Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 31 January 2022

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 31 January 2022

ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง หลังตลาดกังวลความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนเพิ่มความรุนแรง และจับตานโยบายการผลิตของกลุ่มโอเปคพลัส

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 85-91 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 87-93 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 31 January 2022

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (31 ม.ค. - 4 ก.พ. 65)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง จากความเสี่ยงของอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เพิ่มความรุนแรง จนยกระดับเป็นปัญหาระหว่างประเทศ ประกอบกับอุปทานจากกลุ่มโอเปคพลัสที่เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด และตลาดติดตามนโยบายแผนการผลิตเดือน มี.ค.65 ในการประชุมที่จะจัดขึ้นในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ IMF ปรับลดคาดการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2565 ลง เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในปีก่อนหน้า จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนที่กดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และจีน
 

 

 

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

-  อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทวีความรุนแรงขึ้นสู่ระดับนานาชาติ เนื่องจากทำเนียบขาวสหรัฐฯ เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่รัสเซียมีการเคลื่อนพลทหารเข้าใกล้ชายแดนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการจู่โจมยูเครน ขณะที่เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) แถลงการณ์เตรียมเรือรบ และเครื่องบินรบตามชายแดนยุโรปตะวันออกเพื่อตอบโต้หากมีการโจมตีทางทหารจากรัสเซีย โดยตลาดคาดการณ์ว่าท่อขนส่งน้ำมัน Druzhba ที่ขนส่งน้ำมันดิบจากรัสเซียทอดผ่านยูเครนไปยังยุโรปอาจได้รับผลกระทบหากสถานการณ์ดังกล่าวถ้ามีการเพิ่มระดับความรุนแรง

-  ตลาดยังคงกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบในตะวันออกกลางเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาค เนื่องจากกลุ่มกบฎฮูตีพยายามโจมตีสหรัฐเอมิเรตส์ด้วยขีปนาวุธเป็นครั้งที่ 2 ในรอบเดือนเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าไม่มีรายงานถึงความเสียหายต่อหน่วยการผลิตน้ำมันดิบ แต่จากสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าวเป็นการเพิ่มความตึงเครียดต่อความขัดแย้งทางการเมืองในตะวันออกกลางมากขึ้น

 


 

- จับตาการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร หรือโอเปคพลัส ที่จะมีการจัดประชุมประจำเดือนขึ้นในวันที่ 2 ก.พ. เพื่อพิจารณานโยบายการผลิตสำหรับเดือน มี.ค.65 โดยตลาดคาดการณ์ว่ากลุ่มจะยังคงมติการปรับเพิ่มการผลิตที่ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวันต่อเนื่อง และจะมีการปรับเพิ่มระดับการผลิตอ้างอิงในเดือน พ.ค. 65 ตามข้อตกลงเดิม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางกลุ่มจะมีมติปรับเพิ่มการผลิตขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/64 แต่สมาชิกหลายชาติไม่สามารถผลิตได้ตามโควตาการผลิตที่ได้รับเนื่องจากปัญหาต่างๆ โดยล่าสุดอัตราความร่วมมือตามข้อตกลง (OPEC Compliance) ในเดือน ธ.ค. 64 ปรับสูงขึ้นแตะระดับ 127% เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. 64 ที่ 120% ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบตึงตัวต่อเนื่อง

-  ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.025% และยังคงการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ 30,000 ล้านดอลลาร์ในเดือน ก.พ.65 ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ที่ จัดขึ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เฟดชี้ว่าระดับเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับสูงกว่าระดับ 2% และตลาดแรงงานอยู่ในสภาวะที่แข็งแกร่ง จึงมีแนวโน้มที่เฟดจะมีการปรับเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.65 โดยการประชุมเฟดครั้งต่อไปจะจัดขึ้นวันที่ 15-16 มี.ค.65

- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับลดตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกปี 2565 จาก 4.9% ในรายงานเดือน ต.ค.64 สู่ 4.4% ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) ฉบับเดือน ม.ค.65 เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนที่มีผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ตาม  IMF ปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2566 เพิ่มจากระดับ 3.6% สู่ระดับ 3.8%

- จากความกังวลเกี่ยวกับอุปทานที่ตึงตัวประกอบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ ส่งผลให้มีการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะสามารถเฉลี่ยได้สูงกว่า 90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 โดย Goldman Sachs คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะสามารถปรับตัวสูงขึ้นไปเฉลี่ยปี 2565 อยู่ที่ระดับ 96 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ Morgan Stanley คาดราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะสามารถแตะระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสที่ 3/65 และเฉลี่ยปี 2565 ที่ระดับ 95.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ 

- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางยุโรป ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 65 ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน เดือน ม.ค.65 ตัวเลขเปลี่ยนแปลงการจ้างงานสหรัฐฯ เดือน ม.ค.65 

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (24 – 28 ม.ค. 65)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 1.68 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 86.82 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.14 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 90.03 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 87.72 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานน้ำมันดิบตึงตัวเนื่องจากการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบอย่างจำกัดของกลุ่มโอเปคพลัส และความกังวลถึงผลกระทบจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนต่อการส่งออกน้ำมันดิบจากรัสเซียไปยังยุโรป อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงกดดันเนื่องจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มกว่า 2.4 ล้านบาร์เรลซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้