ฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ “ยืนเฉยๆคนจะรักเค้าก็รัก”

ฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ  “ยืนเฉยๆคนจะรักเค้าก็รัก”

การฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย หลังร้างลากันมานานมากกว่า 30 ปี และการรอคอยที่จะให้สองประเทศกลับมาคืนดีกันก็สิ้นสุดลงในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์นี่เอง แต่ผลงานนี้มาจากความพยายามหรือโชค ต้องมาวิเคราะห์กัน

ผลงานชิ้นโบว์แดงท่ามกลางสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำลังย้ำแย่ ได้พลิกเกมส์ฟื้นมาได้บ้างจากผลการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ พร้อมเข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย เพื่อหารือข้อราชการ ณ สำนักพระราชวังซาอุดีอาระเบีย (Royal Court) พระราชวังอัล ยะมามะฮ์ นับเป็นการเยือนครั้งประวัติศาสตร์รอบ 30 ปีที่ไทยและซาอุฯ หมางเมินกันมานาน

ความสำเร็จครั้งนี้ ยังไม่เป็นที่เปิดเผยว่ามีเบื้องลึก และเบื้องหลังการทำงานกันอย่างไร แต่ที่แน่ๆคือความสำเร็จก็คือความสำเร็จ แม้ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลได้พยายามเจริญความสัมพันธ์กับซาอุฯมาอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการต่างๆ เข้าทำนองที่ว่า “ยืนเฉยๆคนจะรักเค้าก็รัก”

“อันที่จริงเรื่องการค้า  ระหว่างสองประเทศก็ไม่ได้สะดุดอะไรมาก แค่เขาไม่ค่อยตอนรับเรา ถ้าจะจัดงานแสดงสินค้าต้องขึ้นป้ายว่าเป็นเอกชนทำกันเองรัฐไม่เกี่ยว จึงจะจัดได้ ถ้าเป็นของภาครัฐ ก็เซย์โน จัดไม่ได้ทันที” คำบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ด้านการค้าของไทยคนหนึ่ง พูดถึงการส่งเสริมการค้าไทยในประเทศซาอุฯ

จากประสบการณ์ผู้เขียนที่ใช้ชีิวิตในซาอุฯระยะเวลาสั้นๆก็พบว่า สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับและนิยมชมชอบจากผู้บริโภคที่นั่นพอสมควร ติดก็แต่เพียงว่า การจะนำเข้าโดยตรงจากประเทศไทย ไม่ถึงกับทำไม่ได้ แต่ไม่สะดวก ซัพพลายเออร์ที่นั่นจึงเลือกที่จะนำเข้าจากเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามแทน กรณีสินค้าเหมือนกันเช่น กุ้งแช่แข็ง ส่วนสินค้าๆ อื่นที่เป็นแบรนด์ไทย จะนำเข้าผ่าน UAE แทน 

ด้านแรงงาน ข้าราชการชาวซาอุฯคนหนึ่งเล่าว่า เคยมีลูกน้องเป็นคนไทย ตอนนั้นทำงานสบายมากเพราะคนไทยจะรู้งาน ไม่ต้องบอกทุกขั้นตอน งานก็สำเร็จเรียบร้อยดี แต่ปัจจุบันต้องใช้แรงงานจากแหล่งอื่นเช่นเอเชียใต้หรือแอฟริกาแทน ซึ่งมีความยากลำบากตั้งแต่การเรียนรู้งานไปจนถึงการทำงาน อย่างไรก็ตาม หากเป็นงานในระดับเทคนิค จะเน้นจ้างชาวยุโรปหรือสหรัฐแทน เพราะมีความเชี่ยวชาญมากกว่า 

จากข้อมูลเพียงส่วนหนึ่งที่ได้จากประเทศซาอุฯชี้ให้เห็นโอกาสทางการค้าและการลงทุนจากคู่แค้นกลายเป็นคู่รักจะทำให้การเคลื่อนบทบาทของซาอุฯเองและความพร้อมคืนดีของไทยเองนั้น เป็นก้าวย่างที่สำคัญที่จะก่อเกิดผลดีกับทั้งสองฝ่าย 

ประกอบกับ ประเทศซาอุดิอาระเบียได้ยกเลิกระเบียบราชการที่จุกจิกล่าช้าแบบราชการเกินไป (red tape) มุ่งมั่นดำเนินการตามแผนการปฏิรูป Vision 2030 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ภาคเอกชนมีส่วนในการเพิ่ม GDP ส่งเสริมให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่น้ำมันเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียมุ่งมั่นดำเนินการตามแผนการปฏิรูปVision2030  ซึ่งข้อมูลจากธนาคาร Emirates NBD ของดูไบคาดการณ์ว่า กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับหรือ Gulf Cooperation Council(GCC) คาดว่า GDP ปี2565 จะเติบโต5.1%  จากที่ขยายตัว 2.3% ในปี 2562 และหดตัว 4.9% ในปี 2563 เมื่อเริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

Turning Point ของไทยและซาอุฯกำลังจะเป็นจุดเปลี่ยนสู่อนาคตที่โจยท์ด้านการค้า การลงทุน หรือแม้แต่แรงงานได้เปลี่ยนไปแล้วประวัติศาสตร์หน้าใหม่ต้องเขียนอย่างเข้าใจและซื่อสัตย์ ไม่ลักขโมยกันอีก รักครั้งใหม่นี้จึงจะได้ยืนยง