สแกน “หุ้นส่งออกไทย” ตัวไหนรุ่งน่าลงทุน?
เศรษฐกิจไทยปี 2565 เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว หลังถูกพิษโควิด-19 เล่นงานหนักมา 2 ปี แต่เมื่อโรคระบาดเริ่มคลี่คลาย จำนวนผู้ป่วยอาการหนักลดลง ขณะที่ยอดการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นำมาสู่การผ่อนคลายมาตรการคุมเข้ม ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ พร้อมกับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว โดยกระทรวงการคลังคาดจีดีพีไทยปีนี้เติบโตในกรอบ 3.5-4.5% หรือ มีค่ากลางที่ 4% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานต่ำของปี 2564 ซึ่งเศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 1.2% จากปี 2563 ที่ติดลบ 6.1%
โดยมองว่าการใช้จ่าย การบริโภคในประเทศจะคึกคักขึ้น จากมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง, ช้อปดีมีคืน, เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ ขณะเดียวกันรัฐพร้อมเร่งเครื่องการลงทุน หลังงานประมูลหลายโครงการล่าช้ามานาน ส่วนภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ
แต่อย่างไรก็ตาม เครื่องยนต์สำคัญที่สุดที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ ต้องยกตำแหน่งให้กับ “การส่งออก” ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า
นอกจากนี้ ยังเป็นปีแรกที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีมูลค่าการค้ารวมกันมากกว่า 30% ของมูลค่าการค้าทั้งโลก ประกอบกับจะมีการฟื้นฟูการค้ากับตลาดใหม่ๆ อย่างซาอุดีอาระเบีย
แม้ตัวเลขส่งออกปีนี้อาจไม่ร้อนแรงเท่าปีที่ผ่านมาซึ่งเติบโตถึง 17% แต่ยังขยายตัวต่อเนื่อง รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเคาะตัวเลขไว้ที่ 3.6% ส่วนในมุมของเอกชนสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ประเมินว่าจะเติบโต 5-8% หรือ มีมูลค่าราว 284,880-293,020 ล้านดอลลาร์
โดยประเดิมเดือนแรก ม.ค. ทำรายได้เข้ามาแล้ว 22,000 ล้านดอลลาร์ จึงมั่นใจว่าการส่งออกไตรมาส 1 ปี 2565 จะเติบโตได้ 5% ตามเป้าแน่นอน แม้ทั่วโลกจะเผชิญกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอมิครอน แต่แทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกเห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน
นำโดยกลุ่มน้ำตาลทราย, ยางพารา, น้ำมันเสร็จรูป, สิ่งทอ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เคมีภัณฑ์ และข้าว ที่จะเติบโตมากกว่า 10% จากปีก่อน ส่วนพลาสติก, เครื่องจักรกล, ยานพาหนะและส่วนประกอบ, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อาหาร, มันสำปะหลัง, เฟอร์นิเจอร์ คาดเติบโต 5-9% และกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ประเมินว่าจะเติบโตไม่เกิน 5%
หากอิงจากข้อมูลของ สรท. เชื่อว่าปีนี้จะเป็นปีที่ดีสำหรับหุ้นส่งออก ทั้ง “กลุ่มน้ำตาลทราย” ซึ่งได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ 14 เซ็นต์ต่อปอนด์ แต่ปีนี้เคลื่อนไหวเฉลี่ยราว 18-20 เซ็นต์ต่อปอนด์ หลังผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากอินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตหลักประสบปัญหาเรื่องการขนส่ง
ไปดูในฝั่งของผู้ประกอบ บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ตั้งเป้ารายได้โต 50% จากดีมาน์ที่สูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ด้านบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS มั่นใจว่าจะเติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจ หลังปริมาณอ้อยปีนี้ออกมามากกว่าปีก่อน แถมคุณภาพดีกว่าจากฝนที่ตกชุก ทำให้ได้กากน้ำตาลไปผลิตเอทานอลมากขึ้น และได้ชานอ้อยป้อนให้โรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อยมากขึ้นเช่นกัน
ส่วน “กลุ่มยางพารา” ได้อานิสงส์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ส่วนถุงมือยางแม้ยังมีความต้องการสูง แต่ถูกกดดันจากราคาที่ปรับตัวลดลง
โดยบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ที่ 28,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่คาดทำได้ 24,500 ล้านบาท
ด้าน “กลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน” ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตั้งเป้ายอดผลิตรถยนต์ปีนี้ที่ 1.8 ล้านคัน จากปีก่อนที่ 1.68 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคัน จากปีก่อน 956,530 คัน และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 8 แสนคัน จากปีก่อน 729,175 คัน
โดยบริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH มั่นใจว่ารายได้ปีนี้จะเติบโตจากปีก่อนแน่นอน ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก และรับรู้รายได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่
“กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์” ที่ผ่านมาดิ่งหนักตามหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐ แต่เชื่อว่าในระยะยาวยังเป็นกลุ่มที่น่าสนใจจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล ขณะที่ปัญหาชิพขาดแคลนจะค่อยๆ คลี่คลาย
โดยบล.เอเซีย พลัส ระบุว่า หุ้นส่งออกของไทยเป็นอีกกลุ่มที่น่าสะสมลงทุน เช่น KSL, NER, STA, SAT, CPF, TU เป็นต้น จากแนวโน้มการส่งออกที่เติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับล่าสุด กนง. คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% ช่วยให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่ามากเกินไปจนกดดันการส่งออกของไทยปีนี้