MTC รุก 2ธุรกิจใหม่ปีนี้ ปั้มรายได้โต-กำไรกลับมาโดดเด่น

MTC รุก 2ธุรกิจใหม่ปีนี้ ปั้มรายได้โต-กำไรกลับมาโดดเด่น

“เมืองไทย แคปปิตอล”  ลุยธุรกิจใหม่  “เมืองไทย ลิสซิ่ง”  เจาะฐานลูกค้าเดิมต้องการซื้อรถมอร์เตอร์ไซด์ใหม่เพิ่มขึ้น ดันพอร์ตสินเชื่อคงค้างปีนี้โตเท่าตัวแตะ 1 หมื่นล้านบาท  ด้านภาพรวมธุรกิจมั่นใจปีนี้สดใส วางเป้าพอร์ตสินเชื่อคงค้างสิ้นปีทะลุ 1 แสนล้านบาท

นายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทเดินหน้าธุรกิจใหม่  คือ เมืองไทย ลิสซิ่ง (MTLS) ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ เจาะกลุ่มฐานลูกค้าเดิมกว่า 4 ล้านราย ยังมีความต้องการรถจักรยนต์ใหม่อีกมาก และยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ใหม่ในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คาดปีนี้มียอดปล่อยสินเชื่อเฉลี่ยเดือนละ 500 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อคงค้างเติบโตเท่าตัว แตะ 10,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่  4,000 ล้านบาท        

      

ความคืบหน้าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถ โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)นั้น ขณะนี้ยังเป็นร่างกฎหมาย ต้องรอสคบ.ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่จะเก็บจริงให้ชัดเจน หลังจากเปิดรับฟังความเห็นแล้วใน ร่างฯ แรกอยู่ที่ 15% ส่วนร่างที่สอง อยู่ที่ 20%

ส่วนอีกธุรกิจใหม่ คือ เมืองไทย เพย์ เลเทอร์ (MTPL) ที่ให้บริการซื้อก่อน ผ่อนทีหลังปัจจุบันอยู่ในช่วงของการเริ่มทดสอบการดำเนินธุรกิจ และ มองหาพันธมิตรที่เป็นร้านค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า คาดเห็นความชัดเจนมากขึ้นไม่เกินไตรมาสแรกปีนี้ 

นายปริทัศน์ กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายปีนี้ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 30% เป็นสินเชื่อใหม่ 2.7 หมื่นล้าน ทำให้พอร์ตสินเชื่อคงค้างสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท  จากปี 2564 ที่ 20,000 ล้านบาท และ 91,812 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนสินเชื่อบุคคล 11% สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ 6%สินเชื่อจำนำทะเบียนมอร์เตอร์ไซด์ 32% สินเชื่อจำนำทะเบียน 32% สินเชื่อจำนำทะเบียนรถเพื่อการเกษตร 4% สินเชื่อที่ดิน 10% และสินเชื่อเช่าซื้อรถมอร์เตอร์ไซด์ 5% 

 ขณะเดียวกันในปีนี้มุ่งขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 700 สาขา เป็น 6,500 สาขา และ ควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ให้อยู่ใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อนที่ 1.16% ดังนั้นปัจจัยดังกล่าวจะช่วยหนุนรายได้เติบโตและกำไรกลับมาโดดเด่นอีกครั้งหนึ่ง 

ทางด้านแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปีนี้ คาดว่ายังมีแนวโน้มสดใส  จากรายได้ดอกเบี้ยน่าจะเร่งขึ้นแรงมากกว่าไตรมาส 4 /2564 มากกว่าไตรมาส3/2564 ราว200 ล้านบาทสะท้อนผลกระทบจากการปรับลดดอกเบี้ยของธปท.ผ่านไปแล้ว พร้อมกันนี้หลังการแพร่ระบาดโควิดไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ และการดำเนินธุรกิจ ทำให้สามารถเดินหน้าในการรุกธุรกิจได้ต่อเนื่อง และการบริหารค่าใช้จ่ายในปีนี้ มั่นใจปีนี้กลับมาทำกำไรโตตามปกติ จากกำไรปี2564 ที่ 1,100 ล้านบาท  ลดลง5% จากปี 2563 

ส่วนในปี 2569 บริษัทวางเป้าพอร์ตสินเชื่อทะลุ 200,000 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว จากปีนี้ โดยบริษัทต้องเติบโต 20-25% ต่อปี รวมทั้งควบคุมหนี้เสียไม่เกิน 2% และ ลดดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสมกับลูกค้า