"วาเลนไทน์" นี้ ไม่อยาก "เลิกกัน" เพราะ "เงิน" ชวนคู่รักปรับ 7 พฤติกรรมเสี่ยง
"วาเลนไทน์" ปีนี้ ชวนคู่รัก เช็ครอยรั่วจาก 7 พฤติกรรมเรื่อง "เงิน" ที่มีโอกาสเปลี่ยน "แฟน" ให้กลายเป็น "แฟนเก่า" แบบไม่ทันตั้งตัว
ว่ากันว่า "ชีวิตคู่" หรือการใช้ชีวิตด้วยกันของ "คนมีคู่" ไม่ว่าจะเป็นแฟน หรือสามีภรรยา มีเรื่องชวนหัวจะปวดได้ทุกวัน เพราะเมื่อต้องมาใช้ชีวิตด้วยกันตลอดเวลาความรักอย่างเดียวไม่พอ!
รู้หรือไม่ว่าเรื่องที่ทำให้คู่รักเลิกรากันได้ ไม่แพ้การนอกใจหรือมีมือที่ 3 คือเรื่อง "เงิน" ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและจำเป็นต้อง "คุยกัน" ให้เข้าใจ แม้จะรู้สึกเคอะเขินบ้างในช่วงแรก แต่มีผลดีในระยะยาว ทำนองเดียวกันตำราสอนรักทั้งหลายมักแนะนำว่า "Sex must say" ถึงจะอยู่กันยืด
"วาเลนไทน์" ทั้งที "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนคนมีคู่มาเช็คพฤติกรรมตัวเองในมิติเงินๆ ทองๆ ให้เข้าใจปัญหาจากสิ่งที่คู่รักรุ่นพี่ต้องเจอ และปรับตัวก่อนที่แฟนที่แสนดี จะกลายเป็นแฟนเก่าที่มองหน้ากันไม่ติด
1. ทัศนคติเรื่องเงินไม่ตรงกัน
การเลี้ยงดูจากครอบครัว สังคม และสิ่งแวดล้อม ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับทัศนคติด้าน "การเงิน" ของแต่ละคน การใช้ชีวิตร่วมกันจึงมีโอกาสที่คน 2 คนจะมีทัศนคติเรื่องเงินต่างกัน
บางคนให้ความสำคัญเก็บออม บางคนอาจมองว่าชีวิตมีครั้งเดียวต้องใช้ให้คุ้ม บางคนชอบการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อแสวงหาผลตอบแทนในขณะที่อีกฝ่ายมองว่าคือหายนะ หากไม่ทำความเข้าใจหรือหาจุดกึ่งกลางในมุมมองการเงินที่ต่างกันอาจบานปลายและลามเป็นเรื่องใหญ่ได้ไม่ยาก
2. ไม่เชื่อใจกันเรื่องเงินๆ ทองๆ
ความไม่เชื่อใจเรื่องเงิน อาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมบางอย่างที่อีกฝ่ายไม่ชอบ เช่น เคยโกหกเรื่องเงิน เคยขโมยเงิน ซ่อนเงิน ฯลฯ ที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า ไม่สามารถไว้ใจกันเรื่องเงินได้
ทันทีที่ความไม่เชื่อใจเรื่องเงินเกิดขึ้น จะทำให้ระแวงในเรื่องอื่นๆ จนทำให้ไม่สามารถปรึกษากันได้ตรงไปตรงมาเมื่อเกิดปัญหาการเงินภายในครอบครัว
แม้การแก้ที่ความรู้สึกให้กลับมาไว้ใจกัน 100% เหมือนเดิมเป็นไปได้ยาก แต่อาจลองหาทางออกที่ต้องปรับพฤติกรรมการเงินของทั้งคู่แบบเปิดใจ อาจช่วยแก้ปัญหาในอนาคตได้
3. ไม่วางแผนการเงินร่วมกัน
การเริ่มต้นชีวิตคู่ ที่ไม่วางแผนการเงินร่วมกัน เป็นอีกเรื่องอันตรายเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่อาจกลายเป็นจุดแตกหักได้
สำหรับคู่ที่ยังไม่ได้วางแผน ต้องวาง แผนระยะสั้น ในกรณีฉุกเฉินให้ครอบคลุมอย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน
แผนระยะยาว อาจมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป บางคู่อาจเตรียมแผนสำหรับมีลูกในอีก 5 ปีข้างหน้า ซื้อบ้านใหม่ในอีก 3 ปีข้างหน้า ฯลฯ ขึ้นอยู่กับความต้องการ รวมถึงการวางแผนเกษียณของแต่ละคน เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อวันหนึ่งวันใดมีเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้น ต่างฝ่ายต่างยังมีเงินประคับประคองชีวิตของตัวเองได้แบบไม่ลำบาก
4. พฤติกรรมการใช้เงิน
