การค้าชายแดนและผ่านแดน ปี 64 ทะลุเป้ ขยายตัวสูง 30.03% มูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท
พาณิชย์ เผย ภาพรวมการค้าชายแดนและผ่านแดนปี 64 ขยายตัว 30.03% มูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท พร้อมตั้งเป้าปี 65 โต 5 – 7% จากแรงสนับสนุนเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่อง ค่าเงินบาทอ่อน การใช้ประโยชน์จากรถไฟลาว-จีน ยังตัองจับตาผลกระทบโอมิครอนกระทบการค้า
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การค้าชายแดนผ่านแดนและการส่งออกผ่านการค้าชายแดนผ่านแดนปี 2564 มีมูลค่ารวมการค้า 1,715,345 ล้านบาท หรือประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท ขยายตัว 30.03% เฉพาะการส่งออกขยายตัว 34.6% คิดเป็นมูลค่า 1,031,330 ล้านบาท หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยภาพรวมการค้าชายแดนและผ่านแดนปี 64 เกินกว่าเป้าที่กำหนดที่ 6% และโตกว่าปี 63 ถึง 34.6% หรือประมาณ 5-6 เท่า ของเป้าที่ตั้งไว้ มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ คิดเป็นมูลค่า 265,118 ล้านบาท
"จากการหารือร่วมกันกับภาคเอกชนได้ข้อสรุปว่า ปี 65 ตั้งเป้าไว้ตัวเลขการส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดนไว้ที่ 5 - 7% โดยมีมูลค่าเฉพาะส่งออก 1.08-1.10 ล้านล้านบาท"นายจุรินทร์ กล่าว
สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่จะทำให้การส่งออกเติบโตได้ในปี 65 คือ 1.จากการประเมินเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง 2.จากการคาดการณ์เรื่องค่าเงินบาทยังอ่อนค่า เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 64จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในประเทศคู่ค้าของเราได้ 3.คาดว่าในปี 65 ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางให้บริการรถไฟ ลาว-จีน ได้โดยสะดวกซึ่งจะช่วยให้การส่งออกสินค้าไทยจากเวียงจันทน์ไปจีนทำได้สะดวกมีผลกับตัวเลขการส่งออกที่คาดว่าจะดีขึ้น 4.การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนที่จะเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มข้น ในรูป กรอ.พาณิชย์ หรือวอรูมการส่งออกยังเดินหน้าต่อไป 5.ตนมีนโยบายเร่งรัดการเปิดด่านชายแดนเพิ่มซึ่งปัจจุบันมี 97 ด่านเปิดแล้ว 48 ด้าน และมีเป้าหมายเปิดปี 65 อีก 12 ด่าน
อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัจจัยเสี่ยง2 ประเด็นใหญ่ คือ สถานการณ์โควิดโอมิครอนซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเปิดปิดด่านและการจราจรส่งออกสินค้าผ่านแดนข้ามแดนเพราะอาจมีความเข้มงวดในการตรวจโรคมากขึ้น สถานการณ์การเมืองเศรษฐกิจในเมียนมาอาจมีผลกระทบต่อตัวเลขการส่งออกสินค้าชายแดนไทยไปเมียนมาได้ โดยเฉพาะนโยบายการลดการใช้เงินตราต่างประเทศของเมียนมา เพื่อควบคุมการนำเข้าเพื่อลดปัญหาการขาดดุลการชำระเงินของเมียนมา