กลุ่มบางจาก เผยผลงานปี 64 EBITDA นิวไฮทะลุ 2.5 หมื่นล้าน

กลุ่มบางจาก เผยผลงานปี 64 EBITDA นิวไฮทะลุ 2.5 หมื่นล้าน

BCP เผยผลการดำเนินงานปี 64 EBITDA กว่า 2.5 หมื่นล้าน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ รับผลดีจากการลงทุนธุรกิจต้นน้ำในนอร์เวย์ - ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ - ลดค่าใช้จ่ายกว่า 1.6 พันล้าน

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของในปี 2564 ว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงและยาวนานตลอดทั้งปี บางจาก และบริษัทย่อย สามารถสร้างผลดำเนินงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์

โดยมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 199,417 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 จากปี 2563 คิดเป็น EBITDA 25,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 529 จากปี 2563 และกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 7,624 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,591 ล้านบาท จากปี 2563 คิดเป็นกำไร ต่อหุ้น 5.25 บาท นับเป็นผลการดำเนินงานที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

สำหรับรายได้จากการขาย และการให้บริการเฉพาะไตรมาส 4 ปี 2564 มียอดรวม 66,762 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หลังจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันเกิดขึ้น และสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศเริ่มคลี่คลายลง

โดยผลการดำเนินงานในปี 2564 ของแต่ละกลุ่มธุรกิจมีดังนี้

กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้น 11,532 ล้านบาทจากปี 2563 โดยหลักมาจากในปี 2564 มี Inventory Gain 5,966 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2563 มี Inventory Loss และค่าการกลั่นพื้นฐานอยู่ที่ 4.52 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2564 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน 1.31 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

นอกจากนี้ ยังปรับเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ UCO (Unconverted Oil) ซึ่งช่วยหนุนค่าการกลั่น และลดผลกระทบจากความต้องการใช้น้ำมันในประเทศที่ปรับลดลง

กลุ่มธุรกิจการตลาด ผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปี 2563 โดยหลักมาจากในปี 2564 มี Inventory Gain จากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรวมของธุรกิจการตลาดปรับลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แต่ยังสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันใสผ่านสถานีบริการน้ำมันในอันดับ 2 ตามข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงาน (16.2%) โดย ณ สิ้นปี 2564 มีจำนวนสถานีบริการน้ำมัน 1,277 สถานี

กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ผลการดำเนินงานเติบโตขึ้นร้อยละ 15 จากปี 2563 โดยหลักมาจากปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าโดยรวมเพิ่มขึ้น รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในประเทศไทยใหม่ 4 โครงการ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ Nam San B ใน สปป.ลาว ที่รับรู้ผลการดำเนินงานเต็มปี

รวมถึงการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ประเทศอินโดนีเซีย 577 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 344 ล้านบาท เนื่องจากอัตราค่าไฟเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายทางการเงินลดลง

กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มีการรับรู้กำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุน ส่งผลให้ผลการดำเนินงานยังคงใกล้เคียงกับปีก่อน แม้จะได้รับผลกระทบจากธุรกิจไบโอดีเซลที่ปริมาณการจำหน่ายปรับลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการ การปรับลดสัดส่วนการผสม B100 เพื่อตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ และธุรกิจเอทานอลที่มีความต้องการใช้ปรับลดลง

กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ มีผลการดำเนินงานในปี 2564 มี EBITDA เพิ่มขึ้น 9,254 ล้านบาท เทียบจากปี 2563 โดยหลักมาจากการที่ในปี 2564 กลุ่มบริษัท เปลี่ยนวิธีการบันทึกเงินลงทุนใน OKEA จากบริษัทร่วมเป็นบริษัทย่อย เปลี่ยนวิธีการรับรู้ผลการดำเนินงานจากวิธีรับรู้ส่วนแบ่งกำไร (ขาดทุน) เป็นวิธีการจัดทำงบการเงินรวมตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2564

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 มีการรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนใน BCPE (สุทธิจากอัตราแลกเปลี่ยน) ประมาณ 120 ล้านบาท ส่งผลให้ปีนี้กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติมี EBITDA เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาขายเฉลี่ยน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 464 เทียบจากปี 2563 จากความต้องการสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาวของยุโรป และการผ่อนคลายล็อกดาวน์ในหลายประเทศ

ในขณะที่ยุโรปมีปริมาณก๊าซในคลังสำรองอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ OKEA มีรายได้จากการจำหน่ายน้ำมัน และก๊าซสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และการลงทุนใน OKEA นี้สร้างรายได้จากการขาย และการให้บริการคิดเป็นร้อยละ 16 ของรายได้จากการขาย และการให้บริการส่วนที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ของกลุ่มบริษัท ในขณะที่ EBITDA ของ OKEA คิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของ EBITDA ของกลุ่มบริษัทโดยรวม

สำหรับผลกำไรของไตรมาส 4 ปี 2564 นั้น สถานการณ์โควิดที่คลี่คลาย ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางของประชาชนในประเทศฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้กลุ่มบริษัท มี EBITDA 9,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า มีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 1,756 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.20 บาท

ภายหลังความต้องการใช้น้ำมันในประเทศที่ปรับลดลงมาโดยตลอดก่อนหน้านี้เริ่มกลับมา ส่งผลให้ยอดจำหน่ายผ่านตลาดค้าปลีกเดือนธันวาคม 2564 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 432 ล้านลิตรต่อเดือน ซึ่งเป็นปีแรกที่ยอดขายสูงกว่ากำลังการกลั่นของโรงกลั่นบางจาก

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจตลาดผลักดันยอดขายน้ำมันเครื่องอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันหล่อลื่นสำเร็จรูปในประเทศของบริษัท เพิ่มเป็นร้อยละ 9.9 จาก 9.4 ในปีก่อน และธุรกิจร้านกาแฟอินทนิลก็สามารถทำยอดจำหน่ายแก้วขายต่อวัน New High ได้เช่นกันในเดือนธันวาคม

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ไม่เพียงแต่ปัจจัยตามสภาวะตลาดเท่านั้น ที่หนุนให้รายได้จากการขายและให้บริการดีขึ้น แต่ความสามารถในปรับตัวและเร่งเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการภายในมีส่วนสำคัญที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มกำไรในกลุ่มบางจาก อย่างการจัดทำ Business Process Redesign (BPR) เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย

โดยมีทั้งโครงการที่ทำมาต่อเนื่อง และโครงการที่พัฒนาขึ้นใหม่ซึ่งช่วยเพิ่ม EBITDA ให้กับกลุ่มบริษัท มากกว่า 1,600 ล้านบาท ในปี 2564 รวมถึงการเร่งผลักดันผลิตภัณฑ์ UCO เพื่อขายทดแทนน้ำมันเครื่องบินที่หยุดชะงัก สะท้อนถึงการปรับตัวภายใต้วิกฤติ และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2565 กลุ่มบางจาก ตั้งเป้าเดินหน้าขยายธุรกิจโดยมุ่งเน้นการลงทุนโดยให้ความสำคัญกับนวัตกรรมสีเขียวเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี ค.ศ. 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี ค.ศ. 2050

โดยในปีนี้ บางจากได้รับ S&P Global Sustainability Award 2022 ระดับ Silver Class เป็นอันดับ Top 3 ของโลกจากการประเมินโดย S&P Global ผู้จัดทำการประเมินความยั่งยืนดัชนี Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI ตอกย้ำแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งครอบคลุมไปถึงการดำเนินธุรกิจสีเขียวผ่านบริษัทในกลุ่มอย่าง BCPG และ BBGI

โดย BBGI ที่มีแผนยุทธศาสตร์รุกธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง พร้อมระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในวันที่ 17 มี.ค.2565 นี้

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 อนุมัติให้นำเสนอจ่ายเงินปันผลสำหรับงวดครึ่งปีหลังของปี 2564 ในอัตรา 1 บาทต่อหุ้น เมื่อรวมกับเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งปีแรกของปี 2564 ในอัตรา 1 บาทต่อหุ้น

จะรวมเป็นเงินปันผลที่จ่ายในปี 2564 ในอัตรา 2 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินรวมประมาณ 2,715 ล้านบาท โดยวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลเป็นวันที่ 3 มี.ค.2565 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 22 เม.ย.2565

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์