“เอแอลที” ลุยติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป ตั้งเป้าลูกค้าปีนี้ 50 โครงการใหญ่
“เอแอลที” ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปตั้งเป้าปีนี้ 50 โครงการ เล็งกลุ่ม”ลูกค้าโรงงาน-สำนักงาน-หน่วยงานรัฐ” ประเดิมต้นปี ติดตั้งให้บริษัท ไท่ซาน คอร์เปอเรท ธุรกิจค้าส่ง-ปลีกขนาดใหญ่ ของจังหวัดราชบุรี
นางสาวปรียาพรรณ ภูวกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทเอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) (ALT) เปิดเผยว่าปีที่ผ่านมา บริษัทได้มีการให้บริการด้านธุรกิจการจำหน่ายและติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar Rooftop ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก ทั้งจากลูกค้าที่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง ในการติดตั้ง Solar Rooftop รูปแบบ Private PPA
“กระแสตอบรับ Solar Rooftop ดีมาก เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่บริษัทได้เริ่มมาทำธุรกิจด้านนี้อย่างจริงจัง โดย ALT เริ่มต้นในกลุ่มลูกค้ากิจการขนาดกลาง และขนาดเล็กที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่สูงมากนัก”
โดยรูปแบบ Private PPA (Private Power Purchase Agreement) นี้ ALT จะเป็นผู้ลงทุนในอุปกรณ์ การติดตั้ง แผงโซล่าร์บนอาคาร รวมถึงดูแลรักษาระบบให้ทั้งหมด ซึ่งผู้ประกอบการจ่ายค่าไฟฟ้า (ที่ผลิตจากแผงโซลาร์) รายเดือนตามระยะสัญญา 15 ปี โดยอัตราค่าไฟฟ้าจะลดลงกว่า 10-30% และมั่นใจได้ว่าอำนาจในการผลิตไฟฟ้าที่ใช้งานเป็นของตัวเอง อีกทั้งยังเป็นพลังงานสะอาด ดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเมกะเทรนด์ของโลกในขณะนี้ โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนแต่อย่างใด
ส่วนแผนการดำเนินงาน ในปีนี้ ALT ตั้งใจว่าจะบุกตลาดทั้งในกลุ่มเอกชน และขยายฐานลูกค้าไปยังหน่วยงานภาครัฐ โดยประสานงานร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง ในรูปแบบเป็นผู้ลงทุน Private PPA โดยมีเป้าหมายในปีนี้ ALT จะต้องวางพื้นฐานระบบ Solar rooftop ให้ได้มากกว่า 50 โครงการ
นอกจากนี้กลุ่มลูกค้าหลักจะอยู่ในกลุ่มโรงงาน และสำนักงาน ที่มีอัตราค่าไฟฟ้าตั้งแต่ 1 แสนบาท/เดือนขึ้นไป โดยจะเน้นการติดตั้ง Solar rooftop ในรูปแบบ Private PPA เป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ระหว่างเจรจา มากกว่า 10 โครงการ ทั้งในส่วนภาครัฐ และเอกชน
นางสาวปรียาพรรณ กล่าวว่า สำหรับจุดแข็งของ ALT ในธุรกิจ Solar rooftop ประเด็นแรกมาจากการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงในการติดตั้ง โดยในส่วนของแผ่น PV เราเลือกใช้แบรนด์ Q cells ซึ่งเป็นแบรนด์ที่อยู่ในกลุ่ม Tier 1 และได้รับการยอมรับด้านประสิทธิภาพสูงสุดในกลุ่มเดียวกันเป็นแบรนด์ที่ได้วิศวกรรมจากประเทศเยอรมัน ผลิตในประเทศเกาหลีใต้ มีจุดเด่นเรื่องความปลอดภัย และประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่า ขณะที่ inverter เราเลือกใช้แบรนด์ Huawei ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมสูงสุดในกลุ่มของ inverter
นอกจากนี้ ALT ยังมีความยืดหยุ่นในการปรับรูปแบบการซื้อขายไฟ หรือการลงทุน และความคุ้มทุนเพื่อให้เหมาะกับธุรกิจของลูกค้า รวมทั้งการเข้าถึงกลุ่มกิจการขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง และต้องการลดค่าไฟฟ้าลง โดยที่ไม่ต้องการลงทุน และเป็นภาระในการดูแลรักษาระบบเอง การให้คำปรึกษาและเข้าสำรวจหน้างานอย่างรวดเร็ว รวมถึงการออกแบบระบบให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้า
ล่าสุดบริษัท ได้ลงทุนติดตั้ง Solar Rooftop รูปแบบ Private PPA ให้กับบริษัท ไท่ซาน คอร์เปอเรท แล้วเสร็จเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทมีภาระค่าไฟฟ้าประมาณ 200,000-300,000 บาทต่อเดือน หรือใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 200.7 กิโลวัตต์
นายวินิทร ตั้งวิรุฬห์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไท่ซาน คอร์เปอเรท จำกัด กล่าวว่า บริษัททำธุรกิจร้านค้าส่งเน้นตลาด 20 บาททุกชิ้น ที่นำเข้าจากประเทศจีนเป็นหลัก โดยเปิดดำเนินการมานานประมาณ 5-6 ปีแล้ว มีสินค้าที่บริษัทจัดจำหน่ายอยู่ไม่ต่ำกว่า 2 แสนรายการ ซึ่งผลิตภัณฑ์สินค้าทุกอย่าง 20 บาทถือเป็นตลาดมีกระแสตอบรับที่ดี เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่จัดจำหน่ายเป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และคนจะตัดสินใจซื้อสินค้าง่าย เนื่องจากมีราคาถูก ทำให้ตลาด 20 บาทยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะแม้ว่าจะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ตลาด 20 บาทก็ยังสามารถเติบโตได้ดี
ส่วนสาเหตุที่ติดตั้งแผงโซลาร์ รูฟท็อป นั้น เพราะมองว่าจะช่วยประหยัดใช้ไฟฟ้าได้มาก เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าราว 3 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งถือเป็นต้นทุนสัดส่วนราว 20-30% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดเนื่องจากอาคารและคลังสินค้าติดแอร์ทั้งหมด
“ผมศึกษาเรื่องติดตั้งแผงโซลาร์มาซักพักแล้ว โดยมีความสนใจส่วนตัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และศึกษาข้อมูลจากเพื่อนๆ ในแวดวง ซึ่งก็เคยมีบริษัทอื่นมาติดต่อที่จะติดตั้งแผงโซลาร์ให้เหมือนกัน แต่พอพิจารณาเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ต่างๆ แล้ว ถือว่า ALT ให้ประโยชน์สูงสุด ถือว่ามีความเสี่ยงน้อยมาก เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้ไฟฟ้าแล้ว ที่สำคัญผมไม่ต้องลงทุนเองด้วย แถมทาง ALT ยังเป็นผู้มาดูแลรักษาให้ตลอดอายุสัญญาอีกด้วย รวมทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
ทั้งนี้ บริษัทฯ มองว่ารูปแบบ Private PPAเป็นรูปแบบที่ดี ต่างฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ทางบริษัทฯ ไม่ต้องลงทุนค่าใช้จ่ายใดๆ และได้รับผลตอบแทนในระยะยาว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่สนใจ เพราะช่วยลดต้นทุนได้จริง