ธุรกิจแบบไหน? เหมาะติดตั้ง "สถานีชาร์จอีวี”

ธุรกิจแบบไหน? เหมาะติดตั้ง "สถานีชาร์จอีวี”

ด้วยเทรนด์ทั่วโลกต่างมุ่งเป้ามาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น หนึ่งมาตรการที่รัฐให้ความสนใจและสนับสนุนคือ การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้คนปรับมาใช้รถอีวีคงหนีไม่พ้นสถานีชาร์จ

นายพิชิต พงษ์ประเสริฐ Team Lead EGAT EV Business Solutions การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ทิศทางรถอีวี ในประเทศไทยปีที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดีมาก โดยปัจจัยหลักเกิดจากที่โลกกำลังตื่นตัวจากภาวะโลกร้อน ทุกประเทศต่างร่วมมือกันเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ส่วนใหญ่ตั้งเป้าปี2050ตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2065

จากข้อมูลการใช้รถอีวีปี2563-2564 การใช้รถอีวีแบตเตอรี่100% มีจำนวนเพิ่มขึ้น 100% จากจำนวน 1,900 คันเพิ่มเป็น 3,800 คัน ในขณะที่รถปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ที่ใช้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้าปัจจุบันจำนวน 30,000 คัน โดยปีที่ผ่านมายอดขายรวม 7,000 คัน  

อีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้รถอีวีและช่วยสร้างมูลค่าต่อยอดธุรกิจเดิมคงหนีไม่พ้น ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร สปา ร้านกาแฟ สนามกอล์ฟ มหาวิทยาลัย คอนโดมิเนียม เป็นต้น ที่ลูกค้ามักจะใช้เวลาเกินกว่า 1 ชม. และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจเดิม ที่เป็นหัวชาร์จ AC ที่เรียกว่าการชาร์จแบบธรรมดา (Normal Charge) ที่เริ่มต้นลงทุนชาร์จเจอร์ละหลักแสนบาท คืนทุน 6-8 ปี

ส่วนธุรกิจที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการไม่นานแนะนำให้ติดตั้งหัวชาร์จแบบ DC เช่น ปั๊มน้ำมัน และอยู่ถนนหลัก งบลงทุนเบื้องต้น 1.3 ล้านบาท

นางสาววรางคณา อินเอียว Digital Product Innovation EGAT EV Business Solutions กฟผ. กล่าวว่า ทีมได้พัฒนาระบบบริหารจัดการเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า BackEN หรือ Backend EGAT Network Operator Platform แอปพลิเคชั่นสัญชาติไทยโดยกฟผ.ที่จะเชื่อมโยงระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด

ถือเป็นตัวช่วยสำหรับเจ้าของสถานีชาร์จ อีกทั้ง เจ้าของสถานีสามารถบริหารจัดการได้ ใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชัน EleXA ทั้งการค้นหาสถานีชาร์จ จองหัวชาร์จ และจ่ายเงิน ซึ่งเจ้าของสถานีชาร์จจะดูสถานะ สถานี รวมถึงสตรวจสอบปัญหาต่างๆผ่านแอปพลิเคชั่น โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองพนักงาน

นอกจากนี้ เจ้าของธุรกิจสามารถตั้งราคาขายไฟแต่ละหัวชาร์จได้ โดยอนาคตจะตั้งระดับเวลาการจองคิวล่วงหน้า พร้อมนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อการบริหารจัดการ อีกทั้งยังสามารถดูยอดขายปริมาณไฟที่จ่าย และออกใบกำกับภาษีด้วยแอปพลิเคชั่นส่งให้ลูกค้าผ่านทางอีเมลได้ทันที นอกจากนี้ ทางกฟผ.ยังจะช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดียว่าปัจจุบันมีสถานีชาร์จที่ติดตั้งโดยกฟผ.อยู่ที่จุดบริการไหนบ้าง เพื่อให้ร้านค้าต่างๆ ได้รับบริการจากลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อีกทั้ง การขอติดตั้งสถานีชาร์จอีวีจะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งลูกค้าสามารถขอคำปรึกษาจากทีมกฟผ.ได้ เพื่อดูแลทั้งสถานที่ ทำเล และคาดการณ์ว่าหากติดตั้งแล้วจะสนับสนุนธุรกิจเดิมหรือไม่ อีกทั้ง ตัวชาร์จเจอร์มีหลายยี่ห้อต้องได้รับมาตรฐานความปลอดภัย เป็นต้น