"Quant VI" สูตรลงทุนฉบับ VI เฟ้นหุ้นดีราคาถูก ถือยาว สร้างผลตอบแทนชนะตลาด
บลจ.จิตตะ เวลธ์ เปิดศาตร์การลงทุนด้วย "Quant VI" กับการคัดหุ้นดีราคาถูก สู่สูตร QVI ของ Warren Buffett หนุน Jitta Ranking สร้างผลตอบแทนทบต้นชนะตลาด
การลงทุนในหุ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนชนะตลาด ล้วนเป็นเป้าหมายของนักลงทุนทุกคนที่คาดหวัง โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนเน้นคุณค่า หรือ VI (Value Investor) ที่เน้นลงทุนระยะยาวจริงๆ
โดยปกติ "หุ้น" ถือเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากหรือพันธบัตรอยู่แล้ว แต่หากลงทุนระยะยาว โดยเลือกลงทุนหุ้นดีราคาถูกธุรกิจมีอนาคต ย่อมหมายถึงโอกาสที่ราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้นตามผลประกอบการที่เติบโตในระยะยาวอยู่แล้ว
เพราะนักลงทุน VI เชื่อว่า "การลงทุนระยะยาว" มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนระยะสั้น แต่การลงทุนหุ้นในระยะยาว จำเป็นต้องทำการบ้านอย่างหนัก โดยเฉพาะการแกะงบการเงินที่ออกทุก 3 เดือนหรือรายไตรมาส ซึ่งต้องทำซ้ำๆ ทุกไตรมาสตลอดเวลาที่คุณลงทุนหุ้นตัวนั้นๆ เพื่อที่จะได้รู้ว่า หุ้นที่ถืออยู่ยัง "เติบโต" ดีอยู่ หรือกำลังจะ "แย่ลง" หากกิจการแย่ลงก็จำเป็นตัดขายทิ้ง ซึ่งขาดทุนก็ต้องยอม
นักลงทุน VI หากมีการลงทุนแบบทบต้นลงทุนไปเรื่อยๆ มีวินัยการลงทุนที่ดี มีความสามารถในการอ่านงบการเงิน วิเคราะห์โมเดลธุรกิจได้ เพื่อหาราคาเหมาะสมในการลงทุน และสิ่งสำคัญ "มีการกระจายความเสี่ยง" ต้องยอมรับว่า การลงทุน VI จึงเป็นเหมือน "การวิ่งมาราธอน" และมีศาสตร์การลงทุนที่น่าสนใจ "Quant VI" มาเครื่องมือช่วยคัดหุ้นดีราคาถูก ถือยาวก็ยังสร้างผลตอบแทนชนะตลาดได้
Quant VI กับการคัดหุ้นดีราคาถูก
ใครยังไม่รู้จักศาสตร์การลงทุนประเภทนี้ "ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.จิตตะ เวลธ์ กล่าวว่า Quant VI หรือ QVI หรือ เรียกว่า Quantitative Value Investing ซึ่งกลงทุนชื่อดังระดับโลกทั้งหลาย ต่างก็ต้องนั่งทำการบ้านวิเคราะห์คัดเลือกหุ้นดีมีมูลค่าเหมาะสมที่จะลงทุนกันเองมาก่อน โดยการใช้ข้อมูลตัวเลขที่มีอยู่ในงบการเงิน แล้วมาคิดค้นศาสตร์การลงทุนขึ้นมา
QVI บางคนอาจจะรู้จักในอีกชื่อหนึ่งคือ "Systematic Value Investing" แปลเป็นไทยง่ายๆ คือ "การลงทุนเน้นคุณค่าเชิงปริมาณ" ซึ่งจะตัดเรื่องเชิงคุณภาพออกไป เพราะไม่ได้พูดคุยกับผู้บริหาร หรือดู Business Model
