3 แบงก์ ยื่นปล่อยกู้กองทุนน้ำมัน เล็งยืดเวลารับข้อเสนอเพิ่ม
กองทุนน้ำมันฯ ติดลบหมื่นล้าน 3 แบงก์ยื่นให้กู้เสริม เล็งต่อเวลารับข้อเสนอ มีกระแสเงินสดตรึง “ดีเซล-แอลพีจี” ได้ 3 เดือน “พลังงาน” เตรียมปรับสูตรดีเซลเหลือ “บี5” ชนิดเดียว ลดต้นทุนน้ำมันปาล์มแพงตรึงดีเซล 30 บาท จับตาประชุม “โอเปกพลัส” พรุ่งนี้ ประเด็นเพิ่มกำลังการผลิต
สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเมื่อราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์สูงสุดรอบ 7 ปี จากความกังวลความตรึงเครียดรัสเซีย-ยูเครน ในขณะที่ทั่วโลกกำลังจับตาดูการประชุมโอเปกพลัส วันที่ 2 ก.พ.2565 ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มกำลังการผลิตเพียงวันละ 0.4 ล้านบาร์เรล ในเดือน มี.ค.2565 และอาจทำให้ราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูง
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงฯ เตรียมแผนรองรับราคาพลังงานที่สูงขึ้น โดยคงมาตรการตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนดีเซลให้ราคาไม่เกินลิตรละ 30 บาท รวมทั้งตรึงราคาก๊าซหุงต้มที่ราคา 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ถึงวันที่ 31 มี.ค.2565
รวมทั้งพยายามเพิ่มสภาพคล่องกองทุน้ำมันเชื้อเพลิงให้เร็วที่สุดตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบขยายเพดานวงเงินกู้ไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันยังมีความจำเป็นต้องใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ เป็นเครื่องมือหลักในการรับมือ
3 ธนาคารยื่นปล่อยกู้
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ครม.เห็นชอบการขออนุมัติกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไม่ให้กระทบประชาชนไปเมื่อวันที่ 16 พ.ย.2564 หลังจากนั้นได้เปิดให้ธนาคารรัฐและเอกชนยื่นข้อเสนอดอกเบี้ยและเงื่อนไขในการปล่อนเงินกู้ให้กองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิง
ทั้งนี้ ได้ปิดรับเงื่อนไขในวันที่ 31 ม.ค.2565 เวลา 16.30 น. มีธนาคารให้ความสนใจและยื่นข้อเสนอ 3 ธนาคาร ซึ่งจะต้องตรวจสอบเงื่อนไขและข้อเสนออย่างรอบคอบ ในเบื้องต้นอาจจะต้องขยายระยะเวลาในการเปิดให้ธนาคารยื่นข้อเสนอในการปล่อยกู้ออกไปก่อน เพราะข้อเสนอของบางธนาคารจะต้องผ่านการประชุมของคณะกรรมการธนาคาร ซึ่งยังไม่กำหนดประชุมในช่วงนี้ ส่วนการเสนอขยายเวลาออกไปจะพิจารณาอีกครั้งว่าเลื่อนได้ถึงเมื่อใด
กองทุนน้ำมันอยู่ได้3เดือน
สำหรับสถานะเงินในกองทุนฯ ยังคงมีกระแสเงินสด 22,000-24,000 ล้านบาท และมีเงินไหลออกเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชนทั้งดีเซลและก๊าซหุงต้มราวเดือนละ 7,000 ล้านบาท โดยหากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงผันผวนอยู่และปรับตัวสูงขึ้นต่อไป จะทำให้กองทุนฯ ใช้กระแสเงินสดที่มีอุดหนุนราคาพลังงานได้ 3 เดือน และทำให้ยังมีเวลาที่จะให้ธนาคารที่ยื่นข้อเสนอจัดทำรายละเอียดให้ครบขั้นตอน
“การขยายเวลาก็ถือว่ายังทันอยู่ หากดูราคาน้ำมันที่ยังผันผวน และคาดการณ์ไว้ว่าจะเข้าสู่ฤดูหนาวราคาอาจจะลดลง แต่ด้วยปัญหาการเมืองต่างประเทศอาจส่งผลกระทบกับราคาน้ำมัน ดังนั้น กองทุนฯ ต้องเดินตามกระบวนการคือ กู้เงินมาช่วยพยุงราคาตามมติ ครม.เห็นชอบขยายกรอบวงเงินกู้ ที่จะกู้ก้อนแรก 20,000 ล้านบาทก่อน” แหล่งข่าว กล่าว
สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วันที่ 23 ม.ค.2565 ติดลบ 12,335 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 11,828 ล้านบาท และเงินบัญชีแอลพีจีติดลบ 24,163 ล้านบาท
เล็งลดเกรดดีเซลเหลือ“บี5”
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า วานนี้ (31 มี.ค.) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมกบง. ซึ่งเป็นการพิจารณาวาระเร่งด่วนในการดูแลราคาน้ำมันดีเซล โดยปรับลดสูตรผสมน้ำมันไบโอดีเซล (B100) จาก B7 ชนิดเดียว ให้เหลือเพียง B5 ชนิดเดียว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.-31 มี.ค.2565
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ในการปรับลดเหลือบี 5 จะต้องผ่านคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติก่อน ซึ่งกระทรวงฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และถ้ามีวิธีใดพยุงราคาน้ำมันเพื่อให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุดก็จะทำด้วยความรอบคอบ จึงต้องหาแนวทางออกร่วมกันหลายฝ่าย เพราะเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ซึ่งการปรับลดสูตรน้ำมันก็ยังไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลถูกลง แต่จะเป็นการช่วยลดภาระเงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของค่าการตลาด
ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะยังคงใช้มาตรการตามมติ กบง.โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ มาช่วยจนถึงสิ้นเดือน มี.ค.2565 และภายหลังจากนี้จะหามาตรการระยะยาวออกมา โดยช่วงเดือน ก.พ.2565 ต้องมีมาตรการออกมาอีกครั้ง โดยขณะนี้ต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันและสถานะเงินกองทุนฯ อย่างใกล้ชิด โดยคาดว่าราคาน้ำมันจะยังคงสูงขึ้นไปจนถึงเดือนมี.ค.2565 อย่างแน่นอน
จับตาประชุมโอเปคพลัส2ก.พ.
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กลุ่มประเทศส่งออกน้ำมัน (โอเปค) 13 ประเทศ นำโดยซาอุดีอาระเบียและพันธมิตร 10 ประเทศ นำโดยรัสเซียจะประชุมผ่านวีดิโอวันนี้ (2 ก.พ.) นักวิเคราะห์คาดว่า กลุ่มจะตัดสินใจเพิ่มเพดานการผลิตน้ำมันเดือน มี.ค.2565 วันละ 400,000 บาร์เรล ตามยุทธศาสตร์ทยอยเพิ่มการผลิตที่ใช้มาตั้งแต่เดือน พ.ค.2564 หลังจากโควิดระบาดรอบแรกส่งผลราคาน้ำมันร่วงหนักจนโอเปคและพันธมิตรลดเพดานการผลิตลงมาก
นักวิเคราะห์จากแคปิตอลอีโคโนมิก ระบุ ยังไม่ตัดประเด็นกลุ่มเพิ่มเพดานการผลิตมากขึ้นอีกเพราะราคาน้ำมันสูง และเร็วๆนี้ โอเปคพลัสผลิตต่ำกว่าขีดความสามารถแล้ว
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ เมื่อวันพุธ (26 ม.ค.) เกิน 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นราคาที่ไม่ได้เห็นมาตั้งแต่ ต.ค.2557 ไม่กี่วันก่อนราคาน้ำมันดิบดับเบิลยูทีไอก็พุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี ได้แรงหนุนจากความกังวลเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์โอมิครอนลดน้อยลงและความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายที่
เมื่อวันอาทิตย์ (30 ม.ค.) สหรัฐและอังกฤษ กล่าวถึงการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจชุดใหม่ที่สร้างความเสียหายให้กับรัสเซียได้มาก ในช่วงที่รัฐบาลวอชิงตันและพันธมิตรนาโตเพิ่มความพยายามสกัดไม่ให้รัสเซียบุกยูเครน
