เฉลิมชัย ปิดอ่าวไทย 120 วัน เว้นช่วงปลาทูวางไข่ ฝ่าฝืน จับปรับหนัก 30 ล้านบาท
กรมประมง ประกาศ ‘ปิดอ่าวไทย’ ประจำปี 2565 ครอบคลุมพื้นที่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี 120 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. – 14 มิ.ย. เปิดทางสัตว์น้ำวางไข่ ฝ่าฝืนโทษหนัก ทั้งจำ ปรับสูงถึง 30 ล้านบาท
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ภายหลังเป็นประธานพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทย ปี 2565 (ปิดอ่าวไทย) และร่วมประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พร้อมปล่อยขบวนเรือเจ้าหน้าที่เพื่อออกปฏิบัติหน้าที่ในช่วงประกาศใช้มาตรการดังกล่าว โดยมีเรือตรวจประมงทะเลเข้าร่วมขบวนทั้งสิ้น 8 ลำ ณ บริเวณชายทะเลอ่าวประจวบคีรีขันธ์ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่า
จากผลการศึกษาวิจัยทางวิชาการของกรมประมงพบว่า ระหว่างเดือน ก.พ.- มิ.ย. ของทุกปี พื้นที่ทะเลอ่าวไทยบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ของสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจหลายชนิด โดยเฉพาะปลาทู ได้อาศัยเป็นแหล่งวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อให้การใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำ ให้มีความสมดุลกับศักยภาพการผลิตของธรรมชาติ และมีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยได้กำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.- 14 มิ.ย. ของทุกปี ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในพื้นที่ทะเลอ่าวไทยบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และกำหนดพื้นที่ควบคุมต่อเนื่องจากมาตรการปิดอ่าวฯ ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. -14 มิ.ย.ของทุกปี บริเวณพื้นที่อ่าวประจวบฯ
“การจัดพิธีประกาศปิดอ่าวในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องชาวประมง ประชาชน สมาคมประมง โรงเรียน หน่วยงานราชการในพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะชุมชนประมงต้นแบบ และกลุ่มเครือข่ายอาสาเฝ้าระวังการทำการประมงที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของกรมประมง ในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในท้องถิ่นของตนเอง
ซึ่งจากการประกาศใช้มาตรการในปีที่ผ่านมา พบว่า มีพ่อ-แม่พันธุ์ปลาทู มีความสมบูรณ์เพศ และมีการแพร่กระจายของลูกปลาทู และสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่นในพื้นที่ ที่ประกาศใช้มาตรการ และในพื้นที่อ่าวไทยบริเวณบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเปรียบเทียบองค์ประกอบของลูกปลาทู และสัตว์น้ำชนิดอื่นพบว่า ระยะเวลาและพื้นที่บังคับใช้มาตรการ สอดคล้องกับการเลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำขนาดเล็ก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปลาเริ่มเคลื่อนย้ายเข้าสู่อ่าวไทยรูปตัว ก เป็นแหล่งเลี้ยงตัวอ่อนที่สำคัญ”
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า สำหรับมาตรการดังกล่าว เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2496 จนถึงปัจจุบัน โดยได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาเป็นระยะๆ โดยปัจจุบันเป็นมาตรการที่อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 70 และได้กำหนดระยะเวลาและพื้นที่ เป็น 2 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 พื้นที่ทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครอบคลุมพื้นที่ในทะเล 27,000 ตารางกิโลเมตร ระยะเวลาห้ามทำการประมง ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.-15 พ.ค. ของทุกปี
และ ระยะที่ 2 พื้นที่อ่าวไทยตามระยะที่ 1 ปรับลดลงมาให้คงห้ามทำการประมงในระยะใกล้ฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งสัตว์น้ำวัยอ่อนอพยพไปยังพื้นที่เลี้ยงตัวอ่อนในอ่าวไทยตอนใน
ครอบคลุมพื้นที่ 5,300 ตารางกิโลเมตร และกำหนดห้ามทำการประมงเพิ่มเติมในพื้นที่ตั้งแต่เขาม่องไล่ ไปทางทิศเหนือ จรดอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมพื้นที่ 2,900 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.-14 มิ.ย. ของทุกปี ในพื้นที่และห้วงเวลาที่กำหนดห้ามมิให้ทำการประมง เว้นแต่เป็นการใช้เครื่องมือบางชนิด ตามที่ระบุไว้ในประกาศเท่านั้น ที่จะใช้ทำการประมงได้
โดยการดำเนินมาตรการฯ มีความสอดคล้องกับวงจรชีวิตปลาทู สามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืนในช่วงเวลาและพื้นที่เดิมโดยอนุญาตให้ใช้เฉพาะเครื่องมือประมงบางชนิดซึ่งเป็นของกลุ่มประมงขนาดเล็ก และไม่กระทบกับมาตรการปิดอ่าวไทยเท่านั้น เช่น
เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ขนาดความยาวไม่เกิน 16 เมตร ต้องทำการประมงในเวลากลางคืน และทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง เครื่องมืออวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส มีช่องตาอวนตั้งแต่ 2 นิ้วขึ้นไป เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง ลอบปู ลอบหมึก ซั้ง เป็นต้น โดย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจและสุ่มเก็บตัวอย่างปลาทูในช่วงมาตรการปิดอ่าวไทย ในรอบปี 2564 พบว่าพ่อ แม่ปลามีความสมบูรณ์เพศ โดยเฉพาะปลาทู พบพ่อแม่พันธุ์ มีขนาดความยาวเฉลี่ย 18.5 เซนติเมตร นอกจากนี้ ยังพบลูกปลาเศรษฐกิจ ลูกปลาทู - ลัง และปลาทูขนาดเล็กมีการเคลื่อนย้ายจากเขตปิดอ่าวตอนกลางขึ้นมาอาศัยเลี้ยงตัวในอ่าวไทยรูปตัว ก จึงแสดงให้เห็นว่า ห้วงเวลา พื้นที่ และเครื่องมือที่อนุญาตให้ทำการประมงตามประกาศมาตรการปิดอ่าวไทย มีความเหมาะสม สอดคล้องกับวงจรชีวิตสัตว์น้ำ
โดยการสำรวจแต่ละช่วงเวลาที่ได้ปิดอ่าว พบว่ามีลูกปลาวัยอ่อนที่เกิดบริเวณพื้นที่มาตรการมีโอกาสเลี้ยงตัวบริเวณชายฝั่ง และเขตต่อเนื่องปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพบลูกปลาขนาดเล็ก เดินทางเคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทยรูปตัว ก เพื่อให้ปลาทูสาวให้เจริญเติบโตเป็นพ่อ แม่พันธุ์ต่อไป
ดังนั้น แสดงให้เห็นว่ามาตรการปิดอ่าวเป็นการห้ามทำการประมงเฉพาะบางพื้นที่และช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น โดยเครื่องมือทำการประมงส่วนใหญ่ที่กำหนดห้ามทำการประมงในช่วงเวลาปิดอ่าวเป็นกลุ่มเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น อวนลาก อวนล้อมจับ และอวนล้อมจับปลากะตัก เป็นต้น โดยกลุ่มเรือที่ใช้เครื่องมือดังกล่าวนี้สามารถย้ายแหล่งทำการประมงไปนอกพื้นที่ปิดอ่าวได้
และสำหรับการใช้เครื่องมืออวนติดตาปลายังอนุญาตให้ทำการประมงในช่วงเวลาปิดอ่าวได้เฉพาะเรือประมงพื้นบ้านที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส และขนาดช่องตาอวนไม่ต่ำกว่า 2 นิ้ว โดยการทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งความยาวอวนติดตาปลาที่ใช้ต้องไม่เกิน 2,500 เมตร จึงไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดอ่าวมากนัก
“กรมประมงต้องขอความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และระมัดระวังการทำประมงโดยให้ทำประมงเฉพาะเครื่องมือที่ประกาศให้ใช้ได้เท่านั้น เครื่องมืออื่นๆ ห้ามทำโดยเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษ ปรับตั้ง 5,000 - 30 สิบล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวน 5เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย “
ทั้งนี้ภายหลังพิธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหนังสือรับรองมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวประมงพื้นบ้าน จำนวน 8 ราย มอบแผ่นป้ายเงินอุดหนุนโครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน และมอบพันธุ์กุ้งก้ามกราม จำนวน 700,000 ตัว ให้แก่ผู้นำชุมชน นำไปปล่อยเพื่อเพิ่มผลผลิตในแหล่งน้ำธรรมชาติ และสร้างรายได้ให้กับชุมชน ณ แม่น้ำปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ตลอดจนร่วมกันปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่ง จำนวน 220,000 ตัว ประกอบด้วย กุ้งกุลาดำ 100,000 ตัว กุ้งแชบ๊วย 100,000 ตัว และปลากะพงขาว 20,000 ตัว ลงในอ่าวประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเพิ่มผลผลิตลงในแหล่งน้ำธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งด้วย
จากนั้นได้เปิดโครงการกระจายสินค้าประมงพื้นบ้านสู่ผู้บริโภค (Fisherman Market) ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้าน และชาวประมงในพื้นที่จังหวัดชายทะเลทั้ง 23 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการ “กระจายสินค้าประมงพื้นบ้านสู่ผู้บริโภค”
โดยเปิดช่องทางการตลาดสำหรับกระจายผลผลิต จำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำเพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ รวมถึงสนับสนุนพัฒนาทักษะการขาย การแปรรูป และการบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพให้เกิดความมั่นคงในระยะยาวต่อไป
โดยในส่วนกลาง กรมประมงได้เปิดตลาด Fisherman Market ในทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ เพื่อให้ชาวประมงพื้นบ้านได้นำสินค้า และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ คุณภาพดี มีมาตรฐาน มาวางจำหน่ายให้ผู้บริโภคได้ร่วมอุดหนุนในราคาสุดพิเศษ ซึ่งมีสินค้ามาวางจำหน่ายมากมายหลายรายการ หมุนเวียนกันไปแต่ละสัปดาห์ด้วย
ทั้งนี้ สำหรับตลาด Fisherman Market ภายในงาน มีเกษตรกร และพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านนำสินค้า ผลิตภัณฑ์ประมงมาจำหน่าย กว่า 30 ร้าน อาทิ ร้าน Seafood สดๆ เช่น หอยนางรม ปูม้า หอยแมลงภู่ ปลาทะเล ปลาทราย ฯลฯ จากกลุ่มประมงพื้นบ้าน และผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น หมึกแห้ง ปลาอินทรีแดดเดียว ปลาเค็ม กะปิ น้ำพริกปูม้า หอยแมลงภู่ดอง ปลากะตักทอดกรอบ กุ้งหวาน หมึกกะตอย กุ้งแห้ง ห่อหมกทะเล เป็นต้น
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์