QVI เป็นการวิเคราะห์เชิงปริมาณแบบลึกๆ หลักๆ จะใช้ตัวเลขในงบดุล งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด และมองย้อนหลังไปในอดีตไม่ต่ำกว่า 10 ปีด้วย เพื่อค้นหาว่าธุรกิจนั้นๆ น่าลงทุนหรือไม่ และมีอนาคตเติบโตหรือกำลังเข้าสู่ขาลง การค้นหามูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจที่ต้องการเข้าไปลงทุน ช่วยตัดสินใจได้ว่า ราคาเหมาะสมที่ควรซื้อคือเท่าไหร่ เพื่อลดความเสี่ยงขาดทุน เพราะใครๆ ก็อยากเลือกซื้อธุรกิจในราคาที่ถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริงกันทั้งนั้น
ศาสตร์การลงทุนแบบ QVI มีมานานแล้วและมีการใช้แพร่หลายมาก เริ่มจาก Benjamin Graham อาจารย์ของ Warren Buffett ได้ร่วมกับ David Dodd เขียนคัมภีร์การลงทุนเน้นคุณค่าชื่อ Security Analysis
เพราะเห็นว่านักลงทุนส่วนใหญ่เข้าถึงการวิเคราะห์หุ้นเชิงคุณภาพได้ยากมาก จำเป็นต้องใช้ความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลเชิงลึกมากพอควร จึงจะคาดการณ์อนาคตของบริษัทได้แม่นยำ เขาจึงเสนอวิธีที่ง่ายกว่า คือ การลงทุนในธุรกิจที่ธรรมดาในราคาถูก หรือต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง เมื่อเทียบกับผลประกอบการในอดีต เป็นการคำนวณจากงบการเงินของบริษัท
Benjamin Graham ได้สร้างสูตรการลงทุน QVI เรียกว่า Net-Net Working Capital คือ ดูทรัพย์สินที่ใกล้เคียงเงินสดมากที่สุด ซึ่งจะประกอบด้วย
• เงินสด กับเงินลงทุนระยะสั้น ที่สามารถเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินสดได้ง่าย เวลาที่เลิกกิจการไปก็ยังมีเงินก้อนนี้อยู่
• AR (Account Receivable) หรือ ลูกหนี้การค้า ซึ่งควรจะเก็บเงินจากลูกค้าได้อย่างน้อย 3 ใน 4 หรือเท่ากับ 75%
• Inventory หรือ สินค้าคงคลัง อาจมีผุพังเสียหายตามสภาพ คิดเป็นสัดส่วนแค่ 50% พอ
• Total Liabilities หรือ หนี้สินรวมของบริษัทนั้นๆ
หลังจากนั้นให้เอาตัวเลขของเงินสด เงินลงทุนระยะสั้น ลูกหนี้การค้าและสินค้าคงคลังตามสูตรข้างต้น มาบวกรวมกันและลบด้วยหนี้สินรวม ก็จะได้มูลค่าที่เหมาะสมของกิจการนั้นๆ
แต่เท่านั้นยังไม่พอ ถ้าอยากได้หุ้นที่ราคาถูกและเสี่ยงน้อยที่สุด เขากำหนดว่า ให้ซื้อที่ราคา 2 ใน 3 ของ Net-Net Working Capital ซึ่งสูตรนี้ Warren Buffett ก็นำมาใช้การหาหุ้นดีราคาถูก และบอกเหมือนกันว่า ควรเอาเงิน 60 เซนต์ ไปซื้อธนบัตร 1 ดอลลาร์
ซึ่งผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นต่อปี จากสูตรหาหุ้นราคาถูกแบบนี้ คือ 29.4% ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2513 – 2526 เทียบกับ S&P 500 ที่ทำผลตอบแทนได้ 11.5% ในช่วงเวลา 13 ปี
สูตรการลงทุนของ Benjamin Graham เน้นหุ้นราคาถูก ให้ความสำคัญกับการเพิ่มกำไรและลดความเสี่ยงเป็นที่สุด ด้วยการแนะนำให้ถือหุ้นจำนวนไม่ต่ำกว่า 20-30 ตัว เพราะหากหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมีปัญหา ยังมีหุ้นที่เหลือสร้างผลตอบแทนให้ได้ เขาเชื่อมั่นกับข้อมูล ‘ของจริงจากตัวเลข(งบ)’ ซึ่งไม่หลอกใครแน่
