"น้ำมัน"ดันต้นทุนสินค้าอาหาร 1.45% “พาณิชย์"ชี้ยังไม่มีเหตุผลขอขึ้นราคา
กรมการค้าภายในวิเคราะห์ต้นทุนน้ำมันดีเซลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า พบปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก อาหารเครื่องดื่มแค่ 1.45% ของใช้ประจำวัน 1.1% วัสดุก่อสร้าง 1.2% ปัจจัยเกษตร 0.5% ใช้เป็นเหตุผลปขึ้นราคาไม่ได้ พร้อมขอความร่วมมือผู้ผลิตตรึงราคาสินค้าจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบต้นทุนน้ำมันดีเซลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการโดยได้ทำการวิเคราะห์ต้นทุนน้ำมันดีเซลที่ 25 บาทต่อลิตร เพิ่มเป็น 30 บาทต่อลิตร พบว่า มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าไม่มาก จึงไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ผลิตจะใช้ในการปรับขึ้นราคา และได้ขอความร่วมมือให้ตรึงราคาสินค้าไปก่อน
โดยผลการวิเคราะห์ เช่น สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.45% ของใช้ประจำวัน เพิ่ม 1.1% วัสดุก่อสร้าง เพิ่ม 1.2% กระดาษและผลิตภัณฑ์ เพิ่ม 5% ปัจจัยการเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช เพิ่ม 0.5% เป็นต้น
ขณะนี้รัฐบาลได้เข้ามาดูแลราคาน้ำมันดีเซลอยู่แล้ว ไม่น่าที่จะปรับเพิ่มขึ้น คงจะอยู่ในระดับ 30 บาทต่อลิตร ซึ่งทำให้ต้นทุนสินค้าไม่ปรับเพิ่มไปมากกว่านี้ จึงเบาใจในเรื่องต้นทุนน้ำมันที่จะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ส่วนต้นทุนในด้านการขนส่ง กรมฯ ได้มีการติดตามเช่นเดียวกัน พบว่า มีผลกระทบมากน้อยต่างกัน แล้วแต่ชนิดสินค้า แต่โดยภาพรวม ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการดูแลราคาสินค้าไม่ให้ส่งผลกระทบกับผู้บริโภค กรมฯ ได้เชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมการค้า ผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการ มาหารือเป็นรายกลุ่มสินค้าแล้ว เพื่อประเมินสถานการณ์สินค้าแต่ละรายการแล้ว และได้แจ้งขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้า เพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่มีนโยบายให้ปรับขึ้นราคาในช่วงนี้ ยกเว้นผู้ผลิต ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้จริง ก็จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป โดยมีหลัก คือ ผู้บริโภคต้องไม่เดือดร้อนจนเกินไป และผู้ผลิตต้องอยู่ได้
สำหรับแนวโน้มราคาสินค้า พบว่า หลายรายการมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เช่น ปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการทำการเกษตร โดยราคาแม่ปุ๋ยยูเรีย ลดลง 17% จากราคาในเดือนธ.ค.2564 อยู่ที่ 953 ดอลลาร์ต่อตัน เหลือ 790 ดอลลลาร์ต่อตัน ฟอสเฟต ลดลง 5% จากราคา 908 ดอลลาร์ต่อตัน เหลือ 859 ดอลลาร์ต่อตัน ส่วนโปรแตช เพิ่มขึ้น 8% จาก665 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 724 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ที่ใช้เยอะ ก็คือ ยูเรีย ซึ่งจะทำให้แนวโน้มราคาปุ๋ยในประเทศปรับตัวลดลง
ขณะที่สินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภค ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคาได้แล้วหลายกลุ่ม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำอัดลม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซอสปรุงรส นมและผลิตภัณฑ์จากนม อาหารกระป๋อง อาหารสด เช่น ไข่ไก่ เนื้อไก่ และเนื้อหมู ที่ล่าสุดหลังจากตรึงราคาหน้าฟาร์ม ส่งผลให้ราคาทรงตัว และปัจจุบันเริ่มปรับตัวลดลงแล้ว
ส่วนการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เบื้องต้นประเมินว่า หากมีการปรับขึ้นจริง ก็ส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการทำอาหารปรุงสำเร็จไม่มาก ต้นทุนเพิ่มขึ้นต่อจาน/ชาม แค่หลักสตางค์ แต่ตอนนี้ ยังไม่มีการปรับขึ้น ก็ขอแจ้งเตือนไปยังผู้ค้า อย่าใช้เป็นเหตุผลในการปรับขึ้นราคา
นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีแผนที่จะประสานงานไปยังซับพลายเออร์ เพื่อให้จัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคต้นทุนถูก เช่น ของใช้ส่วนบุคคล สบู่ แชมพู ยาสระผม ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน เป็นต้น ให้กับร้านค้าธงฟ้าที่มีอยู่ 1.3 แสนราย เพื่อนำไปจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภค และช่วยลดภาระค่าครองชีพ รวมทั้งกำลังพิจารณาจัดจำหน่ายสินค้าราคาถูก เพื่อแทรกแซงตลาดตามความจำเป็น หากพบว่าสินค้ากลุ่มใดมีราคาปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่ได้รับงบประมาณกลางจากรัฐบาลในการจัดทำโครงการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน