ประมูล “คลื่นวิทยุ” ครั้งแรกรอบ 92 ปี เปลี่ยนเกม “หน้าปัด” แห่งอนาคต?
อีกไม่กี่ชั่วโมง จะเป็นครั้งแรกในรอบ 92 ปีที่ประเทศไทยจะ “ประมูลคลื่นความวิทยุ” เหตุการณ์ครั้งนี้ ต้องติดตาม เพราะมิติธุรกิจ แบรนด์คลื่นต่างๆ อาจเปลี่ยน “หน้าปัด” ค่ายเล็กใหญ่จะได้คลื่นวิทยุเดิมที่ตัวเองปลุกปั้นแบรนด์ มีฐานผู้ฟังมายาวนาน หรือคลื่นใหม่มาครอบครอง
ขณะที่หลายปีมานี้ “วิทยุ” เป็นอีกสื่อ “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ไม่พ้น เผชิญภาวะการสูญเสียเม็ดเงินโฆษณาอย่างต่อเนื่อง ไม่แพ้สื่อดั้งเดิม(Traditional Media)อื่นๆ หากการประมูลเปลี่ยนเกมการแข่งขันคลื่นวิทยุ แบรนด์สินค้าและบริการยังมองสื่อวิทยุ เป็น “โอกาส” สร้างแบรนด์ กระตุนยอดขายแค่ไหนติดตาม
++ครั้งแรก! ไทยประมูลวิทยุกระจายเสียง
การประมูลวิทยุกระจายเสียงครั้งแรกประเทศไทยรอบ 92 ปี เป็นประโยคที่ เขมทัตต์ พลเดช อดีตกรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน)ฉายภาพให้เห็นถึงประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการหน้าปัดที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565
ทั้งนี้ การประมูลคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม(FM) ยังเป็นผลงานชิ้นที่สุดที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงโทรคมนาคมและกิจการโทรทัศน์(กสทช.)ชุดเดิมก่อนครบวาระได้ทิ้งไว้ด้วย แล้วการประมูลครั้งนี้ มีประเด็นต้องจับตามองอะไรบ้าง เขตทัตต์ สรุปดังนี้
1.ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 92ปี นับตั้งแต่มีกิจการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย ที่เอกชนจะมีสิทธิในการบริหารวิทยุเต็มรูปแบบ ภายใต้ กฎหมายที่ชัดเจน
2.การประมูลคลื่นวิทยุครั้งนี้ ยังเป็นระบบ “Analog radio” มิใช่ Digital radio ซึ่งอย่างหลังต้องเปลี่ยนระบบการออกอากาศและลงทุนสร้างโครงข่ายใหม่ทั่วประเทศ ซึ่งต้องใช้เงินมหาศาล ในการทำเสาส่งออกอากาศและอุปกรณ์
3.คลื่นความถี่จำนวน 74 คลื่นความถี่ ที่ประกาศประมูล เป็นคลื่นความถี่ของ อสมท. จำนวน 60 คลื่นความถี่ กรมประชาสัมพันธ์จำนวน 9 คลื่นความถี่ และ กสทช. จำนวน 5 คลื่นความถี่ ซึ่งการที่ อสมท มีมากถึง 60 คลื่นความถี่ เพราะตอนแปลงสภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัท มหาชนในปี 2546-2547ได้รับการโอนทรัพย์สินความถี่มาเป็นของบริษัทด้วย
4.มีเอกชนจำนวน 31 ราย ยื่นแบบคำขอเพื่อเข้าร่วมประมูลคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม และ เอเอ็ม โดย อสมท เข้าประมูลทุกคลื่นความถี่ จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ขอรักษาฐาน “คลื่นกรีนเวฟ” ไว้ รวมถึงเอกชน โบรกเกอร์วิทยุ วิทยุชุมชน ไม่พลาดร่วมประมูล
สำหรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็ม (FM) เพื่อให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการบริการทางธุรกิจ ที่นำมาเปิดประมูลทั้ง 74 คลื่นความถี่ครั้งนี้ จะมีอายุใบอนุญาต 7 ปี โดยให้นับอายุใบอนุญาตตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.2565 เป็นต้นไป
“หมายถึงเคาะราคาวันที่ 21 ก.พ. นี้ และเริ่มดำเนินการ 4 เม.ย. หากเจ้าเดิมประมูลได้จะสะดวกง่ายดาย หากรายใหม่ ประมูลได้ ต้องมีกระบวนการรับมอบจาก กสทช. และประสานกับเจ้าของคลื่นเดิม รวมทั้งกระบวนการส่งสัญญาณออกอากาศ”
6.คลื่นความถี่ที่นำออกมาประมูล แบ่งเป็นกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 9 คลื่นความถี่ เช่น คลื่นความถี่ 106.50 MHz ( green wave )กำหนดราคาขั้นต้น 54.83 ล้านบาท, คลื่นความถี่ 95.00 MHz (ลูกทุ่งมหานคร) กำหนดราคาขั้นต้น 50.09 ล้านบาท ,คลื่นความถี่ 96.50 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 49.95 ล้านบาท, คลื่นความถี่ 97.50 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 49.87 ล้านบาท, คลื่นความถี่ 99.00 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 49.65 ล้านบาท และคลื่นความถี่ 100.50 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 49.63 ล้านบาท เป็นต้น
ทั้งนี้ ราคา FM เริ่มต้นในกทม ค่อนข้างสูง ภาคกลาง จำนวน 6 คลื่นความถี่ เช่น พื้นที่ จ.ระยอง คลื่นความถี่ 96.75 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 3.19 ล้านบาท ,พื้นที่ จ.ชลบุรี คลื่นความถี่ 107.75 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 2.64 ล้านบาท, พื้นที่ จ.จันทบุรี คลื่นความถี่ 95.25 MHz,พื้นที่ จ.ตราด คลื่นความถี่ 107.25 MHz และพื้นที่ จ.กาญจนบุรี คลื่นความถี่ 107.25 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 105,000 บาท เหมือนกันหมด เป็นต้น
ภาคเหนือ จำนวน 16 คลื่นความถี่ เช่น พื้นที่ จ.เชียงใหม่ คลื่นความถี่ 100.75 MHz กำหนดราคาขั้นต้น 2.28 ล้านบาท, พื้นที่ จ.ลำปาง คลื่นความถี่ 99.00 MHz พื้นที่ จ.แพร่ คลื่นความถี่ 93.00 MHz , พื้นที่ จ.ตาก คลื่นความถี่ 97.25 MHz และพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน คลื่นความถี่ 102.00 MHz ซึ่งกำหนดราคาขั้นต้น 105,000 บาท เท่ากันหมด เป็นต้น
++ใบอนุญาต 7 ปี VS ความคุ้มทุน-รายได้
