เจาะ The Great Great Reset เมกะเทรนด์ เขย่าโลกธุรกิจ
โควิด-19 เขย่าโลกครั้งใหญ่ ให้เสียหายยับเยิน อีกทั้งการ "เปลี่ยนแปลง" มหาศาล กระเทือนธุรกิจพลิกกระบวนท่า ระยะสั้นเพื่อให้รอด ระยะยาวต้องตีโจทย์ใหม่เพื่ออยู่ยั้งยืนยง อ่าน The Great Great Reset- เมกะเทรนด์ 2 ความน่ากลัวที่ท้าทายผู้ประกอบการรับธุรกิจแห่งอนาคต
แม้ผ่านต้นปีกว่า 1 เดือนเศษ องค์กรธุรกิจยังคง “เหลียวหลังและอนาคต” ต่อเนื่อง ถอดสมการ 2 ปีแห่งห้วงวิกฤติ เพื่อคาดการณ์ “แนวโน้ม” หรือเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นและมีผลกระทบเชิงบวก-ลบต่อธุรกิจอย่างไร เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมรับมือ
ล่าสุด ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนาออนไลน์ Krungsri Business Forum 2022: What’s Next for Thailand? ตกผลึกหลาก “ตัวแปร” ที่จะเขย่าโลกธุรกิจหลังโควิด-19 ระบาด
++Regionalization Digitalization ESG
ทรงอิทธิพลการค้า-ลงทุน
“2 ปีที่ผ่านมาโควิดกระทบเศรษบกิจหลายประเทศทั่วโลก ความผันผวนที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คน พลิกพฤติกรรมผู้บริโภค วิกฤติการณ์ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตใหม่” มุมมองจากแม่ทัพ เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จำกัด (มหาชน)
เมื่อโควิดเป็นวิกฤติและปฏิกิริยา “เร่ง” ให้ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม อีกมิติทำให้เกิด “เมกะเทรนด์” ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าขาย การดำเนินธุรกิจอย่างมหาศาล ซึ่ง 3 ปัจจัย ได้แก่ การเชื่อมโยงของภูมิภาค(Regionalization) การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการทำงาน(Digitalization) และการดำเนินธุรกิจที่ตระหนักถึงความยั่งยืน(ESG)
การเกิด Regionalization เป็นเพราะพิษสงโควิด-19 เต็มๆ เพราะไม่เพียงสร้างผลกระทบด้านสุขภาพ ชีวิตผู้คน แต่ยังกระเทือนห่วงโซ่การผลิต(Supply chain)ของโลกซึ่งเป็นขนาดมหภาค ทำให้ธุรกิจมหาศาลต้องปรับตัว โดยเฉพาะการพึ่งพาแหล่งผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เดิมที่เคยพึ่งพาเพียงแหล่งผลิตเดียว ปัจจุบันผู้ประกอบการต้องพยายามเชื่อมโยงซัพพลายเชนระหว่างภูมิภาคกระจายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างแรงงานที่มีทักษะไปยังพื้นที่ใหม่ๆ
ทั้งนี้ อาเซียนเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญในการสร้างฐานเชื่อมโยงซัพพลายเชนโลกมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้น และมีการเติบโตเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากอินเดีย จีน อีกทั้งการบริโภคจะขยายเป็นเงาตามตัว จากประชากรราว 660 ล้านคนด้วย ซึ่งจากการประชุมเศรษฐกิจโลก(World Economic Forum : WEF) คาดการณ์ปี 2573 การบริโภคในอาเซียนจะเพิ่มถึง 70%
Digitalization นาทีนี้ไม่ต้องกังขาว่าดิจิทัลจะทรงพลังแค่ไหน เพราะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตผู้บริโภค ธุรกิจทุกภาคส่วนทั้งการเงิน อุตสาหกรรม การศึกษา ฯ จนกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่(New Normal)แล้ว
“ทุกภาคส่วนเปิดรับเทคโนโลยี ดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ขยายขอบเขตธุรกิจ ตลาดไปทั่วโลกแบบไม่เคยเห็นมาก่อน สร้างโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจมหาศาล”
ขณะที่การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม การเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล หรือ ESG สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ การลงทุนของผู้ประกอบการจากนี้ไปต้องอยู่บน “ความรับผิดชอบ” มากขึ้น ปัจจุบันมีเม็ดเงินทั่วโลกไหลเข้ากองทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG มหาศาลกว่า 6.4 แสนล้านดอลลาร์ รวมถึงการจัดสรรเม็ดเงินไปลงทุนธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น 82% สะท้อนถึงโอกาสต่างๆที่จะเพิ่มการเติบโตธุรกิจ
