Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 14 February 2022
ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไร้ข้อสรุป ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปคพลัสเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด
ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 90-95 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 91-96 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (14 - 18 ก.พ. 65)
ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงไม่มีข้อสรุปแม้ว่าจะมีความพยายามการเจรจาทางการทูตจากนานาชาติแล้วก็ตาม ขณะที่ในเดือน ม.ค.65 สมาชิกกลุ่มโอเปคพลัสยังคงไม่สามารถผลิตน้ำมันดิบได้ตามโควตาส่งผลให้อุปทานยังคงตึงตัว อย่างไรก็ตาม อุปทานน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตลาดยังคงจับตาต่อสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงปรับเพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางการผ่อนคลายมาตรการทางสังคมในหลายประเทศในแถบยุโรป รวมถึงมาตรการทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังเงินเฟ้อในเดือน ม.ค.65 ยังคงอยู่ในระดับสูง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- สถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไร้ข้อสรุป แม้ว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ปูตินของรัสเซีย และมีข่าวว่าทางรัสเซียพร้อมที่จะประนีประนอมหากนาโตยุติการขยายอิทธิพล และไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้ ยังไม่มีความแน่ชัดจากฝั่งนาโตเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้ยังมีความเป็นไปได้ที่อุปทานน้ำมันในยุโรปตึงตัวจากท่อขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัซเซียไปยังยุโรปที่อาจได้รับผลกระทบ หากสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนทวีความรุนแรงขึ้น
- กำลังการผลิตของสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัสเดือน ม.ค.65 ปรับเพิ่มขึ้นต่ำกว่าโควตา โดยการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส อยู่ที่ระดับ 28.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มจากเดือน ธ.ค. 64 เพียง 0.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่ามติการปรับเพิ่มกำลังการผลิตที่ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยล่าสุดอัตราความร่วมมือตามข้อตกลงในการลดการผลิต (OPEC Compliance) เดือน ม.ค.65 อยู่ที่ระดับ 120.8% สะท้อนถึงอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มอย่างจำกัด
- จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน โดยบริษัท Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 4 ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้น 2 แท่นสู่ระดับสูงสุดมากกว่า 2 ปีที่ระดับ 497 แท่น ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดว่าอุปทานน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2565 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ราว 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 11.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวัน สิ้นสุดวันที่ 9 ก.พ.65 ปรับเพิ่มกว่า 2.9 ล้านราย โดยสัดส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 75% เป็นผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ และยุโรป อย่างไรก็ตาม รัฐบาลหลายชาติในยุโรปเริ่มประกาศการยกเลิกมาตรการทางสังคมทั้งหมดในช่วงต้นเดือน ก.พ.65 หลังอัตราการป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อมีความรุนแรงลดลงและระบบสาธารณะสุขสามารถรองรับการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันจะยังคงปรับเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม
- ตลาดยังคงให้ความสนใจต่อมาตรการเงินรวมถึงมาตรการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้เงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือน ม.ค.65 ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 7.5% สูงกว่าระดับที่คาดไว้ ที่ 7.1-7.2% โดย Bank of America (BofA) คาดว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 7 ครั้งที่เหลือในปีนี้และอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายของเฟดอาจพุ่งแตะ 1.75-2.0% ภายในปี 2565 จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 0.0-0.25%
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคจีนและสหราชอาณาจักร เดือน ม.ค. 65 ดัชนียอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 65 และการประกาศผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ยูโรโซน ไตรมาส 4/2564 ซึ่งคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (7 – 11 ก.พ. 65)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.79 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 93.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.17 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 94.44 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 90.37 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงตึงเครียด ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 4 ก.พ. 65 ที่ปรับตัวลดลงกว่า 4.8 ล้านบาร์เรลสู่ระดับต่ำสุดในรอบมากกว่า 3 ปี ที่ระดับ 410.1 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม การเจรจารื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจในสัปดาห์ที่ผ่านมามีความคืบหน้ามากขึ้น โดยล่าสุดสหรัฐฯ ได้คืนสถานะละเว้นคว่ำบาตรและเปิดทางสำหรับโครงการความร่วมมือด้านนิวเคลียร์นานาชาติแก่อิหร่านอีกครั้ง หากการเจรจาเป็นผลสำเร็จและมีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านจะส่งผลให้อุปทานในตลาดปรับตัวสูงขึ้น