ส.อ.ท. ชี้ 4 ปัญหาฉุดความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ

ส.อ.ท. ชี้ 4 ปัญหาฉุดความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ

ส.อ.ท. เผยผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมกังวลปัญหาค่าขนส่ง น้ำมันแพง ภาวะเงินเฟ้อขาขึ้น และการเมืองไม่มีเอกภาพ

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) เผยว่า กรณีที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาน้ำมัน ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งต้องแบกรับภาวะขาดทุนนั้น

ด้านผู้ประกอบการภาคการผลิตเองมีภาระต้นทุนด้านการขนส่งราว 10% หากขนส่งมีการปรับขึ้นราคาจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนเป็นลูกโซ่ ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับขึ้นราคาสินค้าตาม และผู้บริโภคก็ต้องซื้อของราคาแพงขึ้น แต่ในทางกลับกันหากผู้บริโภคเลือกที่จะลดการใช้จ่ายลงก็ส่งผลกระทบกลับมาที่ผู้ผลิตและผู้ขนส่ง

“ผู้ขนส่งมีการแข่งขันกันด้านราคาซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด หากบางส่วนยังสู้ไหวก็จะสู้ต่อไป แต่ถ้าทำแล้วขาดทุนก็เลือกไม่ทำ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับราคาขึ้นในที่สุด”

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการภาคการผลิตที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากไม่สามารถทำสัญญากับกลุ่มผู้ขนส่งในระยะยาวได้ ในขณะที่บริษัทขนาดใหญ่จะมีการทำสัญญาล่วงหน้า อย่างน้อย 1-3 เดือน

กังวลราคาน้ำมัน

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ปัญหาราคาน้ำมันแพงสาเหตุเกิดจากดีมานต์และซัพพลายขาดสมดุล ซึ่งเป็นผลจากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างโอเปกลดกำลังการผลิตลง ไม่ทันรับความต้องการบริโภคน้ำมันที่กลับมาฟื้นตัวหลังหลายประเทศเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศยูเครนและรัสเซียซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานรายใหญ่ของโลก ทำให้ประเทศยุโรปเริ่มกักตุนน้ำมัน ซึ่งในขณะนี้ผู้นำของหลายประเทศพยายามเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยและหวังว่าจะคลี่คลายความตึงเครียดได้บ้าง

เงินเฟ้อขาขึ้น

นายสุพันธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่เคยประเมินไว้ว่าจะเริ่มคลี่คลายครึ่งปีหลัง และได้รับผลกระทบหนัดสุดในไตรมาสหนึ่ง มองว่าขณะนี้เป็นแนวโน้มขาขึ้น ซึ่งเงินเฟ้อจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีการทางภาษี หรือมาตรการอุดหนุน โดยวิเคราะห์จากโครงสร้างราคา เพื่อไม่ให้อัตราเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป

สิ่งสำคัญที่สุดคือการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการเปิดประเทศ รวมทั้งการลดอุปสรรคของนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าประเทศ โดยการปรับมาตรการ Test & Go ให้กลับไปเหมือนการเปิดประเทศในช่วงแรก ลดจำนวนครั้งการตรวจ RT-PCR ให้เหลือเพียงครั้งเดียว และให้ใช้วิธีการส่งผลตรวจ ATK ผ่านระบบ หลังการเดินทางเข้าประเทศ 5 วัน แทนการตรวจด้วย RT-PCR เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง

การเมืองไม่มีเอกภาพ

ด้านความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ผู้ประกอบการเป็นกังวลเพิ่มขึ้น มองว่าเสถียรภาพและการขับเคลื่อนของรัฐบาลที่ผ่านมามีปัญหาภายในโดยตลอด ซึ่งภาคเอกชนกังวลเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจเป็นหลักโดยไม่ได้ตั้งความหวังว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนอย่างไร เพียงแต่ว่าภาคประชาชนยังต้องพึ่งพามาตรการช่วยเหลือต่างๆ

“รัฐบาลต้องมีความเป็นเอกภาพ หากไม่มีเอกภาพจะขับเคลื่อนอะไรก็จะลำบาก หวังว่ารัฐบาลจะกลับมามีเอกภาพโดยเร็วไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็ตาม”

หากมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งครั้งใหม่ มองว่าเป็นประโยชน์กับภาคเอกชน เพราะการเลือกตั้งทำให้เงินสะพัด และคิดว่าจะไม่ส่งผลในแง่ลบต่อภาคเอกชนแต่จะเป็นบวกด้วยซ้ำ

"เมื่อมีการเลือกตั้งจะช่วยกระตุ้นให้กลับมาคึกคัก มีการใช้จ่ายเพื่อการเลือกตั้ง ทำให้เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นในระยะสั้น โดยสิ่งสำคัญคือเมื่อเลือกตั้งแล้วเราอยากเห็นเอกภาพของการเมือง เกิดการขับเคลื่อนตามนโยบายที่ประกาศไว้ตอนเลือกตั้งสักครึ่งหนึ่ง เชื่อว่าจะส่งผลในแง่บวกแน่นอน"