Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 7 February 2022

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 7 February 2022

ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวในระดับสูง หลังสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนรุนแรงขึ้น ท่ามกลางอุปทานน้ำมันดิบที่ตึงตัวต่อเนื่อง

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 85-91 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 86-92 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 7 February 2022

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (7 ก.พ. - 11 ก.พ. 65)

ราคาน้ำมันดิบยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูง เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทวีความรุนแรงขึ้นและยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อ โดยล่าสุดกลุ่มกบฎฮูตีโจมตีสหรัฐเอมิเรตส์ด้วยขีปนาวุธกว่า 4 ครั้งในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลว่าอุปทานน้ำมันอาจจะได้รับผลกระทบและอาจจะตึงตัว อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของโอเปกพลัสและสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นกดดันราคาน้ำมันดิบคาดจะปรับเพิ่มขึ้นในระดับจำกัด 
 

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

-  สถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 65 โดยสหรัฐฯ แสดงท่าทีไม่พอใจต่อรัสเซียที่มีการเคลื่อนพลทหารเข้าใกล้บริเวณชายแดนยูเครน ล่าสุดสหรัฐฯ พิจารณาจะใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียหากมีการบุกรุกยูเครน 

-  การประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร หรือโอเปคพลัส ที่มีการจัดประชุมในวันที่ 2 ก.พ. 65 ยังคงมติการปรับเพิ่มกำลังการผลิตที่ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปริมาณน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตกลงไว้ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นและบางประเทศสมาชิกประสบปัญหาในการปรับเพิ่มปริมาณการผลิต เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ รวมถึงปัญหาด้านการผลิตและการลงทุน จึงส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบตึงตัวต่อเนื่อง

- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงสอดคล้องปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับลดลงเล็กน้อยจากผลกระทบของอากาศที่หนาวเย็นในแถบ Texas โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 28 ม.ค. 65 รายงานโดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ปรับลดลง 1.0 ล้านบาร์เรล มาสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีที่ราว 415.14 ล้านบาร์เรล 
 

 

- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 28 ม.ค. รายงานโดย Baker Hughes ปรับเพิ่มขึ้น 6 แท่นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 ที่ 610 แท่น ขณะที่ล่าสุดบริษัทน้ำมันรายใหญ่ในสหรัฐฯ อย่าง Exxon Mobil และ Chevron ประกาศแผนที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ในแหล่ง Permian ของปีนี้ขึ้นราว 25% และ 10% จากปีก่อนหน้า ตามลำดับ

-  อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ในปีนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลกดดันราคาในระยะสั้นได้ โดยในสัปดาห์นี้จะมีการประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน ม.ค.65 ซึ่งตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ 7.1-7.2% เพิ่มขึ้นจาก 7.0% ในเดือน ธ.ค. 64 

-  เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของจีน เดือน ม.ค. 65 จำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานสหรัฐฯ และการประกาศผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ของอังกฤษ ไตรมาส 4/2564

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (31 ม.ค. – 4 ก.พ. 65)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 5.49 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 92.31 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 3.24 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 93.27 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 90.36 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานน้ำมันดิบตึงตัวจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับ ปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตรที่ไม่สามารถผลิตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงกว่า 1.0 ล้านบาร์เรล สะท้อนถึงปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางอุปทานน้ำมันที่ตึงตัวต่อเนื่อง