉลี่ยใช้งบ 500-1,000 ล้านบาทต่อดีล โดยคาดว่าจะมีธุรกิจเข้ามาเสริมพอร์ตอีก 2-3 รายการ จากปัจจุบันมีการเจรจาซื้อกิจการอยู่ 2-3 ดีล
นอกจากนี้ บริษัทจะผลักดัน “ป๊อปคอยน์” ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญมาเชื่อมต่อหน่วยธุรกิจต่างๆ ของเครือ ไม่ว่าจะเป็นทีวีดิจิทัล วิทยุ โฆษณา การทำตลาด เพื่อลดรอยต่อของ “ฐานข้อมูล” หรือ Big Data ลูกค้า เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ ส่วนตัวผลิตภัณฑ์จะมีการ “รวมแบรนด์” เพื่อรุกทำตลาด สร้างการรับรู้ วางตำแหน่งสินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เป็นต้น
“เรายังมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจผ่านโมเดลเอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ และสิ่งที่ต้องทำต่อในปีนี้หลังวางรากฐานมา 2 ปีคือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้บริษัท ผ่านการซีนเนอร์ยี จับมือกับพันธมิตรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุน เอ็มแอนด์เอ และเทคโอเวอร์ เพื่อขยายธุรกิจเอ็นจอยการเติบโตร่วมกัน”
ขณะที่เป้าหมายปีนี้ บริษัทต้องการผลักดันรายได้แตะ 5,100 ล้านบาท และกลยุทธ์ที่วางไว้ในปี 2565 เพื่อเป็นจิ๊กซอว์ผลักดันให้ 3 ปีข้างหน้ามีรายได้เติบโตก้าวกระโดด โดยเฉพาะการซื้อกิจการ
วิทวัส เวชชบุษกร กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง ปีนี้อาร์เอสใช้กลยุทธ์ LEAP เพื่อสร้างการเติบโต ประกอบด้วย L:Lifesyle Wellbeing Solution หรือตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และสุขภาพของผู้บริโภค ผ่านอาร์เอสมอลล์ จะเสริมแกร่งช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ขยายสู่มาร์เก็ตเพลส ออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ ไลฟ์สตาร์ จะคัดสินค้าที่ตรงใจผู้บริโภค 30 รายการ(SKUs) มีไฮไลท์คือ การนำกัญชากัญชงไปอยู่ในทุกกลุ่มสินค้า
นอกจากนี้ ได้ยุบตราสินค้าให้เหลือ 4 แบรนด์เพื่อสื่อสารการตลาดให้ดีขึ้น ได้แก่ เวล ยู ลุยสินค้าสุขภาพ คามู ซี ทำตลาดเครื่องดื่ม ไวตาเนเจอร์พลัส เน้นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ไลฟ์เมต บุกผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง
E:Entertainment Uplift ยกระดับธุรกิจสื่อและบันเทิง ซึ่งปีนี้จะเห็นก้าวสำคัญของอาร์เอสในการเกาะกระแส K-Pop เป็นครั้งแรก ทั้งการดึง “แบมแบม GOT7” มาเป็นพาร์ทเนอร์ป๊อปคอยน์ รวมถึงสร้างคอนเทนท์สารคดีเกี่ยวกับเส้นทางความสำเร็จของแบมแบม การดึง “มาร์ค ต้วน GOT7” ร่วมรายการฟู้ดทรัค แบทเทิลฯ ทีวีดิจิทัลช่อง 8 จะเห็นการนำป๊อปคอยน์มาสร้างประสบการณ์ร่วมกับคนดู เช่นรับชมคอนเทนท์แบบเอ็กซ์คลูซีฟ ส่วนสปอนเซอร์สามารถนำป๊อปคอยน์ไปทำกิจกรรมการตลาดได้ เป็นต้น
A:Asset Monetization เพิ่มช่องทางรายได้ใหม่จากสินทรัพย์ในองค์กร เช่น ธุรกิจเพลงจะจัดทัพสู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง NFT เพื่อเจาะฐานผู้ฟังเพลงของอาร์เอสบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีมากกว่า 50 ล้านราย การสร้างออนไลน์คอนเทนท์กับช่องทางศิลปินของเครือ การซีนเนอร์ยีและผลักดันเชฎฐ์ เอเชีย เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในไตรมาส 4 เพื่อสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ๆ และ P:Popcoin แพลตฟอร์มสมาร์ท มาร์เก็ตติ้ง จะนำไปต่อยอดในทุกธุรกิจของเครือ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้อาร์เอสและพันธมิตร
“ปีนี้ป๊อปคอยน์เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เป็นตัวเร่งการเติบโตของบริษัท”
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์