FETCOชี้ครึ่งปีหลัง 'หุ้นไทย' ปรับตัวดีกว่า 'หุ้นโลก' คงดัชนีปีนี้ 1,800 จุด

FETCOชี้ครึ่งปีหลัง 'หุ้นไทย'  ปรับตัวดีกว่า 'หุ้นโลก' คงดัชนีปีนี้ 1,800 จุด

“เฟทโก้” ชี้ หุ้นไทย ครึ่งปีแรก65 เผชิญหลายปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนกดดัน “เฟดขึ้นดอกเบี้ย -ถอนคิวอี-หวั่นเศรษฐกิจไทยถดถอย”  เชื่อครึ่งปีหลังทิศทางดีขึ้น แตะ 1,800 จุด  “ไพบูลย์” เผยหารือรมว.คลัง ระบุภาษีขายหุ้นอยู่ขั้นตอนศึกษา

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปีนี้มองว่ายังดีกว่าภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลก (Outperfrom) จากเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสเติบโตจากท่องเที่ยว หลังเริ่มเปิด Test and Go ช่วงเดือนก.พ.นี้อีกครั้ง และช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วปรับขึ้นแรงมากแล้วจึงหันมาลงทุนในตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนา

FETCOชี้ครึ่งปีหลัง \'หุ้นไทย\'  ปรับตัวดีกว่า \'หุ้นโลก\' คงดัชนีปีนี้ 1,800 จุด

โดยยังคงเป้าหมายดัชนีสิ้นปีนี้ไว้ที่ 1,800 จุด โดยอาจได้เห็นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง มากกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจาก ในช่วงครึ่งปีแรก มีหลายปัจจัยที่ยังมีความไม่แน่นอน  ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  เช่น Test and Go ที่เพิ่งเริ่ม ก.พ.นี้  ความไม่มั่นใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ  เศรษฐกิจในประเทศ  รวมถึงความไม่ชัดเจนมาตรการลดสภาพคล่องของเงินที่มีอยู่ในตลาดลง (Quantitative Tightening:QT) ของเฟด  และการปรับขึ้นดอกเบี้ย ความขัดแย้งระหว่างประเทศ แม้ไม่ได้ทำให้ตลาดซบเซาแต่ตลาดอาจปรับตัวขึ้นได้ไม่มาก

ขณะที่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 น่าจะมีความชัดเจนในหลายเรื่องมากขึ้น ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามา และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยปีนี้ ให้เติบโตได้ 4% 

ทั้งนี้หากนับตั้งแต่ช่วงเดือนธ.ค.2564 ถึงปัจจุบันหรือประมาณกว่า 2 เดือน มีเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาแล้วราว 4 หมื่นล้านบาท ด้านเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้นบ้าง สะท้อนว่าต่างชาติเริ่มเห็นตลาดหุ้นไทยเป็นหลุมหลบภัยที่ดี เมื่อเทียบกับหุ้นทั่วโลก

 

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เม.ย.65) อยู่ที่ระดับ 93.91ลดลง 27.5% จากเดือนก่อนหน้า ลงมาอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”  โดยปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด คือ ความกังวลต่อความไม่แน่นอนเรื่องนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด  รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

ด้านปัจจัยบวก คือ ความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และแผนการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19

ส่วนประเด็นกรณีสรรพากรพิจารณาเก็บภาษีขายหุ้น (Financial Transaction tax) นั้น สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางเฟทโก้ ได้เข้าพบและหารือ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ แล้ว ซึ่งทางกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา และอยู่ระหว่าง การพิจารณา และรับฟังผลการศึกษาของเฟทโก้

ทั้งนี้ จากการศึกษาผลกระทบของการจัดเก็บภาษีขายหุ้น คาดว่า หากสรรพากรเริ่มเก็บภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction tax) ปีนี้ ประเมินว่าจะทำให้ดัชนีไปไม่ถึง 1,800 จุด และต้องทบทวนเป้าหมายใหม่ และจะส่งผลกระทบ ทำให้ต้นทุนของนักลงทุนทุกประเภทสูงขึ้น 70% หรือ 0.7 เท่า โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศต้นทุนสูงขึ้น 170% หรือ 1.7 เท่า  จะทำให้มูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทย ปรับตัวลดลง  40% หรือ อยู่ที่ระดับ 5 หมื่นล้านบาทต่อวัน  ซึ่งประเมินจากค่าเฉลี่ยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาทต่อวัน ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยถูกลดความน่าสนใจตามไปแล้ว 

อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องคือหัวใจของตลาดหุ้น ทั้งด้านการลงทุนและระดมทุน ซึ่งถ้าอัตราเก็บภาษีสูงมากก็อาจได้ไม่คุ้มเสีย กระทบศักยภาพการแข่งขันในระยะยาวเป็นลูกโซ่ ทั้งเสียโอกาสการพัฒนาตลาดหุ้นไทยในระยะยาว โดยเฉพาะนำบริษัทเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาในตลาด และ ภาครัฐจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย การแข่งขันในธุรกิจหลักทรัพย์กลับมารุนแรงมีโอกาสขาดทุนสูง และราคาหุ้นได้รับผลกระทบโดยเฉพาะหุ้นที่มีสภาพคล่องน้อย ยิ่งเป็นความเสี่ยงผู้ลงทุน

 “สภาพคล่องในช่วง 2 ปีข้างหน้า มีโอกาสลดลงโดยธรรมชาติ จากผลกระทบนโยบายการการเงินของเฟด เริ่มทำQT คาดจะเริ่มทำในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก ที่จะมีผลต่อสภาพคล่องลดลงจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโดยตอนนี้เริ่มเห็นสภาพคล่องถูกกระทบจากปัจจัยดังกล่าวทำให้วอลุ่มเทรดปีนี้ลดลงเหลือ เฉลี่ยวันละ6-7 หมื่นล้านบาทและหากมีการเก็บภาษีขายหุ้นจะทำให้วอลุ่มเทรดเฉลี่ยปีนี้เหลือ5 หมื่นล้านบาทต่อวัน”