++ 2 ความน่ากลัว ถาโถม
THE GREAT GREAT RESET-เมกะเทรนด์
โควิดเป็นวิกฤติใหญ่หลวงรอบร้อยที่และกลายเป็นปัจจัยสร้างความหวาดกลัว(Fear Factor)สำหรับภาคธุรกิจไม่น้อย ทว่า หากโรคระบาดคลี่คลาย ยังมี 2 ความน่ากลัวรออยู่ จะเข้าปะทะผู้ประกอบการพร้อมๆกัน นั่นคือ THE GREAT GREAT RESET-เมกะเทรนด์
สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ฉายภาพว่า หลังเกิดวิกฤติมักมี 2 สิ่งที่เกิดขึ้น นั่นคือ การปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่หรือ The Great Reset และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในโลกหรือ Mega Trends อย่างประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในอดีต เช่น การเกิดแท่นพิมพ์กูเทนเบิร์ก(Gutenberg) การมีอินเตอร์เน็ต ฯ ทว่า ความน่าสนใจคือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้มีผู้ “เกิด-ดับ” ในโลกธุรกิจด้วย
ยิ่งกว่านั้นนิยามความสำเร็จในโลกอนาคตกำลังจะเปลี่ยนไป องค์กรชั้นนำที่ติดท็อปของโลกจะมีอายุขัย “น้อยลง” เรื่อยๆ จาก 40-50 ปี อาจอยู่ยั่งยืน 15-20 ปี
โควิดทำให้วิถีชีวิต ความต้องการผู้บริโภคเปลี่ยน พฤติกรรมที่ปรับไปแล้วย่อมไม่กลับไปแบบเดิม การพลิกโฉมดังกล่าว ทำให้กระทบต่อรูปแบบสินค้าและบริการในอนาคตด้วย
ขณะที่การจัดระเบียบโลกใหม่ ที่มาพร้อมการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สมประวิณ ตกผลึกดังนี้ 1.การเกิดขึ้นของประเทศใหม่ ที่อำนาจซื้อมหาศาล ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย จีน และอาเซียน เมื่อเศรษฐีใหม่เกิดสิ่งที่ตามมาคือความต้องการสินค้าและบริการย่อมไม่เหมือนเดิม 2.สังคมผู้สูงอายุ ผู้คนอายุยืนมากขึ้น เป็นอีกเหตุแห่งปัจจัยต้องการสินค้าเปลี่ยน 3.กระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อม กลายเป็น “ของจริง” ไม่ใช่แค่คำโฆษณาให้สวนหรูอีกต่อไป เพราะผู้บริโภคยุคนี้มองหาสินค้าและบริการที่จะลดผลกระทบต่อโลกมากขึ้น จึงเป็นโจทย์ใหม่ที่ผู้ผลิตต้องนำไปผนวกในยุทธศาสตร์ธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
4.การเผชิญความไม่แน่นอน จากโรคระบาด ภัยพิบัตินานาประการ ย่อมส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการผลิตสินค้าเช่นกัน 5.มหาสงครามเศรษฐกิจของ 2 ยักษ์ใหญ่ ที่จะ “แยกวงการค้าขาย” ในโลก หมดยุควงใหญ่เดียวที่กุมอำนาจการค้า แต่ “ชาติมหาอำนาจ” จะแสดงแสนยานุภาพแตกวงย่อยๆการค้า หา “พรรคพวก” ที่ตัวเองเจรจาได้มาจับกลุ่มก้อน สร้างอำนาจต่อรองบนเวทีการค้าโลก และ 6.เทคโนโลยี ดิสรัปชั่น จากราคาที่ต่ำลง จับต้องได้ เข้าถึงและมีผลต่อการใช้งานของทุกคนในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงจะยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่ “เวลา” คือสิ่งที่ทุกคนมี “จำกัด และทำให้หน้าต่างโอกาสธุรกิจใหม่ในอนาคตมีไม่มากนัก
“คนคุ้นชินกับการปรับตัว และโลกหลังโควิดมีคนเข้าไปจับจองการลุยธุรกิจแล้ว ทำให้พื้นที่ในการทำธุรกิจในอนาคตมีน้อยลงเรื่อยๆ” สะท้อนใครที่ออกตัวช้าย่อมตกขบวนเรียบร้อยแล้ว
++ 3 Re เคลื่อนธุรกิจคิดใหม่
