ธุรกิจอีเวนท์รีสตาร์ทรอบใหม่ ไร้ท์แมน เร่งตุนแบ็กล็อก 400 ล.
ปี 65 ธุรกิจอีเวนท์มีความหวัง หลังปลายปีเห็นสัญญาณการฟื้นตัว ทว่า ตลาดต้องเผชิญความท้าทายใหญ่ เมื่อ 2 ปี วิกฤติโควิดซัดให้ผู้ประกอบการเล็ก กลาง ใหญ่ มีบาดแผลทางการเงิน รายได้หดหายมหาศาล ทำให้ทุกราย "รีสตาร์ท" สู้ศึกอีเวนท์อีกครั้ง ไร้ท์แมน เดินหน้าฟื้นรายได้ปีนี้โต 20%
ทุก 3 ปี ต้องเจอวิกฤติ 1 ครั้ง นั่นคือสิ่งที่ “ไร้ท์แมน” หนึ่งในผู้ประกอบการอีเวนท์รายใหญ่ของเมืองไทยผ่านบททดสอบในการขับเคลื่อนธุรกิจ และบริษัทสามารถยืนหยัดอยู่ได้ 3 ทศวรรษ ทว่า วิกฤติโรคโควิด-19 ระบาด กลับเป็นมรสุมลูกใหญ่มากต่อบริษัท และคนทำอีเวนท์ทั่วฟ้าเมืองไทย เพราะรายได้หดหายหมาศาล
“การระบาดของโควิดรอบแรกกระทบผู้ประกอบการอีเวนท์รายเล็ก พอการระบาดรอบใหม่ รายกลาง จนกระทั่งล่าสุดเป็นคิวของรายใหญ่” อุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และนายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA)
ตัวอย่างคือบริษัทถูกโควิดกระทบปีแรก รายได้หายไป 50% ไล่เรียงปี 2561 บริษัทมีรายได้ 786 ล้านบาท ปี 2562 ลดเหลือ 400 ล้านบาท ปี 2563 รายได้ทรงตัว 400 ล้านบาท และปี 2564 รายได้ 480 ล้านบาท เริ่มสะท้อนการฟื้นตัวกลับมา ด้านรายหดตัวลง แต่บริษัทยังโชคดีที่มี “กำไร” เนื่องจากได้ปรับตัวและให้ความสำคัญกับการ “Lean” องค์กร ประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ พนักงานที่มี 300 ชีวิต เมื่อลาออกยังไม่รับเพิ่ม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ธุรกิจอีเวนท์ปี 2564 ที่ตัวเลขดีดกลับมาขยายตัว ทำให้ผู้ประกอบการมีความหวังตลาดอีเวนท์จะค่อยๆกลับมาเติบโตอีกครั้ง แต่การแข่งขันรอบใหม่ ผู้ประกอบการจะออกสตาร์ทด้วยขนาดที่เท่าเทียมกัน ไม่มีรายเล็กใหญ่เหมือนในอดีต เพราะโควิดฉุดรายได้ให้องค์กรเล็กกันถ้วนหน้า
ทว่า ปัจจัยสำคัญคือภาครัฐต้องเป็น “ทัพหน้า” จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ “เอกชน” มีความเชื่อมั่นในการจัดกิจกรรม แต่ภาพจริงกลับเป็นตรงกันข้าม เพราะรัฐเบรกทุกกิจกรรม ส่วนเอกชนการจะจัดอีเวนท์ โดยเฉพาะงานบริการด้านการตลาดเวลานี้ “รัดเข็มขัด” แน่นมาก หั่นงบโฆษณาและอีเวนท์เป็น “ด่านแรก” เสมอ
“ในอุตสาหกรรมอีเวนท์ เป็นงานภาครัฐคิดเป็นสัดส่วน 50% เมื่อไม่มีงบจากรัฐกระตุ้นตลาด จึงส่งผลกระทบต่อภาพรวมมหาศาล รัฐจึงควรพิจารณาการใช้งบลงทุนให้ดีและถูกจุด เพราะเป็นจุดเสี่ยงธุรกิจ ที่เหมือนออกจากห้องไอซียู อาจตาย ส่วนเอกชนเป็นเรื่องจิตวิทยาไม่กล้าใช้เงิน การจะกลับมาใช้จ่าย ทำกิจกรรมต่างๆอีกครั้งจึงมองเป็นปี 2565”
