เงินเฟ้อพุ่ง กระทบใครบ้าง? กลุ่มรายได้น้อย-อาชีพอิสระอ่วม ค่าครองชีพเพิ่ม
ธปท.เปิดภาวะแนวโน้มเงินเฟ้อ พบ เงินเฟ้อพุ่ง หนุนราคาสินค้าเพิ่มบางประเภท ส่วนใหญ่กระทบต่อผู้มีรายได้น้อย ที่มีการบริโภคในหมวดอาหารถึง 45% หากเทียบกับรายได้สูง อีกทั้งพบภาคบริการ อาชีพอิสระเจอสองเด้ง ทั้งค่าครองชีพสูงขึ้น และรายได้ยังไม่ฟื้นตัว
ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)มีการ Media Briefing “ภาวะและแนวโน้มเงินเฟ้อ” โดยมี 3 วิทยากร ที่มาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับภาวะและแนวโน้มเงินเฟ้อ อาทิ “สักกะภพ พันธ์ยานุกูล” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. , “สุรัช แทนบุญ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน , “รุ่งพร เริงพิทยา” ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.
ครั้งนี้ธปท.ได้มีการสำรวจ “เชิงลึก” เกี่ยวกับภาวะและแนวโน้มเงินเฟ้อด้วย ทั้งสำรวจจากภาคธุรกิจ และครัวเรือนสำหรับเงินเฟ้อในระยะสั้น 1ปีข้างหน้า ว่าคิดเห็นและมองเงินเฟ้อเป็นอย่างไร?
โดยผลสำรวจใช้ให้เห็นว่า ไม่ว่ามองในมุมไหน ผู้บริโภคยังมองว่าเงินเฟ้อในระยะสั้นยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% แม้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในช่วงต้นของปี แสดงให้เห็นมุมมองของตอบแบบสอบถามว่า มองเงินเฟ้อว่าจะมีแนวโน้มลดลงในระยะข้างหน้า มองว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยชั่วคราว
หากวิเคราะห์ลึกไปอีก เพื่อดู “ผลกระทบ”จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ที่กระทบต่อราคาสินค้าให้เพิ่มขึ้น กระทบใครบ้าง?
โดยพบว่า การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า และบริการ มีผลกระทบที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะการบริโภค โดยกลุ่มที่มีการใช้จ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มในสัดส่วนที่สูงกว่าจะได้รับผลกระทบมากกว่า
ซึ่งหากดูรายได้ของผู้มีงานทำ ก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 2562 เป็นต้นมา พบว่ารายได้ของผู้มีงานทำ แบ่งตามกลุ่มอาชีพ ทั้งภาคบริการ อิสระ ภาคการผลิต ซึ่งการปรับเพิ่มของราคาสินค้ากระทบกลุ่มไหนมากกว่ากัน? ธปท.พบว่า ภาคบริการที่มีลูกจ้างราว 8 ล้านคน อาชีพอิสระ 9 ล้านคน ทั้งสองอาชีพนี้ รายได้ยังไม่ฟื้นตัว หากเทียบกับก่อนโควิด-19 หากเทียบกับภาคการผลิตที่มีกำลังแรงงาน 4 ล้านคน
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า หากดูจากสัดส่วนการบริโภคในตระกร้า จากครัวเรือนรายได้น้อย คือกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 22,665 บาทต่อเดือน และรายได้สูง ที่มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 51,000 บาท พบว่า ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย มีการใช้จ่ายไปกับหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ในสัดส่วนที่สูงกว่ารายได้สูง!
