คลังชี้แจงกรณีการเก็บภาษีย้อนหลัง ผู้ประกอบการ "คนละครึ่ง"

คลังชี้แจงกรณีการเก็บภาษีย้อนหลัง ผู้ประกอบการ "คนละครึ่ง"

กระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นตามที่มีกระแสข่าวผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วม "คนละครึ่ง" ถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง กรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้าที่ จ.ขอนแก่น รายหนึ่งรับทราบข่าวการประชาสัมพันธ์ของกรมสรรพากรเกี่ยวกับการยื่นเสียภาษี

เมื่อวันที่ 14 ก.พ.65 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นตามที่มีกระแสข่าวผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ "คนละครึ่ง" ถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังว่า

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้าที่จังหวัดขอนแก่น รายหนึ่งรับทราบข่าวการประชาสัมพันธ์ของกรมสรรพากรเกี่ยวกับการยื่นเสียภาษีและสามารถขอคำแนะนำได้จากสรรพากรทั่วประเทศ จึงได้เข้าปรึกษาและขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่พร้อมเอกสารหลักฐานเพื่อประสงค์ชำระภาษีให้ถูกต้อง

ซึ่งหลังจากที่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้ตรวจสอบจากหลักฐานการยื่นของผู้ประกอบการแล้วพบว่า รายได้ของผู้ประกอบการดังกล่าวเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่ได้ให้คำแนะนำว่า เมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องมีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

และเจ้าหน้าที่ได้คำนวณภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งให้คำแนะนำว่า เบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถยื่นคำร้องของดอกเบี้ยปรับได้ ซึ่งผู้ประกอบการรายดังกล่าวก็ได้ยื่นชำระภาษีพร้อมทั้งได้รับการพิจารณางดเบี้ยปรับทำให้มีการชำระภาษีลดลงกว่าที่ปรากฏในข่าวเรียบร้อยแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวย้ำว่า สำหรับการปฏิบัติตามกฎหมายผู้ประกอบกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดาประกอบกิจการแล้วมีรายได้ หากในปี พ.ศ.2564 มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดก็มีหน้าที่ต้องนำรายได้มายื่นแบบแสดงรายการเพื่อ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2565

ทั้งนี้ การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการประเมินตนเองของผู้ประกอบการ โดยมีหน้าที่นำรายได้จากการประกอบการกิจการยื่นเสียภาษีตามข้อเท็จจริง ส่วนพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์การมีรายได้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของการประกอบกิจการ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถนำเอกสารหลักฐานต้นทุนในการประกอบกิจการมาหักค่าใช้จ่ายจากยอดขายเพื่อคำนวณภาษีเงินได้ที่จะต้องชำระ หรือหากไม่มีการเก็บเอกสารหลักฐานต้นทุนก็สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาตามที่กฎหมายกำหนดได้ ซึ่งในบางกรณีก็จะไม่มีภาษีที่ต้องชำระแต่อย่างใด

สำหรับผู้ประกอบการมีรายได้จากการขายสินค้าตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทต่อปี จะมีภาระหน้าที่ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนดไว้อีกประการหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลดำเนินโครงการ "คนละครึ่ง" เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน และส่งผ่านกำลังซื้อไปสู่ผู้ประกอบการให้มีรายได้เพิ่ม เมื่อผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว และอยู่ในเกณฑ์เสียภาษีตามกฎหมายก็สามารถไปชำระภาษีได้ ยกตัวอย่างกรณีของผู้ประกอบการร้านค้าที่จังหวัดขอนแก่น รายข้างต้นที่มีเจตนาบริสุทธิ์ และประสงค์ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายก็ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่และได้รับการพิจารณาให้งดเบี้ยปรับด้วย

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับฐานข้อมูลโครงการ "คนละครึ่ง" ไม่ได้มีการเชื่อมต่อระบบกับกรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบรายได้แต่อย่างใด

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 085-842-7102 , 085-842-7103, 085-842-7104 ,085-842-7105
085-842-7106, 085-842-7107, 08-5842-7108 , 08-5842-7109 (เวลาทำการ 08.30 – 16.30 น.)
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected]
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-111-1122 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์