“สทท.” ชงรัฐทุ่ม 200 ล้านตั้ง “ทัวริสซึ่ม คลินิก” พลิกฟื้นท่องเที่ยว
“สทท.” เสนอรัฐสนับสนุนงบฯ 200 ล้านบาทตั้ง “ทัวริสซึ่ม คลินิก” พลิกฟื้นภาคท่องเที่ยว พร้อมชงรัฐรีสตาร์ทธุรกิจ รักษาการจ้างงาน คาดดัชนีเชื่อมั่นท่องเที่ยว Q1/65 ฟื้นตัวดีขึ้นจริง แต่ยังอ่อนแรง
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ปี 2565 จะเป็นปีเกิดใหม่ของธุรกิจท่องเที่ยว จึงเสนอขอรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 200 ล้านบาทให้ สทท.นำมาจัดทำ “ทัวริสซึ่ม คลินิก” สำหรับอัพสกิลและรีสกิลแรงงานท่องเที่ยว และจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ด้านท่องเที่ยวของผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันขอความมั่นคงทางนโยบายท่องเที่ยวเพื่อการวางแผนระยะยาวด้านคน การลงทุน การตลาด รวมทั้งขอให้ภาครัฐสนับสนุนรีสตาร์ทธุรกิจหลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 เช่น โครงการเที่ยวคนละครึ่ง สนับสนุนเงินเพื่อให้รถบัสนำเที่ยวเดือนละ 5,000 คันได้มีงานทำและรักษาการจ้างงานไว้
นางสาวผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 4/2564 เท่ากับ 47 สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุด แต่พลิกฟื้นดีขึ้นกว่าไตรมาส 3/2564 ซึ่งค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 7 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาส 1/2565 เท่ากับ 63 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดสถานการณ์ท่องเที่ยวน่าจะดีขึ้นมาเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (100) มาก
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 4/2564 อยู่ที่จำนวน 342,024 คน รวมทั้งปี 2564 เป็นจำนวน 427,869 คน โดยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีประมาณ 37,739.44 ล้านบาท
ขณะที่สถานการณ์ตลอดทั้งปี 2564 มีสถานประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปิดถาวร 6% ของสถานประกอบการทั้งหมด รายได้ของสถานประกอบการในภาพรวมของไตรมาส 4/2564 อยู่ที่ 18% จากสภาวะปกติ ซึ่งดีขึ้นกว่าไตรมาส 2/2564 ที่ 10 % และไตรมาส 3/2564 ที่ 9 แต่ยังต่ำกว่าไตรมาส 1/2564 ที่ 22% ไตรมาสนี้ธุรกิจโรงแรมที่พัก เปิดทำการปกติ 86% มีอัตราการเข้าพักในภาพรวมทั่วประเทศ 32% ซึ่งเป็นอัตราการเข้าพักที่ดีที่สุดของปีนี้ อย่างไรก็ตามพบว่าธุรกิจโรงแรมที่พักที่เปิดทำการ 57% ยังมีอยู่ในสภาวะขาดทุนหรือไม่มีกำไร แต่ยังเปิดทำการเพื่อประคองธุรกิจและรักษาแรงงานเอาไว้ ส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 80,926 บาท/คน/ทริป ซึ่งสูงกว่าก่อนที่จะมีวิกฤติโควิด-19