คลี่โจทย์หินพลิกโฉมเที่ยวไทย มุ่งเติบโต "ทั่วถึง-สมดุล-ยั่งยืน" ทุกมิติ!
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้มอบนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวในการประชุมปีขาล ต้อนรับ “ปีท่องเที่ยวไทย” ประจำปี 2565 แก่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทย สู่มิติใหม่...เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม
หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประกาศนโยบาย “พลิกโฉมประเทศไทย” กระทรวงการท่องเที่ยวฯในฐานะหน่วยงานหลักที่มีภารกิจขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยวไทย เป็นเครื่องมือนำพาประเทศไทย “สู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” ตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13
“เราจะพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทยด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่า สร้างการเติบโตที่ตอบโจทย์ 3 ข้อ ได้แก่ ทั่วถึง สมดุล และยั่งยืน” พิพัฒน์กล่าว
เมื่อขยายความถึงโจทย์ที่ 1 “การเติบโตอย่างทั่วถึง” คือการท่องเที่ยวที่สร้างการเติบโตในทุกมิติที่คนในสังคมมีส่วนร่วมและได้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น การทำให้คนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวด้วย ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน (CBT) และการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวใช้วัตถุดิบจากในพื้นที่ใกล้เคียง กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และสร้างการจ้างงาน
โจทย์ที่ 2 “การเติบโตอย่างสมดุล” หมายถึงการมุ่งเน้นไปที่ “การบริหารจัดการการท่องเที่ยว” ให้เกิดความสมดุลในทุกมิติ แก้ปัญหา “ความไม่สมดุล” (Imbalance) ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องช่วงเวลาการท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันยังมีเส้นแบ่งระหว่างไฮซีซั่นกับโลว์ซีซั่น รวมถึงความไม่สมดุลของการท่องเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์กับวันธรรมดา, จำนวนนักท่องเที่ยว ทั้งปัญหา Over Tourism นักท่องเที่ยวมากเกินขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ และปัญหา Under Tourism นักท่องเที่ยวน้อยกว่าขีดความสามารถในการรองรับฯ, กลุ่มเป้าหมาย ระหว่าง Mass Tourism กับ Niche Tourism, ความไม่สมดุลระหว่างเมืองหลักกับเมืองรอง, อุปทานส่วนเกินกับอุปสงค์ส่วนขาด, การตลาดกับการจัดการ และความไม่สมดุลระหว่างตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศกับต่างประเทศ
วิธีการ “สร้างความสมดุล” คือต้องมีการกำหนดวันหยุดและวันทำงานที่เหลื่อมเวลากัน, สามารถทำงานได้ทั่วไทย (Work From Anywhere), เที่ยวไทยได้ทั้งปี ด้วยการจัดกิจกรรมร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนที่มีศักยภาพในทุกๆ พื้นที่ โดยสร้างสรรค์กิจกรรมให้เหมาะสมกับแต่ละฤดูกาล, ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยวเชิงอาหารและสินค้าเกษตรพื้นถิ่น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อกระจายรายได้ทั่วถึง สร้างชุมชนที่ดีกว่าเดิม (Inclusive Tourism), ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล, นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการในการเข้าชมแหล่งท่องเที่ยว และแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างนักการตลาดและนักพัฒนาสินค้าด้านการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง “การท่องเที่ยวอย่างมีข้อจำกัด” (Limited) ทั้งในด้านการเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ข้อจำกัดของระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยว ข้อจำกัดของแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่สามารถรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว เช่น ขนาด เจ้าหน้าที่ ที่จอดรถ และห้องน้ำ รวมไปถึงข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการท่องเที่ยว
ทางแก้สู่บทใหม่ของการท่องเที่ยวไร้ขีดจำกัด (Unlimited) ผ่านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างสะดวกและเหมาะสม พร้อมเชื่อมโยงระบบคมนาคม ด้วยวิธีบริหารจัดการระดับพื้นที่ มีระบบบริหารจัดการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว เช่น จัดเส้นทางท่องเที่ยว ระบบจอง รถบริการที่ศาลากลาง และขนส่งมวลชน รวมถึงตรวจประเมินภาคธุรกิจท่องเที่ยวแบบเชิงรุกให้ได้รับมาตรฐานความสะอาดและปลอดภัย โดยเฉพาะผู้ประกอบการในเส้นทางการท่องเที่ยวสำคัญเพื่อส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวให้สะอาด ปลอดภัย และลดความแออัดมากยิ่งขึ้น พร้อมส่งเสริมการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของภาคธุรกิจท่องเที่ยวทั้งห่วงโซ่ และนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น
และโจทย์ที่ 3 “การเติบโตอย่างยั่งยืน” คือการพัฒนาและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวให้เป็น “เครื่องมือ” ในการสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ด้วยการขับเคลื่อน “การท่องเที่ยวสีขาว” ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ต้องสะดวก สะอาด ปลอดภัย เป็นธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม!
ควบคู่กับการเน้นเป้าหมาย “เชิงคุณภาพ” มากกว่าปริมาณ! จากเดิมที่เราจะให้ความสำคัญกับรายได้ GDP เพียงมิติเดียว บทใหม่การท่องเที่ยวต้องมองให้กว้างขึ้นในมิติทางสังคม ต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืนด้วย เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ (Educational Tourism) ออกมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดเส้นทางประสบการณ์นักท่องเที่ยว (Tourism Journey) ผลักดันธุรกิจท่องเที่ยวยั่งยืน โมเดลธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อสังคม และสร้างความตระหนักรู้แก่ภาคธุรกิจถึงความสำคัญของการเป็นธุรกิจท่องเที่ยวยั่งยืน!