ไทยจ่อเจรจา "ทราเวลบับเบิล" จีน สทท.หนุนเพิ่มดีมานด์ตลาดอาเซียน
“พิพัฒน์” บินร่วมพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาว เล็งเจรจาความเป็นไปได้ขอทำทราเวลบับเบิลกับจีน “ททท.” เผยทัวริสต์แห่สมัครขอไทยแลนด์พาสเฉพาะ 1 ก.พ. ทะลุ 3.5 หมื่น หลังเปิดระบบ Test & Go รอบใหม่ ด้าน “สทท.” หวังปีทองฟื้นฟูท่องเที่ยว แนะตั้ง “ทัวริสซึ่ม คลินิก” รับมือวิกฤติแรงงาน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ตามกำหนดการเดินทางไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งที่ 24 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระหว่าง 3-6 ก.พ.นี้ จะขอหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ประเทศจีน ถึงความเป็นไปได้ในการทำทราเวลบับเบิล (Travel Bubble) เพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างไทยกับจีนโดยไม่ต้องกักตัว และปลายเดือน ก.พ. จะหารือกับทางการมาเลเซียเรื่องทำทราเวลบับเบิล เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมาเลเซียมีกำหนดเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดี ช่วง 2 เดือน ก.พ.-มี.ค. ซึ่งยังอยู่ในไฮซีซั่นของภาคท่องเที่ยวไทย คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะตลาดยุโรปและเอเชียตะวันออกจะเลือกมาเที่ยวไทยมากขึ้น หลังเปิดระบบรับ Test & Go
เบื้องต้น ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. จนถึงเวลา 12.00 น.ของ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา น่าจะมีจำนวนผู้สมัครขอไทยแลนด์พาสราว 60,000 คน ชี้ให้เห็นว่าแม้รัฐบาลจะมีคำสั่งระงับการลงทะเบียนนักท่องเที่ยว Test & Go รายใหม่ชั่วคราวตั้งแต่ 22 ธ.ค.2564 ก็ไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหนีไปเที่ยวจุดหมายอื่นแทนประเทศไทย เมื่อเปิดระบบอีกครั้งก็มีการหลั่งไหลสนใจสมัครขอไทยแลนด์พาส
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากสถิติการลงทะเบียนสมัครไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) เมื่อ 1 ก.พ. ตั้งแต่เวลา 9.00-24.00 น. ซึ่งกลับมาเปิดระบบลงทะเบียนประเภท Test & Go รอบใหม่เป็นวันแรก พบว่ามีผู้ลงทะเบียนในระบบไทยแลนด์พาสรวม 35,046 ราย แบ่งเป็นประเภท Test & Go จำนวน 31,343 ราย แซนด์บ็อกซ์ 3,290 ราย และ AQ หรือการกักตัว 413 ราย
โดยมีผู้ลงทะเบียนที่ระบบ Thailand Pass Hotel & Swap System หรือ TPHS ยืนยันแล้ว รวม 6,432 ราย คิดเป็นแค่ 20% ของผู้ลงทะเบียนสมัครไทยแลนด์พาสวันที่ 1 ก.พ. แบ่งเป็นประเภท Test & Go 6,137 ราย แซนด์บ็อกซ์ 292 ราย และ AQ 5 ราย
ททท.จึงอยากจะขอย้ำให้ผู้ประกอบการโรงแรมที่ได้มาตรฐาน SHA++ รับนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go เข้าพักเพื่อรอผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR รวม 2 ครั้งในวันแรกและวันที่ 5 ของการเดินทางเข้าไทย เข้าไปยืนยันการจองห้องพักและการชำระค่าตรวจหาเชื้อในระบบ TPHS ภายใน 24.00 น. ของวันรุ่งขึ้น หรือมีเวลา 30 ชั่วโมง หากเลยเวลาที่กำหนด ระบบจะยกเลิกการจองอัตโนมัติ นักท่องเที่ยวต้องเข้าไปลงทะเบียนสมัครใหม่อีกครั้ง
นายวิชิต ประกอบโกศล รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีแรกนี้ไม่น่ามีโอกาสเห็นตลาดจีนเที่ยวไทยฟื้นตัว แต่จะมีโอกาสในช่วงครึ่งปีหลัง ถ้ารัฐบาลไทยเร่งเจรจาขอทำทราเวลบับเบิลกับจีน เช่นกับเดียวกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เพื่อสร้างดีมานด์การเดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยวได้
ทั้งนี้หลังจากไทยกลับมาเปิดลงทะเบียน Test & Go ได้ 1 เดือน อยากให้รัฐบาลพิจารณาผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ยกเลิกเงื่อนไขการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ทั้ง 2 ครั้งเมื่อเดินทางเข้าไทย เพื่อช่วยให้แข่งขันดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากขึ้น ประเมินว่าปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทย 5-8 ล้านคน
“คู่แข่งของไทย อาทิ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, มัลดีฟส์ และตุรกี กำหนดแค่เงื่อนไขให้นักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนครบโดสและมีผลตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR เป็นลบ 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทางเท่านั้น พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติของดูไบฟื้นตัว 35% เทียบกับจำนวน 16.7 ล้านคนของปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด มัลดีฟส์ฟื้นตัว 77% ของ 1.7 ล้านคน และตุรกีฟื้นตัว 20% ของ 42 ล้านคน ขณะที่ไทยมี 4.27 แสนคน ฟื้นตัวเพียง 1% ของเกือบ 40 ล้านคนเมื่อปี 2562”
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธาน สทท. และนายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ปี 2565 จะเป็นปีทองของการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จากปัจจุบันเพิ่งออกจากห้องไอซียู ยังต้องให้น้ำเกลือ เพราะ 84% ของสถานประกอบการท่องเที่ยวทั้งหมด มีพนักงานเหลืออยู่ไม่เกินครึ่งของที่เคยมีมาก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 และ 77% ของธุรกิจที่พักแรม มีพนักงานที่เหลืออยู่ไม่เกินครึ่ง
“หัวใจสำคัญที่จะทำให้พลิกฟื้นท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริง จะต้องมีการจัดตั้ง ทัวริสซึ่ม คลินิก ขึ้นมาฝึกทักษะพนักงานใหม่ๆ ซึ่งต้องให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้”