จากการแกะไส้ในสัดส่วนค่าใช้จ่ายจำแนกตามกลุ่มรายได้ ทั้งสองกลุ่ม ทั้งผู้มีรายได้น้อย และครัวเรือนที่มีรายได้สูง พบว่า ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย มีการใช้จ่ายไปกับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ค่อนข้างมากที่ 45% หากเทียบกับครัวเรือนรายได้สูงที่มีการใช้จ่ายในหมวดนี้เพียง 26%
ขณะที่ครัวเรือนรายได้น้อย ใช้จ่ายไปกับหมวดพลังงานที่ 11% และครัวเรือนรายได้สูงใช้จ่ายกับหมวดพลังงาน 15%
ดังนั้นหาก สินค้าอาหารเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้น จะทำให้คนที่ใช้จ่ายในหมวดนี้มาก อาจรู้สึกว่าของแพงขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่นๆ หรือหากเทียบกับกลุ่มที่ ไม่ได้ใช้จ่ายกับหมวดที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น
หากมาดูด้านพฤติกรรมการบริโภค พบว่าแม้เป็นสินค้าประเภทเดียวกัน เช่นหมู ที่มีราคาแพงขึ้น การปรับเพิ่มขึ้นของราคายังไม่เท่ากัน
โดยดูจาก ราคาเนื้อหมูที่มียี่ห้อ หมูหน้าเขียง และหมูมียี่ห้อ โดยพบว่า หมูที่มียี่ห้อ การเพิ่มขึ้นของราคา ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก หากเทียบกับหมูหน้าเขียงและหมูไม่มียี่ห้อ
ดังนั้นสรุปคือ คนที่ได้รับผลกระทบสูง จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า คือกลุ่มที่มีค่าครองชีพสูง โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ที่มีสัดส่วนการบริโภคอาหารถึง 45% หากเทียบกับกลุ่มรายได้สูงที่มีการบริโภคเพียง 26% ในขณะที่กลุ่มแรงงานในอาชีพบริการ และอาชีพอิสระ รายได้มีการฟื้นตัวช้ากว่า ภาคการผลิต ดังนั้นอาจเจอผลกระทบทั้งแง่ราคาที่สูงขึ้น และรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ อีกทั้งภาพใหญ่คนยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนอีกด้วย
ดังนั้นแง่นโยบายการเงินสามารถทำอะไรได้บ้าง? สิ่งที่ธปท.ช่วยได้ในภาวะรายจ่ายที่รายจ่ายสูงขึ้น คือทำอย่างไรให้รายได้ครัวเรือนและภาคธุรกิจไม่สะดุด โดยสิ่งที่ธปท.ทำมาแบ่งเป็น 3ด้านใหญ่
ด้านแรกคือการคงดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ภาวะการเงินผ่อนคลาย โดยคงดอกเบี้ยตั้งแต่ พ.ค. 2564 เพราะกนง.ให้ความสำคัญกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ
สอง มิติของการเติมเงินใหม่ ธปท.มีการออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อฟื้นฟู และการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดภาระหนี้ของประชาชนและมีการประสานงานกับแบงก์ใกล้ชิด เพื่อดูแลลูกหนี้ ให้สามารถชำระหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถชำระหนี้
สาม ระยะยาว ธปท.มีหลายมาตรากร เช่นคลินิกแก้หนี้ ทางด่วนแก้หนี้ เพื่อใหการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ให้มีความต่อเนื่อง เหล่านี้เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง
สรุป ภาพรวมเงินเฟ้อ ธปท.มองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 มีแนวโน้มสูงกว่ากรอบเป้าหมายในช่วงแรกของปีนี้ และมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงหลังของปี อัตราเงินเฟ้อล่าสุด ณ เดือนมกราคมปรับเพิ่มมาที่ 3.23% จาก (1) ราคาพลังงานเป็นสำคัญโดยราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นถึง 30% เทียบกับปีที่แล้ว และ อาหารสด เช่น เนื้อหมู
โดยจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเป็นการปรับขึ้นราคาสินค้าเฉพาะบางหมวด ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ สินค้าพร้อมกันเป็นวงกว้าง
ทั้งนี้ มีสินค้าจำนวนมากเกือบ 200 รายการในตะกร้าเงินเฟ้อที่ราคาที่คงที่หรือลดลง สำหรับเงินเฟ้อในระยะต่อไป แนวโน้มของราคาน้ำมันรวมถึงการคลี่คลายของปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ตู้คอนแทนเนอร์ และเนื้อหมู จะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงได้
อีกทั้งกำลังซื้อที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีและอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%
นอกจากนี้ธปท.ยังตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับเงินเฟ้อ โดยการที่ ประชาชนเห็นราคาสินค้าแพงขึ้นมาก แบบนี้เรียกว่าเงินเฟ้อสูงหรือไม่?