ทั้งนี้ บริษัทอีเวนท์จะสร้างรายได้และเติบโตอีกครั้ง จะต้องปรับตัว มีความยืดหยุ่น และมีทักษะการทำงานใหม่ๆมากขึ้น ไม่จำกัดกรอบอยู่แค่การจัดกิจกรรมเดิมๆเท่านั้น โดยปี 2565 ไร้ท์แมน เพิ่มน้ำหนักการลุยโปรเจคเกี่ยวกับการสร้างแหล่งท่องเที่ยว ดึงดูดนักเดินทางในประเทศให้ไปเยือนมากขึ้น ล่าสุดคว้างานใหญ่ เช่น การสร้าง Swan Lake Night Safari ที่จังหวัดเชียงใหม่ มูลค่ากว่า 160 ล้านบาท ปรับปรุงหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านมูลค่ากว่า 260 ล้านบาท และศูนย์การวิจัยโบราณคดีบ้านเชียง อุดรธานีฯ ทำให้มียอดรายได้รอรับรู้(แบ็คล็อก)ราว 400 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีงานต่อเนื่องจากปี 2564-2565 เช่น อุทยานการเรียนรู้และหอชมเมืองสมุทรปราการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าพระยา หอโหวตร้อยเอ็ด และพิพิธภัณฑ์ครุฑ และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิตเป็นต้น ปัจจัยดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้รายได้ของบริษัทในปี 2565 อยู่ที่ 580 ล้านบาท เติบโต 20%
“เป้ารายได้ปีนี้เรามองบนฐานปกติหรือ Base case ยังเหลือเวลา 11 เดือน ที่จะหางานเพิ่ม หากทำได้ถือเป็นโบนัส”
สำหรับธุรกิจอีเวนท์ที่จะฟื้นตัวในปี 2565 คาดว่าบันเทิง คอนเสิร์ต จะกลับมาเร็ว เนื่องจากผู้ประกอบการ ผู้บริโภคต่าง “อัดอั้น” เห็นได้จากกระแสการจะจัดฟุตบอลคู่แดงเดือดระหว่าง “แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด VS ลิเวอร์พูล” คนสนใจจำนวนมาก ปลายปียังมีอีเวนท์ใหญ่อย่างการประชุมเอเปค ปี 2565 (APEC 2022) ที่ประเทศไทย ถือเป็น “โอกาสใหญ่” ของผู้ประกอบการอีเวนท์จำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ออกสตาร์ท 2 เดือนแรก ธุรกิจอีเวนท์ยังไม่คักคักนัก ส่วนเทศกาลวาเลนไทน์ ไม่มีผลต่อการจัดกิจกรรมเท่าที่ควรเพราะสเกลงานเล็ก ที่ต้องจับตาคือ “วันสงกรานต์” เนื่องจากมีเมกะอีเวนท์จัดทั่วประเทศทั้งข้าวสาร งานมิวสิคเฟสติวัลต่างๆ มีเม็ดเงินสะพัดหลัก “พันล้านบาท” ซึ่งงานเหล่านี้ต้องเตรียมการตั้งแต่กุมภาพันธ์นี้ ขณะที่ตรุษจีนที่ผ่านมางานถูกจัดขึ้นเล็กลงเช่นกัน
สำหรับภาพรวมธุรกิจอีเวนท์มูลค่า 14,000 ล้านบาท ที่ผ่านมามูลค่าหายไปราว 60% การกลับไปสู่จุดเดิม หรือกระทั่งโตถึง 15,000-16,000 ล้านบาท คาดว่าจะเห็นใน 2 ปี
“นิยามธุรกิจอีเวนท์ 2 ปีท่ามกลางวิกฤติโควิดเป็นการแอนไทน์กัน อีเวนท์คือการร่วมตัวของคนหมู่มาก ใกล้ชิด แต่นี่ห้ามเข้าใกล้ มีระยะห่าง รวมตัวกันได้น้อย และเจอมาตรการรัฐอีก จึงได้รับผลกระทบอย่างมาก โควิดยังให้บทเรียนใหญ่แก่บริษัท มองว่าดิจิทัลไม่มาดิสรัปมากนัก แต่ยุคนี้จะอยู่รอดต้องทำได้หลายอย่าง หรือมัลติสกิล มีความยืดหยุ่น เพราะอุตสาหกรรมอีเวนท์อ่อนไหวมากๆ”