บริบทโลกเปลี่ยนโฉมล่วงหน้า หากผู้ประกอบการไม่ปรับตัวตาม อาจไม่รอดบนสังเวียนการค้า สมประวิณ แนะ 3 Re เพื่อเติบโตในโลกหลังโควิด-19 ได้แก่ Reimage ได้เวลาคิดใหม่ เมื่อก่อนโลกเข้าสู่การค้าเสรี วงผลิตในโลกอาจมีวงเดียวในห่วงโซ่การผลิต(Value chain) แต่ปัจจุบันต่างออกไป เพราะเศรษฐกิจใหม่ที่ทรงอิทธิพลมากขึ้นเทมายังอินเดีย จีน อาเซียน ซึ่งมีพลังในการบริโภคการซื้อมหาศาล และผู้ผลิตในภูมิภาคได้สร้างวงผลิตของตัวเองหรือ Regional Value Chain เมื่อการผลิตในอนาคคต “กระจาย” และท้องถิ่นมีอำนาจซื้อมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น ย่อมกระเทือนเวทีการค้าโลก
Reflex มองโลกย้อนมองดูไทย ภาคผลิตอยู่ตรงไหนในสมรภูมิค้าขาย สมประวิณ หยิบดีชนีวัดศักยภาพการผลิตของไทยผ่าน 3 มิติ คือผลิตต้นทุนต่ำ มีประสิทธิภาพ และขายสินค้าได้ราคาดี ภาพรวมนั้นไทยรั้งอันดับ 35 เทียบชั้นโลก และอันดับ 2 ในภูมิภาค รองจากสิงคโปร์
ทั้งนี้ 7 อุตสาหกรรมของไทยติดท็อป 15 ของโลก เช่น ยางพารา อาหารฯ แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ “สูญเสียการแข่งขันเร็ว” เพราะคู่แข่งนานาประเทศทำได้ดีขึ้น เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไทยเก่งกาจในอดีต ทว่า การผลิตนั้นตอบสนองผู้บริโภคแบบเดิมๆไม่ได้ เมื่อมองไปข้างหน้า “ความต้องการตลาด” เปลี่ยนไปแล้ว อย่างผลิตทีวี ทั้งที่ “มือถือ” เป็นคำตอบการรับชมคอนเทนท์ในยุคดิจิทัลมากขึ้น อุตสาหกรรมยานยนต์ ไทยประกอบเก่ง แต่หลายประเทศเก่งไม่แพ้กัน ยังได้เปรียบ “ค่าแรงต่ำ” จึงถึงเวลาที่ผู้ผลิตต้องช่วยคิดตั้งแต่ต้นทาง(Upstream) จากรู้ใจตลาดท้องถิ่นเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า
“เราต้องคิดใหม่ สิ่งที่เคยผลิต ขายดีในอดีต คงไม่ขายดีในอนาคต ผู้ผลิตต้องไม่มองแค่ลูกค้า แต่ต้องเจาะความต้องการของลูกค้าของลูกค้าอีกทอด เพื่อให้เข้าใจปลายทางความต้องการของผู้บริโภค”
Reset การจัดระเบียบธุรกิจใหม่ไม่ง่าย ยิ่งปูทางเพื่อยั่งยืนยาวยากใหญ่ ซึ่งเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการอย่างมาก ทว่า ในโลกมีตัวอย่างองค์กรมากมายที่ “ปรับตัว” ตลอดเวลา ผ่านร้อนหนาวจนเติบโตร้อยปี อย่างยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภค “พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล”หรือพีแอนด์จี อยู่มา 180 ปี เพราะใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนสินค้าและบริการตองสนองความต้องการผู้บริโภค มีเป้าประสงค์หรือ Purpose ชัดเจนในการใช้นวัตกรรมเอ็นเกจหรือเชื่อมโยง(Connect)ผู้บริโภคนับล้าน เช่น ทุ่มเงินกว่า 400 ล้านเหรียญเพื่อวิจัยตลาดให้รู้ Insight ผู้บริโภคปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
++ชนะ!ด้วย Partner-Partner-Partner
สำหรับกลยุทธ์การปรับตัวรับโลกอนาคต เป็นสิ่งที่ผู้ประการรู้ดี แต่การปลี่ยนเป็นเรื่องยากพอสมควร แต่ต้องทำ โดยเริ่มจากพัฒนาภายในองค์กรทั้งบุคลากร เครื่องมือ และองค์ความรู้
ปัจจุบันธุรกิจหมดยุคโชว์เดี่ยวมั่งคั่งลำพัง การจับมือพันธมิตร(Partner) แปลงคู่ค้า-คู่แข่ง มาร่วมหัวจมท้ายสำคัญขึ้น เพราะเป็นทางลัดช่วยตอบโจทย์ธุรกิจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ “Partner” ที่ใช่ย้อมนำทางได้ หากขาดองค์ความรู้การผลิตสินค้าและบริการ ตลอดจนเทคโนโลยี Partner ที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เป็นคำตอบเช่นกัน รวมถึงการหาตลาดใหม่ Partner จะช่วยต่อยอดธุรกิจในอนาคตได้
“เราอยู่ท่ามกลางรอยต่อการเปลี่ยนแปลง เรามีโอกาสคิดใหม่ มองสะท้อนธุรกิจตัวเอง และเริ่มใหม่วันนี้ด้วยกัน”
++เอสซีจี-บีเจซี ยักษ์ใหญ่ลุยธุรกิจยั่งยืน
การดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืนหรือ ESG ไม่ได้เป็นเพียงแค่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องยึดถือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เพราะในเวทีการค้าโลก หากองค์กรไม่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอาจเป็น “เงื่อนไข” ให้ถูกกีดกันค้าขายได้ ส่วนมิติผู้บริโภคปัจจุบันจะเลือกซื้อสินค้าที่มีส่วน “รักษ์โลก” มากขึ้นเช่นกัน