สูตร QVI ของ Benjamin Graham เป็นที่รู้จักแพร่หลายและเรียกว่าเป็นกลยุทธ์ ‘ก้นบุหรี่’ หรือ ‘Cigar Butt’ ที่มีนักลงทุนนำไปประยุกต์ใช้มากมาย ต่างคนต่างก็ ‘ปรับ สูตร’ ให้เข้ากับสไตล์ของตนเอง
อีกสูตรที่ได้รับความนิยมอย่างมาก คิดค้นโดย Joel Greenblatt (จากหนังสือชื่อ The little book that beats the market) ได้ต่อยอดการลงทุนสไตล์ Cigar Butt โดย Joel ไม่ได้ดูเฉพาะหุ้นราคาถูกอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องเป็นหุ้นดีด้วย เพราะเชื่อว่าธุรกิจที่กำลังเติบโต อาจจะไม่ต้องซื้อในราคาที่ถูกมากนักก็ได้ จึงได้มีการเพิ่มข้อมูลด้าน ‘คุณภาพ’ ของธุรกิจเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย เผื่อเป็นกันชนไว้ ช่วยลดโอกาสขาดทุน
ต่อยอด QVI ฉบับต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนชนะตลาด
สูตร QVI ของ Joel Greenblatt ถูกเรียกกันว่า ‘สูตรมหัศจรรย์’ หรือ ‘Magic Formula: MF’ โดยได้วัดศักยภาพในการทำกำไรของธุรกิจ ด้วยผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) และวัดความถูกแพงของหุ้นด้วยอัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (ค่า P/E) แล้วนำมาจัดอันดับ ‘คุณภาพดีสุดแต่ราคาต่ำสุด’ หรือ ‘ROE สูง P/E ต่ำ’ และเลือกหุ้น 30 ตัวที่เข้าเกณฑ์ที่สุด โดยซื้อตั้งแต่ต้นปี และถือให้ครบปี แล้วปรับพอร์ต โดยใช้หลักเกณฑ์เดิม
‘สูตรมหัศจรรย์’ สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้น 30.8% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2531 – 2557 หรือ 17 ปี ซึ่งชนะดัชนี S&P500 ที่ทำได้ประมาณ 12.4% ต่อปีเท่านั้น
ในประเทศไทย ดร. ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา ได้ลองใช้สูตร Magic Formula กับตลาดหุ้นไทย ซึ่งลงทุนในช่วงปี 2539 -2553 จะดูค่า P/E ของหุ้นนั้นๆ มีระดับน้อยกว่า 10 เท่า อัตราส่วนราคาปิดต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (P/BV) อยู่ที่ระดับน้อยกว่า 1 เท่า และผลตอบแทนเงินปันผลมากกว่า 3% พบว่า ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นต่อปีจากสูตรนี้คือ 43.8% ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 14 ปี เทียบกับ SET TRI ที่ทำผลตอบแทนได้ 2.4% ก็ถือว่า ‘มหัศจรรย์’ จริงๆ
สูตร QVI ของ Warren Buffett ไม่พูดถึงไม่ได้
"ตราวุทธิ์" กล่าวว่า บลจ. ยึดหลักลงทุนของ Warren Buffett ที่ว่า ‘Buy a wonderful company at a fair price’ ซึ่งจะมี Ratio ของหุ้นหลายตัวมาก เพื่อบ่งบอกคุณภาพของกิจการหุ้นนั้นๆ ไม่ใช่ดูแค่ 2-3 ตัวเหมือน MF และดร.ไพบูลย์
สูตร QVI ของ Warren Buffett จะดูการเติบโตของรายได้ กำไรสุทธิ กระแสเงินสด เงินลงทุน ผลตอบแทนของส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) การซื้อหุ้นคืน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นตัวที่บอกได้ว่า ธุรกิจนี้แข็งแกร่งมาก ดีมาก
หากลงทุนด้วยวิธีนี้ ซึ่งได้รับการพิสูจน์มายาวนานจากการลงทุน 50-60 ปีแล้ว โดยผลตอบแทนในช่วง 50 ปี คือ ปี 2508 – 2558 ดัชนี S&P500 ทำผลตอบแทนทบต้นได้ 9.7% ต่อปี ซึ่งเงินก็เติบโต 100 – 200 เท่าแล้วในช่วง 50 ปีนั้น แต่ Warren Buffett ทำผลตอบแทนทบต้น 19.2% ซึ่งโตเป็นแสนเท่าได้ ถือว่า "ชนะตลาดสูงมาก"
นำมาสู่ การคัดกรองหุ้น Jitta Ranking ผ่าน QVI
"ตราวุทธิ์" กล่าวว่า ดังนั้น แพลตฟอร์ม Jitta ได้นำเทคโนโลยี AI มาวิเคราะห์คำนวณตามหลักการของ Warren Buffett เพื่อช่วยลดเวลาการกรองหุ้นหรือนั่งไล่ดู Ratio ต่างๆ ด้วยตัวเองได้มากครับ นักลงทุนสามารถไปดูที่ผลลัพธ์ได้เลยว่า "หุ้นนี้ดีหรือไม่ ราคาถูกหรือไม่" จึงค่อยมาดู Ratio ต่างๆ เพิ่ม เป็นการดูแบบ Reverse Engineer หรือย้อนกลับ ซึ่งสมัยก่อนผมต้องมานั่งดู Ratio ต่างๆ ก่อน แต่แพลตฟอร์ม Jitta ได้กรองหุ้นมาแล้ว ลดความยุ่งยากได้มาก
บนแพลตฟอร์ม Jitta ได้ใช้ QVI เช่นกัน โดยนำงบการเงินย้อนหลัง 10 ปี มาวิเคราะห์ด้วย Ratio ต่างๆ ผ่านเทคโนโลยี AI เพื่อคัดหุ้นดี ราคาเหมาะสม ด้วยการคิดค่า Jitta Score และ Jitta Line เพื่อให้เห็นเป็นตัวเลขที่จับต้องได้ ซึ่งต้องดูทั้ง 2 ตัวนี้ควบคู่กัน
1. Jitta Score เป็นตัวบอกคุณภาพของกิจการด้วยการคำนวณ Financial Ratio ผ่าน 5 หมวดด้วยกัน ได้แก่ เรื่องของแบรนด์ที่แข็งแกร่ง มีการประหยัดต่อขนาด มีรายรับเป็นเงินสด มีฐานะการเงินที่มั่นคง และมีผู้บริหารที่ยอดเยี่ยม ซึ่งหากได้คะแนนออกมาสูงจากคะแนนเต็มสิบ จะถือว่าเป็นกิจการที่ดีมาก รายได้ กำไรเติบโตสม่ำเสมอ มาร์จิ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีกระแสเงินสดดี นี่คือหุ้นดี แต่ยังเข้าซื้อเลยไม่ได้ ต้องดูเรื่องของราคาหุ้นตอนซื้อด้วย เพราะหลักการของ Warren Buffett ธุรกิจที่ดี อาจเป็นการลงทุนที่แย่ หากซื้อในราคาที่แพงเกินไป
2.Jitta Line เป็นตัวบอกมูลค่าที่เหมาะสมของกิจการ เช่น ถ้าเราจะซื้อกิจการบริษัทนี้ หุ้นนี้ควรจะต้องซื้อราคาที่เท่าไหร่ ซึ่งก็คือหาราคาเหมาะสม (Fair Value) ของหุ้นนั้นๆ เพราะปกติถ้ากิจการมีการขยายตัว มีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นและนำไปลงทุนต่อ ราคาหุ้น Fair Value ก็ควรจะเพิ่มขึ้นทุกปีด้วย
