บีเจซี-เอสซีจี ชี้เงินเฟ้อปัจจัยเสี่ยง คุมสภาพคล่อง ต้นทุนพุ่ง - ยอดขายซึม

บีเจซี-เอสซีจี ชี้เงินเฟ้อปัจจัยเสี่ยง คุมสภาพคล่อง ต้นทุนพุ่ง - ยอดขายซึม

แม่ทัพบีเจซี - เอสซีจี มองเงินเฟ้อ มรสุมรุมเร้าธุรกิจแบก "ต้นทุนพุ่ง" ขณะที่สถานการณ์กำลังซื้อ เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ทำให้บริษัทต้องบริหารสภาพคล่องให้ดี ขณะที่การเคลื่อนธุรกิจปี 65 เทคโนโลยี ดิจิทัลยังเป็นปัจจัยเร่งให้ต้อง "ก้าวทัน" การเปลี่ยนแปลง เพื่อแข่งขันได้

ทิศทางราคาพลังงาน โดยเฉพาะ “น้ำมัน” ในตลาดโลกพุ่งทะลุกว่า 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทุบสถิติในสูงสุดรอบ 8 ปี และมีการคาดการณ์จะแตะถึงระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ล่าสุด ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังเป็นอีกชนวนเหตุ ที่จะมีผลต่อราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอย่างมาก

ขณะที่อีกปัจจัยกระเทือนต้นทุนผู้ประกอบการไปล่วงหน้าคือ ภาวะ “เงินเฟ้อ” ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดย 2 ปัจจัย กลายเป็นความท้าทายของ - ภาคธุรกิจเพิ่มเติมจากเดิมมีวิกฤติโควิด-19 รุมเร้าอยู่แล้ว ทั้งนี้ 2 องค์กรร้อยปีที่ทำสร้างรายได้หลัก “แสนล้านบาท” ต่อปี ให้มุมมองเกี่ยวกับผลกระทบดังกล่าวผ่านงาน สัมมนาออนไลน์ Krungsri Business Forum 2022: What’s Next for Thailand ?

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี ฉายภาพว่าความท้าทายการทำธุรกิจในปี 2565 คือ การเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ส่งผลต่อ “ต้นทุนการผลิตสินค้า” ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ บีเจซี มีการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นขนมขบเคี้ยว โดยสินค้าที่ใช้น้ำมันปาล์ม พบว่าราคาเพิ่มขึ้นสูงมาก

ภาวะต้นทุนพุ่ง กลับสวนทางกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมา รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภค จึงส่งผลต่อ “ยอดขาย” ยังไม่กลับมาเช่นกัน ทำให้ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสภาพคล่องอย่างเข้มข้น

“อนาคตหากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นกลับมาใช้จ่าย จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และเราจะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้”

การขับเคลื่อนธุรกิจของกลุ่มบีเจซี บิ๊กซี ปีนี้ ยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยี ดิจิทัลมาใช้มากขึ้น รับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค และโลก เช่น กระแสสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งบริษัทเชื่อว่าผู้ประกอบการค้าปลีกทุกรายจะออกเหรียญหรือคอยน์ต่างๆ ตอบโจทย์การชอปปิง แต่หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยเบรกการใช้เงินดิจิทัลซื้อสินค้า ถือเป็นปัจจัยช่วยให้บริษัทได้ชะลอแผนออกไป

ขณะเดียวกันต้องเตรียมพร้อมเข้าสู่โลกเสมือนจริงหรือเมตาเวิร์ส การนำบิ๊กดาต้ามาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อสินค้ามากขึ้น เนื่องจากบิ๊กซี มีฐานลูกค้ากว่า 15 ล้านราย อายุตั้งแต่ 15-80 ปี แต่ละวันทำธุรกรรมหลัก “ล้านราย” ซึ่งโจทย์ยากคือ ผู้บริโภคมีช่องทางออนไลน์เป็นทางเลือกในการซื้อสินค้าตรง บริษัทจึงต้องหาทางเข้าใจกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้นด้วยดิจิทัล

 “ความท้าทายในยุคดิจิทัลคือ เหมือนวิ่งเท่าไหร่ก็หยุดไม่ได้ หายใจไม่ทัน กลัวทำไม่ทัน กลัวตกขบวน กลัวสิ่งใหม่ๆ เข้ามา แล้วเราไม่เข้าใจเต็มที่ ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้วหากคนอื่นใช้เครื่องมือการตลาด เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดประโยชน์มากกว่าเรา ย่อมส่งผลต่อขีดการแข่งขัน”

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ปี 2565 “ภาวะเงินเฟ้อ” เป็นปัจจัยหลักที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญเหมือนกันหมด ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ทั้งนี้โลกธุรกิจหลังโรคโควิด-19 ระบาด เทรนด์ที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้แก่ 1.วิถีชีวิตใหม่ของผู้คน(New Normal) แต่บางอย่างอาจจะเป็น Old Normal แล้ว 2.กระแสการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล ซึ่งหากผู้ประกอบการที่กล้าลงทุนนำเทคโนโลยีมาใช้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ที่ปัจจุบันมีความรวดเร็วอย่างมาก 3.แนวทางพัฒนาธุรกิจยั่งยืน(ESG) โดยทั้ง 3 เทรนด์ไม่เพียงเกิดขึ้นในไทย แต่ขยายไปทั่วโลก

“เทรนด์ทั้ง 3 เกิดแน่ทั่วโลก รวมถึงในภูมิภาคอาเซียนด้วย หากผู้ประกอบการธุรกิจเป็นนักเรียน เหมือนเราเห็นข้อสอบแล้ว อยู่ที่เราจะศึกษาหาความรู้ ปรับตัวเพื่อตอบข้อสอบได้ดีแค่ไหน”

 นอกจากนี้ สิ่งผู้ประกอบการยังต้องให้สำคัญมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจยุคนี้คือ การใช้ข้อมูล ในการตัดสินใจเรื่องๆ  ต้องมีความเป็นปัจจุบันมากขึ้น การนำข้อมูลในอดีตหรือแม้กระทั่งปี 2564 มาใช้อาจไม่ทันการณ์ ไม่ทันเวลา และ 2.ทำความเข้าใจลูกค้าเป้าหมาย โดยอาศัยฐานข้อมูลที่มี

“การทำธุรกิจ 30-40 ปีก่อน เราถูกให้มองการเปลี่ยนแปลงไปถึงตอนจบหรือ End game เป็นยังไง แต่ตอนนี้มองไม่ออกว่า End game เป็นยังไง ขอให้เริ่มต้น หรือ Begining of the game ให้ได้ก่อน จากนั้นยืดหยุ่นปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างตอนนี้หากถามว่า 2 ปีก่อนจะ End game ยังไง ไม่ต้องทำมาหากินแล้ว เพราะแค่เริ่มต้นทำธุรกิจยังไงในสภาพโควิด-19 ระบาด แล้วฝ่าฟันให้รอดไปได้ มีความยาก”

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์