“ไอเอชจี” ยกไทยตลาดยุทธศาสตร์ท่องเที่ยว วาดเป้า 5 ปี เติมพอร์ตโรงแรมเท่าตัว

“ไอเอชจี” ยกไทยตลาดยุทธศาสตร์ท่องเที่ยว วาดเป้า 5 ปี เติมพอร์ตโรงแรมเท่าตัว

ไทยยังเป็นเดสทิเนชั่นของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ไอเอชจี ประกาศแผน 3-5 ปี ลุยบริหารโรงแรมเพิ่ม 30-34 แห่ง เพิ่มพอร์ตโฟลิโอห้องพักโตเท่าตัวอีก 8,000 ห้อง จากมีอยู่ 8,000 ห้อง ใน 29 โรงแรม ชี้วิกฤติ 2 ปีหนักหน่วง ต้องปรับโครงสร้างทีมงานให้เล็ก ยืดหยุ่นทำงานประคองธุรกิจรอด

กว่า 2 ปีที่ทั้งโลกตกอยู่ภายใต้วิกฤติโรคโควิด-19 ระบาด และหนึ่งในธุรกิจที่ไดรับผลกระทบมหาศาลคือ “การท่องเที่ยว” ทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่เดือดร้อนถ้วนหน้า อัตราการเข้าพักหายวับไปกับตา เพราะผู้คนล็อกดาวน์ตัวเองอยู่บ้าน รายได้ที่เคยอู้ฟู่ต้อง “หดหาย” ซ้ำร้ายต้อง “ขาดทุน” และกระเทือนสภาพคล่อง

ปี 2565 เครือโรงแรมยักษ์ใหญ่ท็อป 5 ของโลก อย่างกลุ่มไอเอชจี(IHG)ที่มีโรงแรมกว่า 6,000 แห่ง จำนวนห้องพักกว่า 8.9 แสนห้อง ใน 100 ประเทศทั่วโลก มองสัญญาณท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว พร้อมประกาศแผนรุก 5 ปี จะขยายธุรกิจโรงแรมในไทยผลักดันการเติบโต “เท่าตัว”

ราจิต สุขุมารัน กรรมการบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี ไอเอชจี เล่าบทเรียน 2 ปีที่ต้องขับเคลื่อนธุรกิจโรงแรมฝ่าวิกฤติครั้งใหญ่จากโรคระบาดคือพบว่าไม่มีวิธีการแก้ปัญหาใดที่สามารถใช้ครอบจักรวาลหรือ No one size fits all อีกต่อไป การบริหารโรงแรมแต่ละจุดหมายปลายทาง จากแต่ละเจ้าของ และในแต่ละประเทศแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ขณะเดียวกันช่วงที่ผ่านมา ไอเอชจี ได้ปรับโครงสร้างองค์กร ทีมงานให้มี “ขนาดเล็กลง” เพื่อให้การทำงานมีความยืดหยุ่นมากพอจะรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงทำให้เคลื่อนตัวเร็วลงไปใกล้ชิดกับตลาดมากขึ้น ซึ่งโครงสร้างธุรกิจใหญ่อาจเป็นอุปสรรค

“การทำงานในช่วงวิกฤติทั้งกับพาร์ทเนอร์ เจ้าของ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆมีความยากมาก แต่บริษัทมีความพร้อมตลอดเวลา และช่วงนี้ที่มองว่าปลายสถานการณ์โรคโควิดระบาด เราจะทำงานได้ดีขึ้น”

มองบวกว่าโควิดจะคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น การขับเคลื่อนธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย 3-5 ปีข้างหน้า ยังคงวางแผนเชิงรุกด้วยการผนึกพันธมิตรรับบริหารโรงแรมเพิ่ม รวมถึงการลงทุนพัฒนาโรงแรมแห่งใหม่รวม 30–34 แห่ง เพิ่มจำนวนห้องพักในพอร์ตโฟลิโอเติบโต “เท่าตัว” หรือราว 8,000 ห้อง จากปัจจุบันมีจำนวนห้องพัก 8,000 ห้อง จากโรงแรม 29 แห่ง

สำหรับจำนวนโรงแรมที่จะเข้ามาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอดังกล่าวถือว่า “เพิ่มขึ้น” จากแผนเดิมก่อนเกิดโควิด-19 เนื่องจากบริษัทยังเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย และยังยกให้เป็นตลาดเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคอาเซียนและเกาหลี หลังข้อมูลวิจัยตลาดของไอเอชจีในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา พบฐานข้อมูลสำคัญว่าประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอันดับ 1 ที่ถูกค้นหามากสุด จากนักท่องเที่ยวทั้งอาเซียนและเกาหลี โดย “กรุงเทพฯ” เป็นเดสทิเนชั่นในฝัน ตามด้วย “ภูเก็ต”

เมื่อท่องเที่ยวไทยยังเป็น “ขุมทรัพย์” แห่งโอกาส โรงแรมที่จะเปิดใหม่จึงต้องสร้างความว้าว! ดึงดูดนักเดินทาง โดยเฉพาะช่วงนี้ต้องพึ่งตลาดในประเทศจากบรรดา “คนไทยเที่ยวล้างแค้น” ไปก่อน สำหรับโรงแรมใหม่ๆที่จะทำตลาด ได้แก่ การร่วมกับบริษัท สยามสินธร จำกัด(มหาชน) พัฒนาโครงการสินธร มิดทาวน์ให้เป็นโรงแรม “เดอะ วีนแยทท์ คอลเล็คชั่น” แห่งแรกในไทยและอาเซียน, ฮอลิเดย์อินน์ รีสอร์ท สมุย บ่อผุด บีช, สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท พร้อมพงศ์ และอินเตอร์คอนติเนนตัล เขาใหญ่ รีสอร์ท ฯ เป็นต้น

แผนดังกล่าวจะผลักดันให้เกิดการเติบโตของโรงแรมจากทุกแบรนด์ในไทย รวมถึงการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอลักชัวรีและไลฟ์สไตล์ 50% ด้วย

ด้านภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ข้อมูลจาก สมิธ ทราเวล รีเสิร์ชหรือ STR ช่วงปลายไตรมาส 4 ธุรกิจโรงแรมมีอัตรากาเข้าพัก 30% ซึ่งฟื้นตัวขึ้น

“โควิดกระทบดีมานด์การท่องเที่ยวใหญ่หลวง อัตราการเข้าพักต่ำ แต่ตอนนี้สัญญาณตลาดฟื้น ส่วนอนาคตยังคาดการณ์ยากจะมีทิศทางอย่างไร เพราะยังมีข้อจำกัดจากเงื่อนไขการเดินทางแต่ละประเทศ โรคระบาดที่จะเกิดขึ้น รวมถึงมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทยโดยยกเว้นการกักตัว หรือ Test&Go ที่เริ่มใช้อีกครั้งยังไม่เห็นผลลัพธ์”