นี่คือการวิเคราะห์เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อคัดกรอง "Jitta Ranking" ออกมา หลังจากการเอาหุ้นทั้งหมดที่วิเคราะห์มาเรียงตามค่าของ Jitta Score และ Jitta Line จัดเรียงตั้งแต่หุ้นดี ราคาถูก ลงมาถึงหุ้นแย่ ราคาแพง และคัดหุ้นที่อยู่ใน Top Rank 30 ตัวแรก มาเปิดให้นักลงทุนสามารถเลือกไปลงทุน
จากการทำ Back Test ด้วยการซื้อหุ้น Top Rank 30 ตัวแรก ตั้งแต่ปี 2552 -2564 พบว่า ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นต่อปี มีดังนี้
-ตลาดหุ้นสหรัฐฯ หุ้นที่ติดอันดับ Jitta Ranking พบว่า สามารถสร้างผลตอบแทนทบต้นต่อปี 16.76% เทียบกับตลาด S&P 500 ได้ 13.65%
-ตลาดหุ้นไทย หุ้นที่ติดอันดับ Jitta Ranking สามารถสร้างผลตอบแทนทบต้นต่อปี 23.05% เทียบกับตลาด SET 50 อยู่ที่ 9.17%
- ตลาดหุ้นเวียดนาม หุ้นที่ติดอันดับ Jitta Ranking สามารถสร้างผลตอบแทนทบต้นต่อปี 19.20% เทียบกับตลาด VNM อยู่ที่ 12.73%
-ตลาดหุ้นจีน พบว่า หุ้นที่ติดอันดับ Jitta Ranking สามารถสร้างผลตอบแทนทบต้นต่อปี 19.60% เทียบกับตลาด Shanghai Shenzhen CSI 300 ได้ 7.99%
-ตลาดหุ้นฮ่องกง พบว่า หุ้นที่ติดอันดับ Jitta Ranking สามารถสร้างผลตอบแทนทบต้นต่อปี 25.27% เทียบกับตลาด Hangseng ได้ 3.81%
- ตลาดญี่ปุ่น หุ้นที่ติดอันดับ Jitta Ranking สามารถสร้างผลตอบแทนทบต้นต่อปี 16.45% เทียบกับตลาด TOPIX อยู่ที่ 6.68%
เห็นได้ว่า Jitta Ranking สามารถสร้างผลตอบแทนทบต้นต่อปีให้สูงกว่าตลาดหุ้นได้อย่างชัดเจน
สำหรับสูตร QVI หัวใจสำคัญ คือ
1. คัดกรองด้วยหลักการ ‘ซื้อของดี ราคาถูก’
2. กระจายความเสี่ยงให้มากพอโดยกบลจารลงทุนในหุ้นหลายๆ ตัว ประมาณ 30 หุ้น
3. ปรับพอร์ตเพื่อให้มีแต่หุ้นดีราคาถูกอยู่เสมอ เช่น Benjamin Graham ปรับทุก 2 ปี ส่วน Magic Formula และ ดร.ไพบูลย์ ปรับทุกๆ 1 ปี และ Jitta ปรับทุกๆ 3 เดือน
4. การลงทุนอย่างมีวินัยและมากกว่า 10 ปี ขึ้นไป
อีกสิ่งที่ "ตราวุทธิ์" อยากบอกถึง "ข้อดี"ของการลงทุนสูตร QVI คือ สามารถตัดเรื่องของอารมณ์การลงทุนออกไปได้ ซึ่งจะไม่มีการยึดติดกับการขึ้น-ลงของราคาหุ้นช่วงระหว่างวันเลย ทำให้เราสามารถหลุดพ้นจากวงจรอารมณ์ในการลงทุน และก้าวข้ามกับดักของความโลภ ความกลัว และความผันผวนในตลาดหุ้นได้
"ตราวุทธิ์" ขอสรุปทิ้งท้ายว่า QVI เป็นการลงทุนโดยอาศัยความเข้าใจตัวเลขงบการเงิน มาแปลงเป็นสูตรในการลงทุนหุ้นดี ราคาถูก แต่ต้องมีวินัยลงทุนระยะยาว และกระจายความเสี่ยงที่มากพอ ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมีปีที่ติดลบและปีที่เป็นบวก มีหุ้นที่กำไรและมีหุ้นที่ขาดทุน แต่สุดท้ายในระยะยาว พอร์ตการลงทุนจะเติบโตอย่างยั่งยืน