พบว่า การขึ้นราคาของสินค้าบางรายการตั้งแต่ต้นปี เช่น ราคาน้ำมันขายปลีก อาหารสด อาหารนอกบ้าน เครื่องปรุงอาหาร เกิดจากปัจจัยเฉพาะของหมวดสินค้านั้นๆ (sector specific factor)
เช่น ปัญหาในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และอุปทานหมูที่ลดลงจากโรคระบาด ขณะที่เงินเฟ้อเป็นการวัดการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการโดยรวม ครอบคลุมสินค้ามากกว่า 400 รายการ และเป็นการเฉลี่ยราคาไปตามสัดส่วนของรายจ่ายที่ผู้บริโภคใช้ซื้อสินค้าแต่ละรายการ โดยการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อที่น่ากังวลคือการที่ราคาสินค้าจำนวนมากปรับสูงขึ้นยกแผงไปด้วยกัน
โดยในช่วงม.ค.ที่ผ่านมาพบว่า จำนวนรายการสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 56% ของตะกร้าเงินเฟ้อไทย ขณะที่สินค้าเกือบ 200 รายการในตะกร้าเงินเฟ้อมีราคาคงที่หรือลดลง
ดังนั้นตัวเลขเงินเฟ้อไทยที่สูงขึ้นจึงมาจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าบางประเภท ไม่ใช่การปรับสูงขึ้นจากราคาสินค้าในวงกว้าง และ สินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติมีประมาณ 10% ของตะกร้าเงินเฟ้อไทยซึ่งต่างจากในสหรัฐฯ ที่มีสูงถึง 35%
และยังพบว่า ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ เป็นสินค้าจำเป็นและคนซื้อบ่อย ๆ เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ น้ำมันพืช เป็นต้น ทำให้ผู้บริโภคเห็นการเปลี่ยนแปลงของราคาที่เพิ่มขึ้นบ่อยครั้งและทำให้รู้สึกว่าขึ้นราคาบ่อยครั้ง เมื่อเทียบกับสินค้าที่นาน ๆ คนซื้อที เช่น ทีวี หม้อหุงข้าว ซึ่งผู้บริโภคไม่ได้รับรู้ถึงราคาที่เปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งนัก
ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น น่ากลัวหรือยัง?
ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพของผู้บริโภค แต่ผลกระทบดังกล่าวจะมีมากหรือน้อย ส่วนหนึ่งขึ้นกับรายได้ของผู้บริโภคแต่ละคน รวมถึงลักษณะสินค้าและปริมาณที่บริโภคว่าเป็นสินค้าที่ราคาแพงขึ้นมากหรือไม่
โดยปกติแล้วราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หลายครั้งราคาปรับสูงขึ้นชั่วคราวหรือเฉพาะสินค้า
เช่น ในกรณีสินค้าขาดตลาดจากน้ำท่วมหรือโรคระบาด ราคาจะปรับลดลงเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ
ในทางตรงข้ามการปรับขึ้นราคาที่น่ากังวลจะมีลักษณะเป็นวงกว้างในหลายสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโดยมากเกิดจากความต้องการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคและกำลังซื้อที่อยู่ในระดับสูง (demand-pull) ทำให้มีความต้องการสินค้าอย่างมากขณะที่ปริมาณสินค้าที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการซื้อของผู้บริโภค
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ควรต้องเฝ้าระวัง คือ การราคาเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้าพร้อม ๆ กัน, ราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องยาวนาน และ ราคาที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อพฤติกรรมการตั้งราคาและมุมมองอัตราเงินเฟ้อในอนาคต
ซึ่งในปัจจุบัน ยังไม่เห็นสัญญาณการขึ้นราคาในหลายหมวดสินค้าพร้อม ๆ กัน โดยข้อมูลล่าสุดเดือน ม.ค. 2565 มีการเพิ่มขึ้นของสินค้ากลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิงและเนื้อสัตว์เป็นหลัก
ขณะที่สินค้าและบริการอีก 188 รายการจาก 430 รายการมีราคาทรงตัวหรือลดลง แต่ยังต้องติดตามต่อเนื่องว่าจะมีการเพิ่มขึ้นในสินค้าประเภทใดอีกบ้างในระยะต่อไป
โดยการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในช่วงที่ผ่านมา มาจากปัจจัยด้านอุปทานที่ทำให้ปริมาณสินค้าในตลาดลดลง เช่น เนื้อหมู หรือจากปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น ราคาน้ำมันและต้นทุนการขนส่งทางเรือ
ซึ่งในปัจจุบัน ธปท. คาดว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นสูงจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ไม่ได้เพิ่มต่อเนื่องไปถึงปีหน้า เช่น ราคาหมู ที่คาดว่าจะเริ่มคลี่คลายในเวลา 10 เดือนนับจากนี้ หรือครึ่งปีหลังปีนี้