"พลังงาน" ลดดีเซล 2 บาท นำเงินเข้ากองทุน 1 บาท หลังประกาศลดภาษีน้ำมัน
“สุพัฒนพงษ์” ย้ำตั้งแต่ปี 63 พลังงานใช้เงินช่วยเหลือประชาชนด้านพลังงานแล้วกว่า 1.6 แสนล้านบาท ระบุ เงินภาษีดีเซลเข้ากองทุน 1 ช่วยหน้าปั๊ม 2 บาท มีผลพรุ่งนี้ เล็งคลอดมาตรการช่วยกลุ่ม “เบนซิน” ต่อ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวชี้แจงในการอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง โดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ในช่วงค่ำวันที่ 17 ก.พ.2565 ว่า วิกฤติด้านพลังงานถือเป็นปัจจัยที่ยากจะควบคุม จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าจากการที่อากาศแปรปรวนอากาศเย็นอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนตัวลงก่อนหน้านี้ ที่มีเสียงเรียกร้องว่าทำไมไม่ลดภาษีสรรพสามิต และเลือกใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยเหลือราคาดีเซล
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้เริ่มเข้าไปใช้กองทุนน้ำมันฯ ตั้งแต่เดือนพ.ย.2563 และเมื่อราคาน้ำมันดิบเริ่มสูงขึ้น และคาดว่าเป็นเพราะสาเหตุอากาศแปรปรวนและหนาวปกติ ทำให้ความต้องการพลังงานมากขึ้น จึงมองว่าน่าจะใช้ระยะเวลาถึงเดือนมี.ค.2564 ว่าจะค่อยๆ ผ่อนคลาย จึงเริ่มคาดว่าจะต้องกู้เงินเข้ามาอุดหนุนที่ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อเตรียมรองรับถึงเดือนมี.ค.2565 และหวังว่าจะรองรับได้ แต่พอปลายเดือนธ.ค.2564 ราคาน้ำมันดิบลงมานิดหน่อย ซึ่งกระทรวงฯ ก็ไม่ลดความช่วยเหลือยังคงพยุงราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.พ.2565 ราคาน้ำมันดิบโลกขึ้นมามากต่อเนื่อง สาเหตุมาจากรัสเซียและยูเครน จึงเห็นว่าควรยืดเวลาช่วยเหลือประชาชนไปถึงวันที่ 31 พ.ค.2565 จึงขอกระทรวงการคลังเพื่อให้ลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลงมา 3 บาทต่อลิตร เพื่อให้มีเงินตรึงราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร จึงนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 1 บาท และช่วงพยุงราคาดีเซลขายปลีกลงมา 2 บาท หากกรณีที่มีน้ำมันแพงต่อเนื่อง
นอกจากนี้ หากราคาน้ำมันดิบยังพุ่งสูงขึ้นถ้าต้องดูแลเกินวันที่ 31พ.ค.2565 ก็จะต้องดูอีกที
“ทั้งหมดทั้งปวงราคาพลังงานทั้งดีเซลและเบนซินต่อจากนี้จะพยายามประคับประคองไม่น่าแพงกว่า 8 ปีที่แล้ว อยากเปรียบเทียบประเทศเพื่อนบ้าน เราอยู่อันดับกลางๆ จะเห็นว่าทั้ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน มีพลังงานในประเทศค่อนข้างเหลือเฟือ เทียบกับเขาราคาขายปลีกเราไม่แพง รัฐพยายามดูแล คำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ บางประเทศมีคุณภาพน้ำมันแตกต่างกับเรา คุณภาพด้อยกว่า ราคาก็อาจถูกและแต่กต่างกัน จึงอยากให้เห็นว่าราคาที่ทุกคนเป็นห่วงเราติดตามใกล้ชิดทุกสถานการณ์ให้เกิดความมั่นใจว่าเรารักษาความสามารถความแข่งขันได้”
สำหรับกลไกราคา อยากกราบเรียนว่า กลไกราคานี้เป็นกลไกตลาดเสรี มีกรอบแนวโครงสร้างที่กำกับ ไม่ได้บังคับควบคุม แต่ดูแลเพื่อความเหมาะสมและใช้มา 30 กว่าปี ซึ่งกรุงเทพธุรกิจรายงานการตอบอภิปรายถึงการทบทวนรายละเอียด มีทีมที่ปรึกษา เชื่อว่ากรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกยุคได้มีการกลั่นกรองมาหลายยุคหลายสมัย น่าจะยอมรับได้ ในทุกเรื่องที่ติติงหรือเสนอแนะ ทั้งการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพง ราคาน้ำมันก็มีส่วนเกี่ยวข้อง รัฐบาลไม่ขัดข้องและปฏิเสธอะไร พร้อมจะพิจารณาและแก้ไขต่อไป
ในส่วนที่สมาชิกผู้ทรงเกียรติบอกว่า ทำไมราคาดีเซล 14 บาทต่อลิตร ไม่เพิ่มไปราคาที่ 25บาท เพื่อมีเงินเก็บในกองทุนน้ำมันฯ ยอมรับว่าตอนราคาต่ำปี 2563 ไม่มีใครคิดว่าปี 2564-2565 จะราคาแพงขนาดนี้ และที่บอกว่าราคา 14 บาทต่อลิตร ไม่เห็นมีจะมีก็แต่ 18 บาทต่อลิตร ซึ่งการจะขึ้นราคาน้ำมันขายปลีกอีก 11 บาทต่อลิตร จะเป็นภาระประชาชน ภาคขนส่ง ค่าครองชีพประชาชน ปฏิบัติยาก คงทำไม่ได้
ทั้งนี้ ภาพรวมรัฐบาลตั้งแต่ปี 2565 ไม่เคยทอดทิ้งประชาชน เข้าใจสถานการณ์วิกฤติโลก โดยพลังงานใช้เงินช่วยเหลือประชาชนตั้งแต่ปี 2563-2565 ที่ 1.6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน 2.7 หมื่นล้านบาท น้ำมัน 3.3 หมื่นล้านบาท และค่าไฟฟ้า และก๊าซเอ็นจีวี ให้อยู่ในระดับราคาอยู่ที่เหมาะสม รัฐบาลเข้าใจดีถึงปัญหาความเดือดร้อน จากปัจจัยภายนอกก็ช่วยประชาชนให้เดินหน้าต่อไปได้
“มาตรการนี้จะบรรเทาเบนซินด้วย ตอนนี้กำลังศึกษาว่าจะออกมารูปแบบไหน และจะออกมาตรการมาเร็วๆ นี้ คู่กับกระทรวงการคลัง จะมีโครงการคนละครึ่งจะเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้ประโยชน์ควบคู่ครอบคลุมเกือบ 40 ล้านคน ที่ได้รับการดูแลลดค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภค บริโภค กระตุ้นเศรษฐกิจ”