อยากเป็น "ยูทูบเบอร์" ต้องรู้ "ภาษียูทูบเบอร์" ต้องเสียอย่างไร

อยากเป็น "ยูทูบเบอร์" ต้องรู้ "ภาษียูทูบเบอร์" ต้องเสียอย่างไร

“ภาษียูทูบเบอร์” สำหรับประเทศไทย ยังไม่ได้มีบรรจุในกฎหมายว่าให้ "เสียภาษี" โดยตรง แต่ก็เป็นหนึ่งในอาชีพที่ต้องเสียภาษีไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ แต่เนื่องจาก "ยูทูบเบอร์" มีรายได้เข้ามาหลายทาง จึงจำเป็นต้องเสียภาษีแยกตามประเภทรายได้นั้นๆ

ปัญหาใหญ่ของเหล่ายูทูบเบอร์ที่กำลังประสบอยู่ คือเรื่องของ “ภาษี” เพราะเชื่อว่า ณ เวลานี้มีหลายช่องที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายถึง 24% ของรายได้จากคนดูทั่วโลกไปแล้วแบบไม่ทันตั้งตัว

เนื่องจากก่อนหน้านี้ยูทูบเบอร์ หรือครีเอเตอร์ทุกคนที่สร้างรายได้บน YouTube โดยรายได้จากผู้ชมในสหรัฐอเมริกาผ่านการดูโฆษณาจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะต้องส่งข้อมูลภาษีให้เรียบร้อยภายในวันที่ 31 พฤษภาคมปีที่ผ่านมา แต่หากใครไม่ได้ส่งข้อมูลภาษี หรือส่งข้อมูลภาษีไม่สำเร็จ อาจถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 24% จากรายได้ที่มีคนดูทั่วโลกได้

ส่วน “ภาษียูทูบเบอร์” สำหรับประเทศไทย ยังไม่ได้มีบรรจุในกฎหมายว่าให้เสียภาษีโดยตรง แต่ก็เป็นหนึ่งในอาชีพที่ต้องเสียภาษีไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ แต่เนื่องจากยูทูบเบอร์มีรายได้เข้ามาหลายทาง จึงจำเป็นต้องเสียภาษีแยกตามประเภทรายได้นั้นๆ เช่นกัน

เห็นแบบนี้อาจเริ่มร้อนๆ หนาวๆ กันบ้างแล้วใช่ไหมคะ เพื่อไม่ให้เหล่ายูทูบเบอร์ทั้งหลายต้องเสียภาษีไปมากกว่านี้ รีบไปทำความรู้จักกับ “ภาษียูทูบเบอร์” กันดีกว่าค่ะ

  • รายได้จากไหนบ้าง...ที่ "ยูทูบเบอร์" ต้องเสียภาษี

การเสียภาษียูทูบเบอร์ของประเทศไทย จะต้องแยกตามประเภทของรายได้ที่ได้รับ ซึ่งรายได้ของยูทูบเบอร์สามารถแยกตามประเภทรายได้ได้ดังนี้

1.รายได้จากการโฆษณา เป็นรายได้ที่มาจากโฆษณา Google Ads ที่มักขึ้นมาก่อนเข้าดูคลิปจริง และขณะเล่นคลิปก็จะมีโฆษณาคั่นขึ้นมา รวมถึงตอนจบคลิปด้วย ซึ่งจัดเป็นรายได้ประเภทที่ 8 (40(8)) คือหักค่าใช้จ่ายตามจริง ต้องมีหลักฐานใช้จ่ายครบถ้วน

2.รายได้จากยอด View และยอดผู้ติดตามบนช่องยูทูบ เป็นรายได้ที่มาจากยอดคนเข้ามาดู และยอดคนติดตามช่องยูทูบ โดยรายได้นี้จะเกิดขึ้นเมื่อมียอดติดตาม 1,000 คนขึ้นไป และมียอดคนดูทุกคลิปรวมกันเกิน 4,000 ชั่วโมง ใน 1 ปี ซึ่งจัดเป็นรายได้ประเภทที่ 8 คือหักค่าใช้จ่ายตามจริง ต้องมีหลักฐานใช้จ่ายครบถ้วน

3.รายได้จาก Sponsor หรือ Tie-in สินค้าภายในคลิป เป็นรายได้ที่มาจากผู้จ้างจ้างให้รีวิวสินค้า ถ้ารับจ้างรีวิวแบบทำคนเดียว เป็นการทำงานแลกเงินตามปกติ เช่น รีวิวครีม รีวิวอาหาร จัดเป็นรายได้ประเภทที่ 2 (40(2)) หักแบบเหมา 50% แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

แต่ถ้าหากผู้จ้างจ้างให้รีวิวแบบเหมาต้องมีทีมงานโปรดักชั่น มีการจ้างทำของที่มีค่าใช้จ่ายสูง จะจัดเป็นรายได้ประเภทที่ 8 คือหักตามจริง ต้องมีหลักฐานใช้จ่ายครบถ้วน

4.รายได้จากงาน Event เป็นรายได้ที่มาจากการจ้างให้ออกงานอีเวนต์จากการที่เป็นยูทูบเบอร์ จัดเป็นรายได้ประเภทที่ 2 หักแบบเหมา 50% แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

หรือถ้าหากมีการขยับจากยูทูบเบอร์ไปเป็นนักแสดง เมื่อมีการจ้างให้ออกงานอีเวนต์ จะจัดเป็นรายได้ประเภทที่ 8 นักแสดงสาธารณะ คือหักค่าใช้จ่าย 300,000 แรกแบบเหมา 60% และส่วนที่เกิน 300,000 หักเหมา 40% แต่รวมทั้งหมดไม่เกิน 600,000 บาท หรือหักตามจริง

5.รายได้จากการขายสินค้าและบริการ เป็นรายได้ที่มาจากผลิตภัณฑ์สินค้าภายใต้แบรนด์ของยูทูบเบอร์เอง หรือที่ซื้อมาขายไป โดยจัดเป็นรายได้ประเภทที่ 8 คือรายได้จากการค้าขาย สำหรับร้านค้าที่ผลิตสินค้าเอง ให้หักค่าใช้จ่ายตามจริง แต่ถ้าสินค้าที่รับซื้อมา ให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60%

  • รายได้เท่าไร...ที่ยูทูบเบอร์ต้องเสียภาษี และวิธีการคำนวณ

ตามหลักการแล้วสำหรับยูทูบเบอร์ที่ไม่ได้จดบริษัทเป็นนิติบุคคล จะคำนวณภาษีในรูปแบบบุคคลธรรมดา คือเมื่อมีรายได้ทั้งปี 120,000 บาท ต้องยื่นภาษี แต่ถ้ารายได้หลังหักค่าใช้จ่ายตามประเภทของเงินได้ และหักค่าลดหย่อนส่วนตัวแล้ว หากมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท ต้องเสียภาษี

การคำนวณอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ใช้สูตรคือ

(รายได้ – ค่าใช้จ่ายตามประเภทของเงินได้ – ค่าลดหย่อนส่วนตัว)
x อัตราภาษีก้าวหน้า
= ภาษีที่ต้องจ่าย

และหลังจากนำรายได้หักลบด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว จะนำยอดตัวเลขที่ได้มาคูณกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (อัตราภาษีก้าวหน้า) แบบขั้นบันไดดังนี้

  • รายได้สุทธิ 1 - 150,000 บาท ได้รับการยกเว้น
  • รายได้สุทธิ 150,001 - 300,000 อัตราค่าภาษี 5% (เสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท)
  • รายได้สุทธิ 300,001 - 500,000 อัตราค่าภาษี 10% (เสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 27,000 บาท)
  • รายได้สุทธิ 500,001 - 750,000 อัตราค่าภาษี 15% (เสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 65,000 บาท)
  • รายได้สุทธิ 750,001 - 1,000,000 อัตราค่าภาษี 20% (เสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 115,000 บาท)
  • รายได้สุทธิ 1,000,001 - 2,000,000 อัตราค่าภาษี 25% (เสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 365,000 บาท)
  • รายได้สุทธิ 2,000,001 - 5,000,000 อัตราค่าภาษี 30% (เสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 1,265,000 บาท)
  • รายได้สุทธิ 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35% (เสียภาษีมากกว่า 1,265,000 บาท)