ตัวอย่าง 2 องค์กร้อยปีและมีรายได้หลัก “แสนล้านบาท” ต่อปี ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG มากขึ้น รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี หยิบเมกะเทรนด์ที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต ได้แก่ วิถีชีวิตใหม่ของผู้คน(New Norma)l แนวทางพัฒนาธุรกิจยั่งยืน(ESG) และกระแสการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล
“เทรนด์ทั้ง 3 เกิดแน่ทั่วโลก ในอาเซียนเช่นกัน หากผู้ประกอบการธุรกิจเป็นนักเรียน เหมือนเราเห็นข้อสอบแล้ว อยู่ที่เราจะศึกษาหาความรู้ ปรับตัวเพื่อตอบข้อสอบได้ดีแค่ไหน”
เอสซีจี มีธุรกิจหลากหลายทั้งซีเมนต์ ก่อสร้าง เคมิคัล แพ็คเกจจิ้ง ซึ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล ในมุมการผลิตก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมา ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าในปี 2593 จะลดก๊าวเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ แต่สเต็ปแรกปี 2573 ต้องลดให้ได้ 20%
ทว่า โจทย์ดังกล่าวไม่ง่าย เพราะท่ามกลางธุรกิจที่ต้องเติบโต เช่น โต 2 เท่า มีการขยายกิจการทั้งในไทยและต่างประเทศ สานเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งสวนทางกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลงอย่างมาก แต่วางภารกิจไว้แล้ว ต้องทำให้ได้ บริษัทจึงใช้วิธีการต่างๆ เริ่มจากภายในองค์กร ใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต ผลิตสินค้าสีเขียว สินค้านำไปรีไซเคิลได้ ทำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy)มา 3-4 ปี ปรับการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
ประเด็นใหญ่ไม่ทำลำพัง รวมพลังภายนอกองค์กร เอ็นเกจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ชุมชนรอบโรงงาน เจ้าของแบรนด์สินค้าที่สัมผัสความต้องการผู้บริโภคโดยตรง เพื่อรักษ์โลกด้วยกัน
อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี ฉายภาพ เทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อธุรกิจมากขึ้น การมีห้างค้าปลีก “บิ๊กซี” ที่มีฐานลูกค้า 15 ล้านราย เข้ามาชอปปิงแต่ละวัน “นับล้าน” ทำให้ทราบอินไซต์ในการซื้อสินค้า และเพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำ สร้างบริการที่ดียิ่งขึ้น บริษัทต้องนำเทคโนโลยี ข้อมูลมาขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้น
ขณะที่เทรนด์รักษ์โลก สอดคล้องกับแนวทางขององค์กร ยิ่งย้อนดูโลโก้บริษัทที่เป็น “ต้นไม้ใหญ่” โตยั่งยืนมากว่า 140 ปี ได้ดำเนินธุรกิจยึดแนวทางสีเขียวมาตลอดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โรงงานผลิตขวดแก้วที่ 80% นำเศษแก้วมารีไซเคิล กระป๋องอะลูมิเนียม 90% รีไซเคิลได้ การพัฒนาแอปพลิเคชัน “C-ซาเล้ง” รับซื้อขยะรีไซเคิล เป็นต้น
การดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงผลกระทบต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาลยังทำให้บริษัทได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์(DJSI)ด้วย
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนธุรกิจภายใต้ ESG แนวโน้มไม่ง่าย เมื่อโมเมนตัมดี ต้องเผชิญความท้าทาย เพราะวัตถุดิบรีไซเคิลบางอย่างหากยากยิ่งขึ้น เช่น การผลิตกระดาษชำระโดยใช้เยื่อกระดาษเวอร์จิ้นไฟเบอร์ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งจีน ญี่ปุ่น ฯ
“การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่ในดีเอ็นเอของบริษัทอยู่แล้ว ซึ่งในอนาคตหากธุรกิจไม่รักษ์โลก จะกลายเป็นความเสี่ยงในอนาคต”