แม้จะแต่งงานอยู่ด้วยกันแทบตลอดเวลา แต่เรื่องไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมส่วนตัวเป็นสิ่งที่ห้ามละเลย และต้องมีการเว้นระยะหรือทำความเข้าใจ โดยเฉพาะคนที่มีไลฟ์สไตล์ที่ต่างกันมากๆ
การใช้เงินไปกับสิ่งที่ชื่นชอบส่วนตัว อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่เข้าใจ เช่น อีกฝ่ายชอบสะสมเสื้อทีมฟุตบอล อีกฝ่ายชอบซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม หรือปาร์ตี้กับเพื่อนฝูง เที่ยวกลางคืน ฯลฯ
การมีไลฟ์สไตล์ที่ต่างกันไม่ใช่อุปสรรคของชีวิตคู่ แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มมองว่าอีกฝ่ายใช้เงินไปในเรื่องไลฟ์สไตล์ของตัวเองมากเกินไป จนมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระจะกลายเป็นความขัดแย้งขึ้นได้ง่ายๆ ดังนั้น คนมีคู่อาจจะต้องแบ่งสัดส่วนเงินเพื่อใช้จ่ายในส่วนนี้ให้ชัดเจน หรือตกลงกันตั้งแต่ต้น เพื่อลดโอกาสขัดแย้งกันในเรื่องนี้
5. อำนาจในการบริหารเงินไม่เท่าเทียม
"ผมอยากจะเซอร์ไพรส์ภรรยาในวันสำคัญ แต่ว่าเงินเดือนเราทุกเดือนต้องส่งให้เขาตลอด แล้วได้ใช้วันละร้อยเดียว สุดท้ายก็โดนบ่นว่าไม่เห็นมีเซอร์ไพรส์เหมือนคนอื่นมั่งเลย ทำไงดีครับ?" หรือ "ไม่กล้าแสดงความเห็นอะไรเลย เพราะเราเงินเดือนน้อยกว่าแฟนเกือบเท่าตัว"
ตัวอย่างกระทู้ในเว็บไซต์ชื่อดัง ที่สะท้อนถึงปัญหาเรื่องเงินที่ซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์ของพวกเขา ที่บางคนรู้สึกตัวเล็กกระจิ๋วหลิวทุกครั้งที่ต้องพูดกับคนรักเรื่องเงิน เพราะรู้สึกว่าตัวเอง "ไม่มีอำนาจในการควบคุม" เลย
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน บางคู่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้จัดการเงินแต่เพียงผู้เดียว ถ้าเงินทั้งหมดอยู่ในมือของคนที่บริหารเก่งกว่าและเต็มใจทั้ง 2 ฝ่าย(จริงๆ) ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าอำนาจการใช้เงินตกอยู่กับฝ่ายเดียวแบบแนะนำหรือโต้แย้งไม่ได้เลย ในระยะยาวอาจทำให้อีกฝ่ายเสียความมั่นใจในตัวเอง กดดัน อึดอัด จนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์เรื่องอื่นๆ ตามไปด้วย
6. ชอบเปรียบเทียบกับคู่อื่นๆ
"ทำไมไม่ได้เคยได้ของแพงๆ มาเซอร์ไพรส์เหมือนแฟนคนอื่นบ้างเลย"
"แฟนเพื่อนฉันเลี้ยงตลอด ไม่เคยต้องหารค่าอาหารเลย"
หลายคนต้องเจอการ "เปรียบเทียบ" โดยเฉพาะช่วงวาเลนไทน์ ที่คู่ไหนๆ ก็ต่างแสดงความหวานกันแบบสุดหลอดพลัง หลายคนต้องเจอกับความกระอักกระอ่วนใจจากคนรักเพราะถูกเปรียบเทียบเรื่องเงินๆ ทองๆ กับแฟนคนอื่น เพราะคิดว่าไม่เรื่องใหญ่อะไร มองว่าพูดเล่นๆ หรือพูดเพื่อกระตุ้นเพราะอยากได้แบบเขาบ้าง แม้ดูเป็นเรื่องเล็กที่ไม่ได้ส่งผลกระเงินในกระเป๋าโดยตรง แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของรูรั่วความสัมพันธ์ที่อาจทำให้ต่อกันไม่ติดอีกเลยก็ได้
7. คิดเล็กคิดน้อยเรื่องเงิน (มากเกินไป)
การวางแผนการเงินและใส่ใจรายละเอียดในการจับจ่ายเป็นเรื่องที่ดี การแชร์ค่าใช้จ่ายกันก็ทำได้หากสบายใจทั้งสองฝ่าย แต่หากก้าวไปถึงขั้น "จุกจิก" จนออกแนว "ตระหนี่" คิดทุกบาททุกสตางค์ ขาดเกินไม่ได้ หาเรื่องจับผิดทุกย่างก้าว ก็อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ ใครที่รู้ตัวว่ามีพฤติกรรมแบบนี้คนคู่รักของตัวเองออกแววอึดอัดต้องรีบปรับตัว ก่อนที่เรื่องเล็กๆ จะพอกหนา ทับความรักที่มีให้กันจนมองไม่เห็น