การคำนวณอัตราภาษีเงินได้ ยูทูบเบอร์ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะใช้วิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยใช้สูตรคือ

(รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ

แล้วนำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท + รายได้ทั้งปีไม่เกิน 30 ล้านบาท ดังนี้

  • กำไร 300,000 บาทแรก = ยกเว้นภาษี
  • กำไร 300,001 – 3 ล้าน = ภาษี 15%
  • กำไรมากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป = ภาษี 20%

แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว ให้จัดอยู่ในอัตราภาษีเท่ากับ 20% ตั้งแต่กำไรบาทแรก

  • ยูทูบเบอร์ต้องเสียภาษีให้สหรัฐอเมริกาด้วย ?

นอกจากนี้ยูทูบเบอร์ หรือครีเอเตอร์เปิดช่องสร้างรายได้บนยูทูบ ที่เข้าร่วมโปรแกรมพาร์ตเนอร์ (YPP) เมื่อมีรายได้จากคนดูในสหรัฐอเมริกาผ่านการดูโฆษณา จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายของสหรัฐอเมริกา ซึ่งยูทูบเบอร์ทุกคนทั้งที่เปิดช่องมานานแล้วและที่เพิ่งเปิดช่องใหม่ รวมถึงที่กดสร้างรายได้และไม่กดสร้างรายได้ จะต้องเข้าไปกรอกข้อมูลภาษีในแบบฟอร์ม Google AdSense

อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับยูทูบเบอร์ที่เข้าไปกรอกข้อมูลภาษีสำเร็จแล้ว แบ่งได้ดังนี้

- บุคคลธรรมดา รายได้จากยอดคนดูในสหรัฐอเมริกาผ่านการดูโฆษณา หักภาษี ณ ที่จ่าย 0-24% โดยเริ่มต้นที่ 24% หากมีความสัมพันธ์ทางสนธิสัญญาภาษีกับสหรัฐอเมริกา ก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายน้อยลง (ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของแต่ละประเทศ) ส่วนรายได้จากยอดคนดูจากประเทศอื่นๆ หักภาษี ณ ที่จ่ายอยู่ที่ 0-5% ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ

- นิติบุคคล รายได้จากยอดคนดูในสหรัฐอเมริกาผ่านการดูโฆษณา หักภาษี ณ ที่จ่าย 0-30% โดยเริ่มต้นที่ 30% หากมีความสัมพันธ์ทางสนธิสัญญาภาษีกับสหรัฐอเมริกา ก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายน้อยลง (ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของแต่ละประเทศ) ส่วนรายได้จากยอดคนดูจากประเทศอื่นๆ หักภาษี ณ ที่จ่ายอยู่ที่ 0-5% ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศเช่นกัน

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางสนธิสัญญาภาษีกับสหรัฐอเมริกา จึงถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย อยู่ที่ 5% แต่ในกรณีที่ยูทูบเบอร์หรือครีเอเตอร์ไม่ได้กรอกแบบฟอร์มการเสียภาษี ทางสหรัฐอเมริกาจะถือว่าคุณเป็นยูทูบเบอร์หรือครีเอเตอร์ของสหรัฐอเมริกา และจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 24% จากรายได้รวมทั่วโลกทันที

สรุป

ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูกาลยื่นภาษีประจำปีกันแล้ว ยูทูบเบอร์ทั้งหลายอย่าลืมไปยื่นแบบฯ และเสียภาษีกันให้ถูกต้องนะคะ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลัง

รวมถึงหลายๆ ช่องที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายของสหรัฐอเมริกาไปแล้ว 24-30% ก็ต้องรีบเข้าไปกรอกข้อมูลภาษีในแบบฟอร์ม Google AdSense โดยด่วน เพื่อไม่ให้เสียโอกาส เพราะสำหรับประเทศไทยถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% เท่านั้น

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่