ธุรกิจตั้งรับต้นทุนพุ่งชูนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้า
ท่ามกลางกำลังซื้อซึมลึกและภาวะเงินเฟ้อขณะที่“ต้นทุนวัตถุดิบ"พุ่งสูงขึ้น! “ซีคอน"ปรับกลยุทธ์ด้วยการเบนเข็มเจาะลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง ขณะที่ “เอสซีจี เซรามิกส์” ปรับราคาสินค้าบางรายการขึ้นตามต้นทุนพร้อมนำเสนอนวัตกรรมเพื่อให้ลูกค้ายอมจ่ายเพิ่มขึ้น
มนู ตระกูลวัฒนะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด กล่าวว่า แม้ตลาดรับสร้างบ้านจะได้อานิสงส์จากวิกฤติโควิด-19 ทำให้คนต้องการที่พักอาศัยรูปแบบ “บ้าน” มากกว่าคอนโดมิเนียม แต่ก็ยังมีปัจจัยลบในแง่ของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากวัสดุ ค่าแรงงาน ทำให้ผู้รับเหมาต้องปรับราคาขึ้น 5-10% ส่งผลให้ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาพยายามตรึงราคาไว้ให้นานที่สุด แต่สุดท้ายจำเป็นต้องปรับขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.
ขณะเดียวกัน ปรับกลยุทธ์โดยมุ่งขยายฐานลูกค้าในเซ็กเมนต์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบ้านขนาดใหญ่ระดับราคา 7 ล้านบาทขึ้นไปที่มีการขยายตัวกว่า 85% และกลุ่มบ้านราคา 15-20 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว
ทั้งนี้ ซีคอน มีดีไซน์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มที่นิยมบ้านหลังใหญ่สไตล์ ยุโรป และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบบ้านสไตล์โมเดิร์น และมินิมอลจึงได้ออกแบบชุดใหม่ Horizon Series ที่มีพื้นที่และฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ บริษัทได้จัดตั้ง บริษัท ซีคอน ไอดี จำกัด เพื่อออกแบบและรับสร้างบ้าน โฮมออฟฟิศ อพาร์ทเม้นท์ ทุกรูปแบบที่ลูกค้าต้องการ รวมถึงการพัฒนาอาคารโลว์ไรส์ให้กับดีเวลลอปเปอร์รายเล็กมาใช้บริการ
“ที่ผ่านมากลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่มีกำลังซื้อสูง เพราะทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี ต้องการบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บางคนมีแบบบ้านหรือบางคนยังไม่มีแบบบ้านสามารถเข้าใช้บริการได้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีมูลค่าตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป"
โดยคาดว่าปีนี้บริษัทจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2,400 ล้านบาท มาจากธุรกิจรับสร้างบ้าน “ซีคอน” ราว 1,900 ล้านบาท และธุรกิจใหม่ “ซีคอน ไอดี” 500 ล้านบาท
ทางด้าน นำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์ คอตโต้ โสสุโก้ และคัมพานา กล่าวว่า ในปี 2565 ปัจจัยที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ เรื่องราคาพลังงานที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น หลังจากส่งผลกระทบต่อ “ต้นทุน” ธุรกิจเซรามิคสูงขึ้น 10% ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กำไร “ลดลง”
สำหรับแนวทางการปรับตัวส่วนหนึ่งมีการ “ปรับราคา" ขึ้นตามกลไลตลาด เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมุ่งพัฒนา “นวัตกรรม” ที่มีมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้ามากขึ้น เพื่อให้ยอมจ่าย! เพิ่มขึ้นได้กับมูลค่าเพิ่มที่ได้รับ
“ต้นทุนพลังงานในปีนี้ ยังมีสัญญาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแค่ไม่ได้แรงเหมือนไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา หากต้นทุนพลังงานไม่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่า ราคาสินค้าไม่เพิ่มขึ้นมาก แต่สิ่งสำคัญที่มีผลทำให้ตลาดชะลอตัวคือภาวะเงินเฟ้อที่มีผลทำให้อำนาจในการซื้อของลูกค้าลดลง กระทบต่อตลาดโดยรวมในทุกกลุ่มสินค้า รวมถึงปัญหาหนี้ภาครัฐบาลและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น"
นำพล ประเมินต่อว่า ปีนี้ความต้องการใช้สินค้ากระเบื้องเซรามิกส์โดยรวมจะยังคงใกล้เคียงกับปี 2564 โดยภาวะเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์โอมิครอนรอบนี้ไม่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา ดังนั้นภาพรวมปีนี้ไม่น่าจะเลวร้ายเหมือนช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี บริษัทเน้นการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรเพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต และควบคุมปริมาณสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ด้วยการปรับสัดส่วนการขายสินค้าไปยังตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อยทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการปรับระดับการผลิตและการนำเข้าสินค้าให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการของตลาด
คาดว่า ปีนี้รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 5% จากปี2564 ที่มีรายได้ 11,194 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 10% มีกำไรสุทธิรวม 584 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 164 ล้านบาท เป็นผลจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นและจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมหนองแค