สถาบันยานยนต์ ดันอุตฯ ยานยนต์ไทย สร้างโอกาสการค้าด้วย RCEP
สถาบันยานยนต์ ผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ภายใต้ความตกลง RCEP สร้างโอกาสการค้าการลงทุนระดับภูมิภาค ระหว่างประเทศอาเซียนและคู่ภาคี 5 ประเทศ
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า สถาบันยานยนต์มีความพร้อมในการให้บริการตรวจรับรองชิ้นส่วนยานยนต์นำเข้าตามเงื่อนไข OEM (Original Equipment Manufacturing) ที่จะได้รับสิทธิชำระภาษี ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement) ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและส่งเสริมการลงทุนระดับภูมิภาค ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ คู่ภาคี 5 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และ เกาหลีใต้
เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งคาดว่าจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อเปรียบเทียบกับ FTA ที่ไทยมีอยู่ ซึ่งจะสร้างโอกาสทางการตลาดและการจ้างงานให้กับธุรกิจ และผู้คนในภูมิภาค
โดยประเทศไทยเริ่มบังคับใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลตั้งแต่วันที่
1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป โดยมีสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ ภายใต้ความตกลง RCEP ที่ระบุเงื่อนไข OEM ซึ่งต้องผ่านการรับรองกฎถิ่นกำเนิดสินค้าจากประเทศส่งออก จำนวน 125 รายการ
นอกจากนี้ สถาบันยานยนต์ โดยแผนกมาตรฐานและการตรวจสอบรับรอง ยังมีบทบาทหน้าที่ในการให้บริการการตรวจรับรองแก่สถานประกอบการ ดังนี้
1. การตรวจรับรองวัตถุดิบที่ผ่านกระบวนการผลิตในประเทศไทย (Free Zone) ตามประกาศกรมศุลกากร
2. การตรวจประเมินระบบคุณภาพโรงงานตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยเป็นหน่วยตรวจ (Inspection Body : IB) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
3. การให้บริการการรับรองผลิตภัณฑ์ด้วยตราสัญลักษณ์ TAI Mark ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อยกระดับหน่วยตรวจ (Inspection Body: IB) เป็น หน่วยรับรองผลิตภัณฑ์ Certification Body
ตามแผนยุทธศาสตร์ของสถาบันฯ ปีงบประมาณ 2564-2566
โดยกิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้น สถาบันยานยนต์มุ่งเน้นในการตรวจรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงมุ่งเน้นในการตรวจชิ้นส่วนยานยนต์ สมัยใหม่ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า