สมาพันธ์ SME ไทย เปิด 3 ข้อเสนอ รัฐเร่งช่วยผู้ประกอบการายย่อย

สมาพันธ์ SME ไทย เปิด 3 ข้อเสนอ รัฐเร่งช่วยผู้ประกอบการายย่อย

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ตั้งคำถามนโยบายรัฐทำเพื่อช่วยใคร ชี้ 3 ประเด็น เร่งฉีดวัคซีนเศรษฐกิจให้รายย่อย 1.แก้หนี้ 3 กอง พร้อมเพิ่มทุน 2.พัฒนาผู้ประกอบการ 3.แก้กฎหมายสนับสนุนรายเล็ก พร้อมสร้างเครือข่ายร่วมทำงาน เป็นกลไกให้รัฐเข้าถึงรายย่อย

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยิ่งใหญ่กว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากประเภทกิจการส่วนใหญ่อยู่ในภาคการบริการ 41% และการค้า 40% มีภาคการผลิต 17% และเกษตร 2% ซึ่งถูกสั่งให้ปิดกิจการและขาดรายได้เป็นเวลานาน

อีกทั้งSMEส่วนใหญ่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจึงเจอข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน มีเพียง 25% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ 

 

นอกจากนี้ การส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐมีสัดส่วนการลงทุนไทยแค่ประมาณ 20% และส่วนมากกระจุกตัวอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกซึ่งเป็นเขตพัฒนาพิเศษ ส่วนจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำและอยู่ติดชายแดนกลับไม่ได้รับการส่งเสริมเท่าที่ควร ตอกย้ำเรื่องความเหลื่อมล้ำของประเทศ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเอสเอ็มอีมีสัดส่วนเพียง 34% สะท้อนขีดความสามรถของเอสเอ็มอีที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งต้องการให้รัฐโอบอุ้มเพื่อจะเดินหน้าต่อ

โดยสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยได้ข้อสรุป 3 ประเด็น เสนอเป็นแนวคิดการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ดังนี้

 

1. แก้หนี้ 3 กอง ได้แก่ หนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และหนี้นอกระบบ พร้อมเติมทุนให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อได้ โดยเสนอให้พัฒนากองทุนฟื้นฟูเอสเอ็ม ช่วยเอสเอ็มอีอย่างตรงจุดด้วยการทำ SME Credit Scoring Card เป็นแพลตฟอร์มให้ผู้ประกอบการลงทะเบียนชี้แจงแก้ไขหนี้ มีพี่เลี้ยงด้านการเงินให้คำแนะนำเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเครดิตดังกล่าวจะสามารถนำไปใช้กับคู่ค้า การซื้อวัตถุดิบ จ่ายค่าจ้างแรงงาน เป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กิจการได้อย่างน้อย 30-60 วัน

อีกทั้ง ยังเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลการทำธุรกิจซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับภาครัฐ และสถาบันการเงินต่อยอดการใช้งานในการออกนโยบายและสินเชื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ในอนาคต

2. การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านดิจิทัล และยกระดับด้านนวตักรรมเพื่อส่งเสริมให้สินค้าและบริการของเอสเอ็มอีระดับท้องถิ่นเติบโตได้ในระดับประเทศและตลาดโลก รวมทั้งการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้แห่งอนาคตให้กับบุคคากร อาทิ เรื่อง web3.0 บ่มเพาะวินัยทางการเงิน การใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ

3. การแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค มีความชัดเจน สร้างความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีรายเล็กให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยการบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการแต่ละขนาดและประเภทธุรกิจ

นอกจากนี้ เรื่องการขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐควรลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ เช่น การขอขึ้นทะเบียน อย. หากดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว จะเป็นการลดต้นทุนค่าเสียโอกาสที่เกิดจากการรอ และลดช่องว่างที่มิจฉาชีพจะเข้ามาฉวยโอกาส รวมทั้งการนิยามความหมายของเอสเอ็มอี ที่ต้องสื่อสารเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันทุกหน่วยงาน ไม่อย่างนั้นผู้ประกอบการที่ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นเอสเอ็มอี จะเข้าไม่ถึงโอกาสที่ตนควรได้รับ 

อีกทั้ง ต้องการเสนอให้ทบทวนร่างกฎหมาย 2 ฉบับ เรื่อง พ.ร.บ.ยา และ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงโอกาส ช่องทางในการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน และขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี รวมทั้งอัตราค่าธรรมเนียมที่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัวในภาวะที่เอสเอ็มอียังมีปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยภาครัฐควรเป็นผู้สนับสนุนเอสเอ็มอี ไม่ใช่เพียงกำกับและควบคุมเท่านั้น   

"เรื่องเร่งด่วนของเอสเอ็มอีที่ต้องเค้าไปช่วยเหลือคือเรื่องการแก้หนี้ ทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และหนี้นอกระบบ ไม่อย่างนั้นปัญหาเหล่านี้จะกลายเป็นมะเร็งร้ายที่กัดกร่อนทำลายเศรษฐกิจ ถ้าเราเข้าไปช่วยเหลือไม่ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือธุรกิจจะตายและเกิดใหม่ แน่นอนว่าเอสเอ็มอีไม่ได้ตายแล้วตายเลย แต่จะตายแล้วไปเกิดในธุรกิจใหม่ หรือธุรกิจเดิมที่ปรับรูปแบบใหม่ แต่สิ่งที่เราจะเห็นคือภาวะเศรษฐกิจที่จะชะลอตัว รวมกับสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนของโควิด-19 จะเป็นผลให้ผู้ประกอบการไม่มีความเชื่อมั่นในการเปิดกิจการใหม่"