บียาร์น ชิลดร็อป นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์เอสอีบี กล่าวว่า หากรัสเซียบุกยูเครนจะถูกคว่ำบาตรอย่างหนัก รัสเซียจะระงับการส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรปมากยิ่งขึ้น ส่งผลราคาก๊าซธรรมชาติและพลังงานในยุโรปสูงขึ้นจากราคาปัจจุบันที่สูงมากอยู่แล้ว
ในตะวันออกกลาง กบฏฮูตีของเยเมนที่มีอิหร่านหนุนหลัง ซึ่งบ่อยครั้งพุ่งเป้าเล่นงานซาอุดีอาระเบีย ยิงขีปนาวุธสองลูกโจมตีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ในเดือนนี้ โดยยูเออีมีบทบาทสำคัญในกองกำลังพันธมิตรนำโดยซาอุดีอาระเบียสนับสนุนรัฐบาลเยเมนที่นานาชาติยอมรับต่อต้านกบฏฮูตี
ราคาน้ำมันดิบสูงสุดรอบ7ปี
ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ทำสถิติปิดตลาดเหนือระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกรอบ 7 ปี จากความกังวลต่อความตึงเครียดชายแดนรัสเซียและยูเครน โดยรัสเซียตรึงกำลังทหาร 120,000 นาย ในเบลารุสที่มีพรมแดนติดตอนเหนือของยูเครน เพื่อกดดันยูเครนและหลายประเทศในยุโรป เพราะไม่ต้องการให้ยูเครนเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) โดยสหรัฐและหลายประเทศในยุโรปรับรองยูเครนเข้าเป็นสมาชิก NATO ซึ่งจะมีมาตรการส่งกองกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ประเทศที่เป็นสมาชิกหากมีการคุกคามจากประเทศอื่น
รวมทั้งเลขาธิการใหญ่ของ NATO นาย Jens Stoltenberg เตือนยุโรปจะต้องจัดหาแหล่งพลังงานสำรองอื่น เพราะมีแนวโน้มที่รัสเซียจะใช้การนำเข้าก๊าซธรรมชาติของยุโรปเป็นข้อต่อรอง ซึ่งยุโรปนำเข้าก๊าซจากรัสเซียในปี 2564 อยู่ที่ 1,549 เทราวัตต์ต่อชั่วโมง (TWh) คิดเป็น 38% ของปริมาณการใช้ก๊าซฯ ในยุโรป รวมทั้ง FGE คาดการณ์หากสหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย อาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันของรัสเซียหายจากตลาดน้ำมันโลกถึง 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะสนับสนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ รัสเซียผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทในเดือน ธ.ค.2564 อยู่ที่ 10.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
จีนนำเข้าน้ำมันมากขึ้น
สัปดาห์นี้ราคา ICE Brent มีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 88-93.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลสำหรับปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
Platts รายงานโรงกลั่นของรัฐบาลจีน ซึ่งประกอบด้วย Sinopec, PetroChina, CNOOC และ Sinochem นำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Refinery Throughput) ในเดือน ม.ค.2565 เพิ่มขึ้น 4.73% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 7.74 ล้านบาร์เรลต่อวัน ของกำลังการกลั่นรวม 9.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรองรับอุปสงค์ในช่วงโอลิมปิกฤดูหนาว ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 4-20 ก.พ.2565
ขณะที่ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ม.ค.2565 เพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 416.2 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์