“ทีดีอาร์ไอ”ถอดบทเรียนต่างชาติ จัดการขยะอุตสาหกรรม “อีอีซี”
การจัดการขยะทั้งขยะในชุมชนและขยะอุตสาหกรรม เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วโลก รวมทั้งในพื้นที่อีอีซี โดยเป็นส่วนสำคัญที่จะมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ และเป็นประเด็นที่นักวิชาการเสนอแนะให้มีการนำเอาบทเรียนจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับมูลนิธิเสนาะ อูนากูล สถาบันเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ “จิสด้า” ทำรายงานสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านอื่นในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และทำรายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนภาคตะวันออก พ.ศ.2564
กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ นักวิจัยในโครงการฯ ระบุว่า จากการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลภาคตะวันออกได้หารือชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบประเด็นที่จะกระทบการพัฒนาและความยั่งยืนของอีอีซีหลายมิติที่ภาครัฐควรสนใจวางแผนแก้ปัญหาเป็นระบบทั้งสิ่งแวดล้อม การจัดการน้ำ การจัดการขยะ การวางแผนการศึกษา และการกระจายรายได้ให้ชุมชนอย่างเป็นธรรม
ทั้งนี้ประเด็นที่เป็นเสียงสะท้อนจากพื้นที่ให้เร่งแก้ไขปัญหาและวางแผนจัดการอย่างเป็นระบบ คือ ขยะทั้งขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม ซึ่งเต้องวางแผนเพราะการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) จะขยะเพิ่มขึ้นเร็วตามการขยายตัวของเมืองและเศรษฐกิจ
ส่วนขยะอุตสาหกรรมในอีอีซีจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากแบบจำลอง (GRA) เพื่อคาดการณ์แนวโน้ม 20 ปีข้างหน้า (2564-2583) โดยใช้ข้อมูลการจัดเก็บขยะอุตสาหกรรมรายจังหวัดของกรมโรงงานอุตสาหกรรมปี 2553-2563 พบว่า 3 จังหวัดในอีอีซี จะมีปริมาณขึ้นต่อเนื่อง และเมื่อรวม 3 จังหวัด จะมีปริมาณขยะอุตสาหกรรมในปี 2583 รวม 8.6 ล้านตัน แบ่งได้ดังนี้
จ.ฉะเชิงเทรา จะมีปริมาณขยะอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นปีละ 4.23% ทำให้ในปี 2583 ปริมาณขยะอุตสาหกรรมใน จ.ฉะเชิงเทรา มีปริมาณ 651,141 ตัน
จ.ชลบุรี มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของขยะอุตสาหกรรมเฉลี่ย 5.58 % ต่อปี และปี 2583 จะมีปริมาณขยะอุตสาหกรรม 2.42 ล้านตัน
จ.ระยอง มีปริมาณขยะอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.37% ต่อปี ในปี 2583 จะมีปริมาณขยะอุตสาหกรรม 5.56 ล้านตัน
“แม้ว่าขยะอุตสาหกรรมในอีอีซีส่วนใหญ่เป็นขยะไม่อันตราย แต่ปริมาณขยะที่มีมากเกินศักยภาพของโรงกำจัดกากอุตสาหกรรม จึงต้องวางแผนแก้ไขอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง”
นอกจากนี้มีตัวอย่างการจัดการขยะอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ที่สามารถนำมาใช้กับอีอีซี ได้แก่
1.การจัดการขยะอุตสาหกรรมในเกาหลีใต้ ในอดีตรัฐบาลเกาหลีใต้ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบของคอมเพล็กซ์อุตสาหกรรม (Industrial Complexes: IC) ทำให้คอมเพล็กซ์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจาก 2 แห่ง ในปี 2503 เป็น 1,124 แห่ง ในปี 2558 มีพื้นที่รวม 1,400 ตร.กม. และมีบริษัทที่อยู่ในคอมเพล็กซ์อุตสาหกรรม 80,000 บริษัท
รวมทั้งมีขยะและของเสียจากกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ปรับกฎระเบียบเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะกฎระเบียบเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น โรงบำบัดของเสีย และปี 2533 ออก พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (APEFIS) กำหนดให้เน้นส่งเสริมการผลิตที่สะอาด และใช้ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมาตรฐาน ISO 14001 มาใช้ในเกาหลีใต้
ควบคู่กับการนำแนวคิดอุตสาหกรรมแบบพึ่งพา (Industrial Symbiosis : IS) มาใช้ควบคู่แนวคิดสวนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนทรัพยากรตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยนำของเสียจากกระบวนการผลิตของบริษัทหนึ่งไปเป็นวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตอีกบริษัทในสวนอุตสาหกรรม
ดังนั้น จะใช้ประโยชน์ของเสียหรือขยะอุตสาหกรรมได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นระบบปิดที่เน้นการลดการสร้างของเสีย สารมลพิษและพลังงานที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และช่วยให้เกิดการลงทุนในภาคพลังงาน 691,000 ล้านวอน ช่วยให้แต่ละบริษัทประหยัดเงิน 857,000 ล้านวอน และสร้างรายได้ใหม่ 1.3 ล้านล้านวอน และลดขยะอุตสาหกรรม 6.85 ล้านตัน
2.การจัดการขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กรณีศึกษาเขตเศรษฐกิจ Dube Trade Port (DTP) ในประเทศแอฟริกาใต้ พื้นที่ดังกล่าวเคยประสบปัญหาด้านการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ ต่อมาได้มีการวางแนวทางในการแก้ไข โดยได้จัดให้มีศูนย์กลางสำหรับการคัดแยกขยะและของเสีย ซึ่งขยะและของเสียจะถูกรวบรวมโดยบริษัทรับเหมาเอกชนและส่งไปโรงคัดแยกขยะส่วนกลางเพื่อกำจัด แบ่งขยะเป็น 2 ประเภท คือ ขยะทั่วไปและขยะอันตราย มีการจำแนกขยะเป็นประเภทที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้และประเภทที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ไม่ได้
รวมทั้งส่งเสริมการรีไซเคิล ลดการสร้างและปล่อยขยะสู่สิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานและกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยมีระบบหรือเทคโนโลยีใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดของเสีย เช่น การใช้ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงานภายใน Dube Trade Port การใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพจัดการของเสีย เช่น การย่อยแบบไม่ใช้ออกซิเจน การหมัก การทำปุ๋ยหมัก และการแปรรูปด้วยความร้อน การนำขยะมาแปรรูปเป็นพลังงาน
นอกจากนี้ ยังรวบรวมและจัดการข้อมูล ปริมาณของเสียและประเภทของเสียต่อเนื่อง ซึ่งช่วยจัดการของเสียได้มีประสิทธิภาพ และใช้มาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมแต่ละพื้นที่คัดแยกขยะ ซึ่งเป็นการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางทำให้ปริมาณขยะภาพลดลงจาก 280.1 ตัน ในปี 2556-2557 เหลือ 152.1 ตัน ในปี 2558-2559 และปริมาณขยะที่ถูกส่งไปฝังกลบมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ปริมาณขยะที่ถูกรีไซเคิลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนำไปสู่ระบบการจัดการขยะที่มีมาตรฐานและทั่วถึงในเขตเศรษฐกิจพิเศษ