เขมทัตต์ ยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการประมูลคลื่นวิทยุครั้งประวัติศาสตร์ อีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น “ราคา” ตั้งต้นประมูลซึ่ง “ไม่เท่ากัน” เช่น กรีนเวฟ 106.5 FM แพงสุดกว่า 50 ล้านบาท ตามด้วยวิทยุลูกทุ่งมหานคร 95FM ซึ่งตามหลักสากล คลื่นความถี่ไม่ว่าวิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม มูลค่าอยู่ที่ความสามารถของการบริหารคลื่นนั้นๆ ให้เกิด “Value” ไม่ใช่อยู่ที่ย่านความถี่หน้าปัดวิทยุ
“การกำหนดราคากรณีประมูลวิทยุนี้ แปลกที่ราคาตั้งต้นไม่เท่ากัน”
นอกจากนี้ ราคาตั้งต้นบางสถานี “ต่ำ” ไป เช่น คลื่นกรีนเวฟเริ่มต้น 54 ล้านบาท คลื่นวิทยุลูกทุ่งมหานคร 50 ล้านบาท ทั้งที่ผู้ประกอบการทำรายได้หลัก “ร้อยล้าน”
ที่สำคัญการประมูลทำให้ผู้ประกอบการต้อง “คำนวนเงินในกระเป๋า” และ “แนวทางหารายได้” ใน 7 ปีข้างหน้า เช่น จะประมูลวิทยุ 60 สถานีทั่วประเทศ ต้องเตรียมเงินเป็น 2 ส่วนคือ กทม. ที่ผู้ประมูลต้องเตรียมค่าประมูล 54-70 ล้านบาท ส่วนต่างจังหวัดเฉลี่ยสถานีละ 105,000 บาท หากประมูลถึง 60 สถานี ต้องใช้เงินขั้นต้น 6,510,000 บาท และทุกราย หากต้องการได้สถานีวิทยุไว้ในครอบครอง ต้องเตรียมเงินในการไล่ราคา สถานีละ 500,000 บาท ถึง “ล้านบาท”
“ต้องมาลุ้นกันว่า หลังจากชนะได้รับใบอนุญาตแล้ว จะสามารถทำรายได้ ในระยะ7 ปีคุ้มค่าหรือไม่”
ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณา และสื่อวิทยุเม็ดเงินลดลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนธุรกิจวิทยุยุคปัจจุบัน ผู้ที่ครองคลื่นความถี่จำนวนมากอาจ “ไม่ได้ เป็นผู้ชนะในเกมธุรกิจเสมอไป” โดยเฉพาะภาคเอกชน จะเน้นโฟกัสกลยุทธ์การผลิตรายการและการตลาด มากกว่าปริมาณคลื่น ขณะที่อสมท เคยถือครองคลื่นมาสุดกว่า 60 คลื่น และยื่นประมูล “ครบทุกคลื่น” ดังเดิม เป็นเรื่องต้องขบคิดหนักในการแบกภาระต้นทุน
อย่างไรก็ตาม อสมท ยื่นประมูลคลื่นทั้งสิ้น 55 คลื่น จากที่เคยมี 60 คลื่น
++กรีนเวฟ ประมูลคลื่นวิทยุรักษาบัลลังก์ผู้นำ-ฐานผู้ฟัง
หนึ่งในผู้นำตลาดวิทยุต้องยกให้เอไทม์ ที่มีคลื่น "กรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็ม" เป็นพระเอก ซึ่งบริษัทต้องเดินหน้าประมูลคลื่นไว้ในครอบครอง สมโรจน์ วสุพงศ์โสธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ Atime (เอไทม์) กล่าวว่า ภาพรวมงบโฆษณาผ่านสื่อวิทยุลดลง เหตุผลหลักเพราะโรคโควิด-19 ระบาด และแม้ต้องเผชิญโจทย์ยาก แต่ในฐานะผู้ประกอบการสื่อต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ หาวิธีบริหารจัดการต้นทุนที่ดี เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้
ที่ผ่านมา เอไทม์ ไม่เคยประสบปัญหาขาดทุน ยังคงมีความสามารถทำ "กำไร" จากธุรกิจวิทยุ ดังนั้นการประมูลคลื่นวิทยุ จึงเป็นภารกิจสำคัญในการรักษาฐาน รายได้-กำไร นั่นเอง ยิ่งกว่านั้น คือการเกาะกุม "ฐานคนฟัง" ไว้อย่างเหนียวแน่น ในฐานะที่คลื่น "กรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็ม" มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด
"วันนี้กสทช.ประกาศให้มีการประมูลคลื่นวิทยุ เราทำตามขั้นตอนกฏหมาย และในฐานะผู้นำตลาด คลื่นกรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็ม มี Market Share และฐานคนฟังจำนวนมากที่สุด แบรนด์ดิ้งแข็งแรงและกลุ่มแฟนที่ Loyalty ยังไง Atime ต้องเดินหน้าทำต่อ"
สำหรับการประมูลคลื่นวิทยุ "เอไทม์" วางแผนล่วงหน้านานแล้ว พร้อมกับการปรับตัวทางธุรกิจ ประกาศตัวไม่ใช่แค่ "วิทยุ" แต่เป็น The Entertainment Creator ผลิตคอนเทนท์ที่ให้ความบันเทิงในทุกรูปแบบไม่ใช่เฉพาะเสียงไม่ใช่เฉพาะวิทยุอย่างเดียว แต่ยังมีแอพพลิเคชั่น ที่กำลังพัฒนาอยู่ ซึ่งจะไม่ตอบโจทย์แค่ฟังวิทยุ Greenwave และ EFM เท่านั้น แต่มีออนไลน์ สเตชั่น เพิ่มขึ้นอีก 3 คลื่น เช่น White POP แนวเพลงป๊อป Hot Wave ที่นำกลับมาผ่านออนไลน์ และ Cassette เอาใจคอเพลงเก่ายุค 80-90 รวมถึงคลื่นออนไลน์เดิมที่รีแบรนด์ Chill จะเป็นคลื่นที่มีเพลย์ลิสสไตล์ลิสไม่ซ้ำใคร
"เราเตรียมพร้อมประมูล และยังปรับตัวทางธุรกิจ เพิ่มความหลากหลายของแพลตฟอร์มฟังวิทยุ ตอบโจทย์คนฟังในปีนี้และอนาคต รวมถึงการวางแผนเพิ่มสื่อที่เป็นเสียงเช่น พอดแคส และ ออดิโอบุ๊ค ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ใหม่"
สมโรจน์ มองสื่อวิทยุหลังประมูล ยังเชื่อว่าเป็นหนึ่งในสื่อหลักของผู้บริโภค ตราบใดที่ยังมีพฤติกรรม ชื่นชอบการฟังเพลง รับฟังข่าวสารในขณะขับรถ การเปิดฟังเพลงขณะทำงาน อ่านหนังสือ
"ผมมองว่าวิทยุยังไงก็ยังเป็นสื่อที่อยู่กับชีวิตประจำวันของคนอยู่ เพียงแต่ว่าตัวรับสารเปลี่ยนไปฟังในรถก็ก็ยังคงเป็นเครื่องรับวิทยุ ฟังที่ทำงานที่บ้านคงเป็นเรื่องของการฟังผ่านออนไลน์ แอพพลิเคชั่น Atimeonline หรือ เว็บไซต์ www.atime.live ของเราที่สามารถฟังได้ตามแต่ไลฟ์สไตล์ซึ่งเราพัฒนารองรับไว้หมดแล้ว เพราะฉะนั้นจากการสำรวจสื่อที่เป็นเรื่องเสียงโดยเฉพาะวิทยุก็ยังพัฒนาต่อไปในรูปแบบต่างๆ ดูได้จาก คลับเฮ้าส์ หรือแอพพลิเคชั่นการฟังต่างๆยังมีออกมาเรื่อยๆ และได้รับความนิยมมากขึ้น ประโยชน์สื่อที่เป็นเสียง สามารถทำสิ่งต่างๆระหว่างฟังไปด้วย เป็น Multifuction ที่คนยุคนี้ต้องทำอะไรๆพร้อมกัน ไม่ต้อง Concentrate มานั่งดู เพราะฉะนั้นสื่อที่เป็นเสียงเช่นวิทยุจึงเป็นอีกสื่อหนึ่งที่จะยังอยู่กับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคไปอีกนาน"
++ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนต่อเนื่อง
ก่อนจะมีการประมูลคลื่นวิทยุ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สอบถาม “เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” แม่ทัพใหญ่แห่งอาร์เอส และได้คำตอบหนักแน่นว่า “ไม่ประมูล..ยังไงเราก็ไม่ประมูล” พร้อมเหตุผลสั้นๆ การร่วมประมูลคลื่นวิทยุ ต้องเกิดจาก “ดีมานด์” หรือความต้องการของผู้ประกอบการ
ในมิติทางธุรกิจ การประมูลคลื่นวิทยุครั้งประวัติศาสตร์ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเวทีหน้าปัดวิยทุอย่างไร วิทวัส เวชชบุษกร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า อย่างไรเสียภูมิทัศน์สื่อมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว เนื่องจากปัจจุบันค่าเช่า ค่าสัมปทานคลื่นอยู่ในราคาที่ต่ำลงมาก ทำให้ “ต้นทุน” ในการทำธุรกิจวิทยุเปลี่ยนไป
ส่วนด้านเม็ดเงินโฆษณาสื่อวิทยุ ไม่ได้อยู่ในภาวะ “ขาขึ้น” เหมือนในอดีต อีกทั้งสื่ออนไลน์มีบทบาทมากขึ้น ทำให้วิทยุเองต้องหันเหไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์ฐานผู้ฟังของแต่ละคลื่น
“รุกแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นเทรนด์ที่ทุกคนต้องไป”
“วิทยุ” แม้จะเงินโฆษณาลดลง แต่ถือเป็นสื่อที่ยังมีเสน่ห์ น่าสนใจ โดยเฉพาะคลื่นที่มีฐานผู้ฟังจำนวนมาก อย่าง “คูลฟาเรนไฮต์ 93”(COOLfahrenheit ) แต่ละเดือนคนฟังแตะ 4-5 ล้านราย อยู่ในออนไลน์และออฟไลน์สัดส่วน 50% เท่ากัน ทำให้แบรนด์สินค้าค่ายต่างๆยังต้องการลงโฆษณา
คลื่นวิทยุคูลฟาเรนไฮต์ 93 เป็นแพลตฟอร์มตั้งต้น ปัจจุบันอาร์เอสผนึกพันธมิตร ขยายช่องทางรายการวิทยุไปอยู่บนแพลตฟอร์มอื่นๆ เพิ่ม เช่น จุ๊กซ์(Joox)สตรีมมิ่งให้คนฟังได้ทุกที่ทุกเวลา และยังมีแอ๊พพลิเคชั่น COOLanything ฟังเพลงแล้วชอปปิงสินค้าได้เพลิดเพลินด้วย
“หลังการประมูลคลื่นวิทยุ แลนด์สแคปสื่อคงเปลี่ยนแปลงต่อ แต่จะมีผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจ การโฆษณาผ่านสื่อวิทยุแค่ไหน ต้องติดตามต่อ”
อย่างไรก็ตาม คูลฟาเรนไฮต์เช่าคลื่นวิทยุกระจายเสียงจากทหารเรือ จึงไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมประมูลคลื่นแต่อย่างใด
++แบรนด์ยังแพลนเทงบลงวิทยุ
นีลเส็น รายงานงบโฆษณาปี 2564 สื่อวิทยุชิงเม็ดเงินมาครองได้มูลค่า 3,261 ล้านบาท หดตัวลง 9% จากปีก่อนหน้า ส่วนประเดิมปี 2565 เดือนมกราคม โกยเม็ดเงินมูลค่า 224 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.70%
แล้วหลังประมูลจะส่งผลต่อการใช้งบโฆษณาของแบรนด์ต่างๆหรือไม่ เบื้องต้น ธราภุช จารุวัฒนะ นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย(MAAT) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย ฉายภาพว่า การวางแผนใช้งบโฆษณาผ่านสื่อวิทยุของแบรนด์สินค้าต่างๆ ยังคงเดิม ไม่มีสัญญาณการปรับเปลี่ยน
ทั้งนี้ การลุยแคมเปญสื่อสารการตลาดผ่านสื่อวิทยุ แบรนด์มอง 2 วัตถุประสงค์ ได้แก่ 1.เป็นสื่อที่เข้าถึงผู้บริโภคท้องถิ่น(Local) ไม่ว่าจะเป็นคลื่นหน้าปัดที่เจาะฐานผู้ฟังรายการข่าว เพลง ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 2.เพื่อป่าวประกาศให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายรับรู้แคมเปญการตลาด
โดยคลื่นที่จะได้เงินไปครอง หนีไม่พ้นสถานีที่มีผู้ฟังสูงสุดท็อป 3-5 อันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นคูลฟาเรนไฮต์ กรีนเวฟ ลูกทุ่งมหานคร และสถานีข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ ส่วนแบรนด์ที่ใช้งบปริมาณต้นๆ เป็นหมวดหมู่ยานยนต์ ธนาคาร ค้าปลีก ฯ ขึ้นกับแต่ละช่วงจะมีแคมเปญ โปรโมชั่นใดออกมาปลุกกำลังซื้อ ขณะที่อัตราค่าโฆษณาขึ้นอยู่กับช่วงเวลาฮอตฮิตหรือไพรม์ไทม์ และนอน-ไพรม์ไทม์ แต่เฉลี่ยค่าโฆษณาสถานีวิทยุในเขตกรุงเทพฯ อยู่ที่ 2,000-4,000 บาท ต่างจังหวัดหลัก “ร้อยบาท” เท่านั้น
“ขณะนี้การแพลนนิ่งใช้งบโฆษณาผ่านสื่อวิทยุยังไม่เปลี่ยน หากการประมูลเจ้าใหญ่หรือสถานีหลัก มีการล้างคลื่น ภายใน 2 สัปดาห์ผู้ฟังก็จะกลับมาเช่นเดิม ซึ่งไม่ว่าจะอยู่แพลตฟอร์มไหน ได้คลื่นใด ผู้ฟังยังคงติดตามอยู่ และการซื้อสื่อโฆษณาวิทยุ จะไม่หลุดจากสถานีท็อป 3-5”
อย่างไรก็ตาม สถานีวิทยุ “ดีเจ” ถือเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ทำให้ “ผู้ฟัง” ติดตาม เพราะบทบาทไม่ต่างจากอินฟลูเอ็นเซอร์ออฟไลน์ สร้างเอ็นเกจเมนต์สูง ขณะที่ “สเน่ห์” ทำให้วิทยุไม่มีวันตาย ผู้คนอาจมองเรื่อง “รถติด” ในประเทศไทยเป็นปัจจัยหลัก แต่หากมองตัวสื่อเอง ถือว่ามีความเรียบง่าย และเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเสพมานาน ในรถยนต์อาจมีวิทยุติดมา ผู้ฟังจึงคุ้นชินฟังเพลงอัตโนมัติ ส่วนพนักงานออฟฟิศ ยังชื่นชอบฟังรายการโปรดระหว่างอยู่ที่ทำงานด้วย
สำหรับการประมูลคลื่นวิทยุครั้งนี้ มีการมอง “ราคาตั้งต้น” บางสถานีค่อนข้างต่ำ หากปิดประมูลด้วย “ต้นทุน” ดำเนินธุรกิจต่ำกว่าเดิม จะส่งผลให้อัตราค่า “โฆษณา” ลดลงหรือไม่ ภาพดังกล่าวคงไม่เกิดขึ้น เพราะค่าโฆษณาไม่เคยถูกลงแต่อย่างใด กลับกันหากผู้ประกอบการสถานีวิทยุต้นทุนต่ำ ย่อมนำส่วนต่างไปลงทุนพัฒนาคอนเทนท์ รายการตอบโจทย์ผู้ฟัง ดึงเงินจากลูกค้ามาลงโฆษณา สร้างรายได้ต่อไป